‘บิ๊กแก้ว’ปธ.ประชุม ‘ผบ.หล่าทัพ’ ขอบคุณที่เสียสละร่วมใจทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา

‘บิ๊กแก้ว’ปธ.ประชุม ‘ผบ.หล่าทัพ’ ขอบคุณที่เสียสละร่วมใจทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา ปฏิบัติหน้าที่มั่นคง-ป้องกันโควิด สกัดลอบเข้าเมืองผิดกม.

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม โดยพล.อ.เฉลิมพล ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ร่วมแรง ร่วมใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาจนสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้สำเร็จไปได้ด้วยดี

สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ ด้านการพิทักษ์ รักษา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง โดยการถวายความปลอดภัย การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ ซึ่งกองทัพไทยและกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รับผิดชอบรวม170โครงการ การน้อมนำและส่งเสริมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพลและประชาชน อาทิ งานเกษตรผสมผสานตามแนวทางพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงของกองบัญชาการกองทัพไทย โครงการทหารพันธุ์ดี “ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย” ของกองทัพบก โครงการศูนย์การเรียนรู้ เกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา กองทัพเรือ สวนการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของกองทัพอากาศ และโครงการตำรวจพันธุ์ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนได้จัดการประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน อาทิ โครงการจิตอาสาพัฒนา โดยการขุดลอกคูคลอง เก็บขยะ และพัฒนาภูมิทัศน์ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โครงการจิตอาสาภัยพิบัติ ซึ่งได้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการกองทัพไทยร้อยดวงใจ สู้ภัย COVID บริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณโลหิตสะสมกว่า 48 ล้านมิลลิลิตร

Advertisement

ด้านการป้องกันประเทศ กองทัพไทยได้จัดและวางกำลังป้องกันชายแดน รวมทั้งบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนอย่างประสานสอดคล้อง ในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ มีศูนย์บัญชาการทางทหารทำหน้าที่อำนวยการ ควบคุม และกำกับดูแล โดยมุ่งให้เกิดความสงบสุขและการพัฒนาร่วมกัน ลดปัญหาอาชญากรรมตามแนวชายแดน ทั้งยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ยุทโปกรณ์ที่มีขีดความสามารถตรงตามความต้องการและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองในอนาคต

ด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันปฏิบัติงานภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง มีการดำเนินการที่สำคัญได้แก่ การป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดจากภายนอกประเทศ ด้วยการสนับสนุนการคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ การสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine)
และสถานกักกันโรคในระดับพื้นที่ (Local Quarantine) รองรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตลอดจนการสกัดกั้น ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยบูรณาการปฏิบัติทั้งพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ตอนในซึ่งมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยมีสถิติการจับกุมรวมกว่า 42,000 คน

Advertisement

การป้องกันการแพร่ระบาดภายในประเทศ ด้วยการใช้มาตรการป้องกันโรค ชะลอการเดินทางของประชาชนโดยไม่มีเหตุจำเป็น งดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การจัดตั้งจุดตรวจเคอร์ฟิวและด่านตรวจเข้มแข็งในการคัดกรอง การจัดชุดตรวจสถานประกอบการ กิจการ และกิจกรรมตามมาตรการป้องกันโรค การสนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั้งในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัดรวม 38 แห่ง รวมถึงจัดตั้งสถานที่แยกกักในชุมชน (Community Isolation) ในพื้นที่หน่วยทหารเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อฯ
ที่มีอาการไม่รุนแรง การสนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสิ่งของในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ต่าง ๆ
การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อจำนวนกว่า 20,000 ราย กลับภูมิลำเนา การสนับสนุนมาตรการ Bubble and Seal ในพื้นที่ชุมชนและแคมป์คนงาน การสนับสนุนการตรวจหาเชื้อเชิงรุก การสนับสนุนการฉีดวัคซีนและการกระจายวัคซีน รวมทั้งการจัดกำลังพลประจำ EOC กรุงเทพมหานคร ประจำกลุ่มเขต และประจำเขตทั้ง 50 เขต

การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการจัดตั้งจุดบริการประชาชน 84 แห่ง และการจัดชุดบริการเคลื่อนที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในแต่ละชุมชนได้อย่างทั่วถึง การแจกจ่ายถุงยังชีพ สิ่งของอุปโภค-บริโภค ยา เวชภัณฑ์ และการจัดรถครัวสนามประกอบอาหารแจกจ่าย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งได้เพิ่มช่องทางในการช่วยเหลือและการรับแจ้งเหตุจากประชาชน โดยการจัดตั้งสายด่วนทั้งของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง, ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงเหล่าทัพ และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งประชาชนสามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคงอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ การดำรงความต่อเนื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น ด้านการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศ ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือทางทหาร โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือน การแลกเปลี่ยนด้านการฝึกศึกษา การประชุมในกรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งการฝึกผสม และการฝึกร่วมผสมกับกองทัพมิตรประเทศ ซึ่งดำเนินการฝึกได้ 14 รหัส ที่สำคัญ อาทิ การฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ ระหว่างกองทัพบกกับกองทัพสหรัฐฯ การฝึก AUSTHAI ระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพเรือออสเตรเลีย การฝึก THAI BOOMERANG ระหว่างกองทัพอากาศกับกองทัพอากาศออสเตรเลีย สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ 2021
ได้ปรับรูปแบบการฝึกให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกรวม 1,376 คน จาก10 ประเทศ ตลอดจนได้จัดส่งกำลังกองร้อยทหารช่างไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในกรอบของสหประชาชาติ ณ ประเทศสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน ต่อเนื่องเป็นผลัดที่ ๒ ซึ่งได้รับความชื่นชมจากสหประชาชาติและนานาประเทศ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งเป็นพันธกรณีของประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี ตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ปัจจุบันสามารถประกาศจังหวัดที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้ว จำนวน 20 จังหวัด และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 7 จังหวัด

ด้านการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน กองทัพไทยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ ในท้องถิ่นทุรกันดาร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้สนับสนุนการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนส่งสินค้าแก่ประชาชน การพัฒนาแหล่งน้ำ และสนับสนุนรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร การพัฒนาชุมชนและสาธารณูปการ รวมถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ โดยจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยนับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
กองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ รวมทั้งสนองตอบนโยบายของรัฐบาล โดยจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับประเทศชาติและประชาชนสืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image