วัคซีนวันนี้ เปิดผลทดลอง มองสถานการณ์(โควิด)โลก

ภาพเอเอฟพี

ไม่ว่าสถานการณ์โควิดในโลกขณะนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับอย่างเป็นสากลว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ “วัคซีน” ซึ่งมนุษยชาติพยายามพัฒนาให้รุดหน้าในการล้อมปราบไวรัสที่ขยันกลายพันธุ์หนี

ข้อถกเถียงเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนรวมถึงผลข้างเคียงต่อบุคคลในช่วงวัยและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ยังเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ ในขณะเดียวกันวัคซีนใหม่ๆ ที่อาจยังไม่คุ้นหูก็ทยอยได้รับการรับรองให้ใช้ในหลายประเทศ

ทีมข่าวต่างประเทศ มติชน ติดตามสถานการณ์รอบโลกที่ยังเข้มข้นแบบวันต่อวัน

วัคซีนอับดาลาพัฒนาขึ้นโดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพของคิวบา
เป็นวัคซีนโควิดชนิดซับยูนิตโปรตีนเช่นเดียวกับวัคซีนโนวาแวกซ์ของสหรัฐอเมริกา (รอยเตอร์)

‘อับดาลา’วัคซีนสัญชาติ‘คิวบา’
ไฟเขียวใช้ในฮานอย

Advertisement

เริ่มต้นที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามประกาศอนุมัติให้ใช้วัคซีนอับดาลาของคิวบา ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ภายในประเทศ ส่งผลให้วัคซีนดังกล่าวกลายเป็นวัคซีนโควิดชนิดที่ 8 ที่ได้รับการอนุมัติรับรองให้ใช้ได้ในเวียดนาม ซึ่งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโรคโควิดต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยตัวเลขเพียง 6.3% เท่านั้น ประชากร 98 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 2 โดส

สำหรับที่มาที่ไปในการเปิดไฟเขียวครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประธานาธิบดี เหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม ออกเดินทางจากกรุงฮานอยเพื่อไปยังกรุงฮาวานาเพื่อเยือนคิวบาอย่างเป็นทางการ

ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามเปิดเผยว่า คิวบาจะจัดหาวัคซีนอับดาลาจำนวนมากให้เวียดนาม พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ภายในสิ้นปีนี้ด้วย

Advertisement

วัคซีนที่ว่านี้พัฒนาขึ้นโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพของคิวบาเป็นวัคซีนโควิดชนิด ซับยูนิตโปรตีน เช่นเดียวกับวัคซีนโนวาแวกซ์ของสหรัฐอเมริกา ผลการทดลองทางคลินิกชี้ว่าวัคซีนอับดาลามีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิด-19สูงถึง 92.28%

ทั้งนี้ เวียดนามยังคงต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์เดลต้าตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศกว่า 667,650 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 16,637 ราย

บราซิลกำลังถกเถียงหนักหลังรัฐบาลกลางต้องการให้หยุดฉีดวัคซีนในกลุ่มวัยรุ่น
เนื่องจากกำลังมีการสอบสวนการเสียชีวิตของวัยรุ่นรายหนึ่งหลังฉีดวัคซีนโควิด แต่รัฐบาลท้องถิ่นหลายรัฐยืนยันจะลุยฉีดต่อไป (รอยเตอร์)

ซีดีซีเปิดผลทดลอง‘โมเดอร์นา’
ดีกว่า‘ไฟเซอร์’ในระยะยาว

อีกความคืบหน้าที่น่าสนใจ คือเมื่อราว 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถึงผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) มีเนื้อหาระบุว่า วัคซีนต้านโควิดของโมเดอร์นาป้องกันการป่วยหนักในระยะยาวได้ดีว่าวัคซีนไฟเซอร์ จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 3,689 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการโควิดที่รุนแรงตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม-15 สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

12.9% ได้รับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา 20.0% ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และ 3.1% ได้รับการฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งทั้งหมดเป็นการรับวัคซีนครบโดส

ผลปรากฏว่า วัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนัก 93% ส่วนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 88% และจอห์นสันฯมีประสิทธิภาพ 68% โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักของไฟเซอร์นั้นลดลงจาก 91% ใน 14-120 วันหลังการฉีดวัคซีน และเหลือ 77% เมื่อผ่านไปมากกว่า 120 วัน ในขณะที่ประสิทธิภาพของโมเดอร์นาลดลงเหลือ 93% และ 92% ตามลำดับ

การศึกษานี้รวมถึงการวิเคราะห์ระดับของแอนติบอดีประเภทต่างๆ ที่กระตุ้นโดยวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ซึ่งนำมาจากอาสาสมัคร จำนวน 100 คน โดยวัคซีนโมเดอร์นากระตุ้นแอนติบอดีได้ในระดับที่สูงกว่าไฟเซอร์และจอห์นสันฯ บริเวณหนามโปรตีนของไวรัสซึ่งใช้เพื่อเจาะเข้าเซลล์

ในการวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีกว่าของวัคซีนโมเดอร์นาเมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ อย่างไรก็ตาม สาเหตุยังไม่ชัดเจนนัก แต่อาจเป็นเพราะปริมาณโดสที่สูงกว่าอยู่ที่ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ 30 ไมโครกรัม หรืออาจเป็นเพราะการเว้นระยะห่างของเข็ม 1 และเข็ม 2 โดยของไฟเซอร์ห่างกัน 3 สัปดาห์ แต่
โมเดอร์นา 4 สัปดาห์

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) เผยผลวิจัยที่ระบุว่าวัคซีนต้านโควิดของโมเดอร์นาป้องกันการป่วยหนักในระยะยาวได้ดีกว่า
วัคซีนไฟเซอร์ (ภาพ Pixabay)

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเรื่องใหญ่
อังกฤษสั่งวิจัยสูตร‘วัคซีนไขว้’ในเด็ก

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เปิดพิกัดไปยังประเทศอังกฤษ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมการร่วมเพื่อการฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกัน (เจซีวีไอ) สั่งการให้มีการศึกษาเปรียบเทียบว่าด้วยผลการตอบสนองของภูมิคุ้มกันและการเกิดผลข้างเคียงในร่างกายเด็กระหว่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ ทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 กับการฉีดไฟเซอร์เข็มแรกแล้วต่อด้วยวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเออื่นๆ

เป้าหมายของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อหาสูตรการฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งหมายถึงก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในขณะที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยที่สุด

การศึกษาวิจัยที่เรียกว่า “คอม-โควี3” (Com-COV3) นี้จะเป็นการทดลองเพื่อหาความแตกต่างของผลที่ได้ระหว่างวัคซีนในระดับโดสที่แตกต่างกันและวัคซีนโดยผู้ผลิตแตกต่างกัน ในกลุ่มอาสาสมัครอายุระหว่าง 12-16 ปี จำนวน 360 คน โดยผู้เข้าร่วมทดลองจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มแรกเหมือนกันทั้งหมด ในขณะที่เข็มที่ 2 ในอีก 8 สัปดาห์ต่อมาจะได้รับวัคซีนที่มีความแตกต่างกัน คืออาจเป็นไฟเซอร์เต็มโดส, หรือไฟเซอร์ครึ่งโดส, หรือเป็นวัคซีนโนวาแวกซ์เต็มโดส กับวัคซีนโมเดอร์นาครึ่งโดส ทั้งนี้ เพื่อหาความแตกต่างของผลที่ได้ว่า การฉีดเต็มหรือฉีดไขว้แบบไหนให้ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ ให้ภูมิคุ้มกันสูง แต่มีผลข้างเคียงต่ำ

แมทธิว สเนป นักวิชาการจากกลุ่มวัคซีนออกซ์ฟอร์ด ที่เป็นผู้นำในการวิจัยครั้งนี้ชี้ว่า ปัญหาที่ทางเจซีวีไอเป็นกังวลจริงๆ ก็คือ การเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว ดังนั้น ผลที่ได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะช่วยให้เจซีวีไอสามารถกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในอนาคตได้

นักวิชาการท่านนี้ยอมรับว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กครั้งนี้ทำให้ไม่สามารถนำผลลัพธ์มาใช้บ่งชี้ความแตกต่างของปริมาณการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระหว่างสูตรการฉีดต่างๆ ได้ เนื่องจากอาการดังกล่าวมีอัตราส่วนการเกิด 1 ราย ในทุกๆ 15,000 รายที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว แต่ผลที่ได้สามารถบ่งชี้ได้ว่า การฉีดแบบไหนทำให้เกิดอาการที่นำไปสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการฉีดไฟเซอร์ต่อด้วยไฟเซอร์ ซึ่งช่วยให้ตีความได้ว่า การฉีดไขว้ดังกล่าวสามารถลดผลข้างเคียงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้นั่นเอง

บราซิลเสียงแตก แผนฉีดวัคซีน‘วัยรุ่น’หลังดับ1ศพ

ขยับไปที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในประเทศบราซิลต่อแผนการฉีดวัคซีนโควิดให้กลุ่มวัยรุ่น โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลกลางต้องการให้หยุดฉีดวัคซีนให้กับวัยรุ่นส่วนใหญ่ไปก่อน เนื่องจากกำลังมีการสอบสวนการเสียชีวิตของวัยรุ่นรายหนึ่งหลังฉีดวัคซีนโควิด และมีกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น ทว่ารัฐบาลท้องถิ่นหลายรัฐยืนยันจะลุยฉีดต่อไป จากที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มนี้ไปแล้วราว 3.5 ล้านคน

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา มาร์เซโล เกโรกา รัฐมนตรีสาธารณสุขบราซิล วิจารณ์รัฐและเมืองต่างๆ ว่าทำอะไรก่อนเวลาอันควร โดยการฉีดวัคซีนโควิดให้กับเด็กกลุ่มอายุ 12-17 ปี ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีความเสี่ยงรุนแรงต่อโรคโควิด-19 และว่า กลุ่มวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 เข็มนั้นไม่ควรได้รับเข็ม 2

รัฐมนตรีสาธารณสุขไม่ได้ระบุเหตุผลเจาะจงถึงการอยากให้หยุดฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มวัยรุ่น แต่อ้างรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ 1,545 กรณี ในจำนวนนี้ 93% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็น
วัคซีนชนิดเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ฉีดในกลุ่มเด็กในบราซิลได้ ทั้งยังอ้างถึงการเสียชีวิตของเด็กอายุ 16 ปีรายหนึ่งในเมืองเซาเบร์นาโดดูกัมโป รัฐเซาเปาลู ที่เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกไปเมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งอันวีซาระบุว่ากำลังสอบสวนกรณีนี้อยู่ แต่เบื้องต้นยังไม่เห็นความเกี่ยวพันใดกับการฉีดวัคซีน

ขณะที่ อันวีซา หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาลกลางแถลงว่า ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนหรือมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการอนุมัติของอันวีซาที่ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี แต่อย่างใด

ทั้งนี้ รัฐเซาเปาลู ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของบราซิล ระบุว่าได้ฉีดวัคซีนโควิดให้กับคนกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปีไปแล้วเกือบ 2.5 ล้านคน โดยผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูยังโพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่ารัฐเซาเปาลูจะไม่หยุดฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มวัยรุ่นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และชาติยุโรปส่วนหนึ่ง ได้กระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเด็กไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา อังกฤษตัดสินใจฉีดวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-15 ปี ตามข้อเสนอแนะของคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ระดับสูงที่ระบุว่าเด็กๆ จะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน

รวมถึงการลดภาวะดิสรัปชั่นทางการศึกษาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image