จุรินทร์ เร่งดันส่งออกปีหน้า มัลลิกา ชู “ผู้นำภาวะวิกฤต” ส่งออก-พาณิชย์ ช่วยชาติ ฝ่าโควิด

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้นโยบายและเร่งรัดติดตามนโยบาย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า อย่างใกล้ชิดและสั่งเร่งรัดแผนท้ายปีพร้อมเดินหน้าส่งแผนงานปีหน้าเพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤติโควิด-19

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์มั่นใจตัวเลขส่งออกไทยปีนี้ทะลุ 2 หลักพร้อมชูกรอ.พาณิชย์หรือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์เป็นแกนสำคัญแก้ปัญหา ส่งออก ส่วนการส่งออกในปีหน้าเชื่อว่าสถานการณ์ยังดีแต่อาจจะต้องทำงานหนักขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับแผนเพื่อรองรับการใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนทั้งโลก New normal จำเป็นที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จะต้องปรับแผนการดำเนินงานให้รองรับวิถีชีวิตรวมทั้งหลังจากเกิดโรคระบาดด้วยนอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตั้งแต่การเกิดโควิดเมื่อปีที่แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั่นคือการทำนโยบาย OBM หรือ Online business matching จับคู่ทางการค้าและธุรกิจ และจากนี้จะประชุมหารือติดตามนโยบายกับผู้บริหารระดับสูงทุกวันจันทร์หรือวันแรกของทุกสัปดาห์         

นางมัลลิกา กล่าวว่า นายจุรินทร์ วางเป้าหมายว่าการส่งออกสินค้าเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมีสัดส่วน 50.83% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไทย โดยการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านได้รับผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แต่ในปีนี้การส่งออกของไทยมีการฟื้นตัว อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564

          

Advertisement

เป้าหมายที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ตอนแรก 4% ขณะนี้เกินเป้าไปแล้ว 4 เท่าตัว เพราะแค่ 7 เดือนขยายตัวแล้ว 16.20% ซึ่งกระทรวงยังคงเป้าไว้เดิมไม่ปรับเป้าเพื่อป้องกันความสับสน โดยจะทำให้ตัวเลขการส่งออกสูงขึ้น ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างและสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า คาดว่าตัวเลขการส่งออกทั้งปีน่าจะเกิน 2 หลักแน่นอน ทั้งนี้การฟื้นตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ไม่ใช่แค่ตัวเลขฐานต่ำของปี 2563 แต่เป็น ผลของ 2 ปัจจัยควบ คือ การฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็น แรงดึงในด้านดีมานด์จากภายนอกประเทศ และการผลักดันและแก้ไขปัญหามากมายโดยกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นแรงหนุนจากภายใน

โดยเฉพาะการทำงานภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการส่งออกและการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะต้องติดตามทีมเซลล์แมนประเทศไทย หรือทูตพาณิชย์ประจำ 58 พื้นที่ทั่วโลกให้ทำงานติดตามให้ออกมาเป็นผลสัมฤทธิ์ให้เร็วและทันเวลาที่สุดส่วนทีมเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ให้ใช้ทั้งเอฟทีเอและข้อตกลงต่างๆให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่สุดด้านกรมการค้าต่างประเทศนั้นให้เร่งรัดข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่ทำไว้กับจีนและหลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขายแบบจีทูจีโดยกระชับเวลาที่สุดทันกับสถานการณ์และนโยบาย พร้อมทั้งให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายของแต่ละประเทศหลังจากสถานการณ์โควิดด้วยนอกจากนั้นทางฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ก็จะต้องนำแผนนโยบายชาติและแผนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาคอยวิเคราะห์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและติดตามสถานการณ์เรียลไทม์ ซึ่งข้าราชการกระทรวงพาณิชย์มีประสิทธิภาพและเมื่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดทิศทางที่ชัดเจนก็ทำให้ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิผลนางมัลลิกา กล่าว และว่าสำหรับการผลักดันการส่งออกในระยะต่อไป กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้ายุทธศาสตร์นำการผลิตเชื่อมโยงโอกาสจากความต้องการของตลาดโลกให้กับผู้ส่งออกจากทุก พื้นที่ทั่วประเทศ โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างเซลส์แมนประเทศ เซลส์แมนจังหวัด และภาคเอกชน โดยการ ผลักดันการส่งออกในภาพรวม จะเน้น รักษาตลาดเดิม อาทิ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เปิดตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย อินเดีย         

นอกจากนี้จะเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูงจากความต้องการในตลาดโลก และสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก 1.สินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดโลกใน 3 กลุ่มหลักคือ สินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงอาหาร สัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ ทำงานที่บ้านและสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการ ติดเชื้อ และสินค้าเพื่อสุขภาพและ อนามัย 2.สินค้ามูลค่าเพิ่มที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งได้แก่สินค้าอาหารแห่งอนาคต (future food) ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก คือ อาหารฟังก์ชัน (functional food) อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food) อาหารทางการแพทย์ (medical food) และอาหารอินทรีย์ (organic food) ที่ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เพื่อโภชนาการเฉพาะบุคคลเพื่อสุขภาพจิตที่ดี เพื่อผู้บริโภคที่ไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์(Plant-based)

สำหรับการส่งออกในปีหน้า เชื่อว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยยังดีอยู่ แต่อาจจะต้องทำงานหนักขึ้น เพราะจะต้องเจอกับ คู่แข่งมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาที่เร่งเครื่องการส่งออก ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบในเรื่องของราคาสินค้าที่ถูกกว่าประเทศไทยซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้าของไทยเพราะแบรนด์สินค้าไทยได้รับความน่าเชื่อถือจาก ทั่วโลกอยู่แล้ว จึงเป็นความได้เปรียบและเป็นจุดแข็งของสินค้าไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 22 กันยายนนี้ หนังสือพิมพ์มติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ เดินหน้าจัดสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด”

จากนั้นจะมีวงเสวนา ‘2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย’ โดยหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์)

รวมทั้งยังมีวงเสวนา ‘มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย’ โดนตัวแทนจากภาคเอกชน ประกอบด้วย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด

โดยงานจะมีขึ้นตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. ในรูปแบบ Live Streaming ผ่านช่องทาง FB : Matichon Online – มติชนออนไลน์ ,FB : Khaosod – ข่าวสด ,FB : Prachachat – ประชาชาติธุรกิจ ,YouTube : matichon tv – มติชน ทีวี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image