ชป. เร่งระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและติดตามการช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่อย่างใกล้ชิด ติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือ เร่งระบายน้ำจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกชุกช่วงนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบอุทกภัย กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถเครน เครื่องจักรกลอื่นๆ รวมถึงรถบรรทุกน้ำ เข้าไปเพิ่มเติมเพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอทุ่งเสลี่ยม และอำเภอศรีสำโรง ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแม่มอก ปริมาณน้ำไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำแม่มอกลดลงตามไปด้วย หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติประมาณวันที่ 24 ก.ย.64 โครงการชลประทานสุโขทัยได้นำรถแบ๊กโฮ เข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 7 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 5 เครื่อง เข้าไปช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว

Advertisement

สำหรับที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ คือ อำเภอผักไห่และอำเภอเสนา ปัจจุบันปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,937 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบน ปริมาณน้ำดังกล่าวไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 477 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 1,610 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย กรมชลประทานได้ประสานแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข่าวสารสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

Advertisement

ที่จังหวัดเลย มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านซ้ายและอำเภอเมืองเลย ปัจจุบันระดับน้ำในลำน้ำหมันลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่ท่วมขังพื้นที่การเกษตรค่อยๆ ไหลลงรวมกันในลำน้ำอย่างช้าๆ คาดว่าภายใน 2-3 วันนี้ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากยังไม่มีฝนตกในพื้นที่ โครงการชลประทานเลยได้นำเครื่องผลักดันน้ำเข้าไปติดตั้งในลำน้ำหมัน 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำไปลงแม่น้ำเหือง ก่อนไหลลงแม่น้ำโขงตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง สูบน้ำออกจากสระดอกบัว พร้อมกับเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ด้านจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 3 อำเภอ คือ อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนสูง และอำเภอโชคชัย ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่างฯ และยังมีแนวโน้มน้ำที่มาจากลำห้วยสามบาท และลำเชียงไกรตอนบน จะไหลลงมาเพิ่มมากขึ้น จึงได้เพิ่มการระบายน้ำด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ คลองระบายน้ำชั่วคราว เครื่องสูบน้ำ และกาลักน้ำ ทำให้อัตราการระบายน้ำในลำเชียงไกรตอนล่าง ตั้งแต่ด้านท้ายอ่างฯลงไป เมื่อรวมกับน้ำที่มาจากวังกะทะ (ยังไม่มีอาคาร ชลประทานควบคุม) และบึงพุดซา ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โครงการชลประทานนครราชสีมาและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้ควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่ลำน้ำจะรับได้ แต่มีบางช่วงที่ลำน้ำแคบ ตื้นเขิน รวมทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำ อาจจะส่งผลกระทบมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งที่ลุ่มต่ำบางแห่ง โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำเชียงไกร 12 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image