อังกฤษสั่งศึกษาวิจัย การใช้วัคซีนผสมในเด็ก-เยาวชน หวังเลี่ยงปม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

Pixabay

อังกฤษสั่งศึกษาวิจัย การใช้วัคซีนผสมในเด็ก-เยาวชน หวังเลี่ยงปม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 17 กันยายนนี้ว่า คณะกรรมการร่วมเพื่อการฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกัน (เจซีวีไอ) ของอังกฤษ สั่งการให้มีการศึกษาเปรียบเทียบว่าด้วยผลการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและการเกิดผลข้างเคียงในร่างกายเด็กระหว่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ ทั้งเข็ม 1 และ เข็ม 2 กับ การฉีดไฟเซอร์เข็มแรกแล้วต่อด้วย วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเออื่นๆ

ทั้งนี้เป้าหมายของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อหาสูตรการฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งหมายถึงก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในขณะที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยที่สุด

การศึกษาวิจัยที่เรียกว่า “คอม-โควี3” ( Com-COV3) นี้จะเป็นการทดลองเพื่อหาความแตกต่างของผลที่ได้ระหว่างวัคซีนในระดับโดสที่แตกต่างกันและวัคซีนโดยผู้ผลิตแตกต่างกัน ในกลุ่มอาสาสมัครอายุระหว่าง 12-16 ปี จำนวน 360 คน โดยผู้เข้าร่วมทดลองจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มแรกเหมือนกันทั้งหมด ในขณะที่เข็มที่ 2 ในอีก 8 สัปดาห์ต่อมาจะได้รับวัคซีนที่มีความแตกต่างกัน คืออาจเป็นไฟเซอร์ เต็มโดส, หรือไฟเซอร์ ครึ่งโดส, หรือเป็น วัคซีนโนวาแวกซ์ เต็มโดส กับ วัคซีนโมเดอร์นา ครึ่งโดส ทั้งนี้เพื่อหาความแตกต่างของผลที่ได้ว่า การฉีดเต็มหรือฉีดไขว้แบบไหนให้ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ ให้ภูมิคุ้มกันสูง แต่มีผลข้างเคียงต่ำ

นายแมทธิว สเนป นักวิชาการจากกลุ่มวัคซีนออกซ์ฟอร์ด ที่เป็นผู้นำในการวิจัยครั้งนี้ ชี้ว่า ปัญหาที่ทางเจซีวีไอ เป็นกังวลจริงๆ ก็คือ การเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว ดังนั้นผลที่ได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะช่วยให้เจซีวีไอ สามารถกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในอนาคตได้

Advertisement

นายสเนป ยอมรับว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กครั้งนี้ทำให้ไม่สามารถนำผลลัพธ์มาใช้บ่งชี้ความแตกต่างของปริมาณการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระหว่างสูตรการฉีดต่างๆ ได้ เนื่องจากอาการดังกล่าวมีอัตราส่วนการเกิด 1 ราย ในทุกๆ 15,000 รายที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว แต่ผลที่ได้สามารถบ่งชี้ได้ว่า การฉีดแบบไหนทำให้เกิดอาการที่นำไปสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการฉีด ไฟเซอร์ต่อด้วยไฟเซอร์ ซึ่งช่วยให้ตีความได้ว่า การฉีดไขว้ดังกล่าวสามารถลดผลข้างเคียงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image