รายงานการศึกษา : ส่อง ‘ว.นานาชาติจีน’ ในไทย เรียนแล้วได้อะไร ??

รายงานการศึกษา : ส่อง ‘ว.นานาชาติจีน’ ในไทย เรียนแล้วได้อะไร ??

“จีน” ถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าในปีนี้ GDP ของสาธารณรัฐประชาชนจีน จะทะยานขึ้นถึง 8.5% อีกทั้ง นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านประเมินว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จีนจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่ทั่วโลกจับตามอง หลายคนอยากรู้จักจีนมากขึ้น อยากมีเครือข่ายในจีน

พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคน อยากให้ลูกเรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันอาจารย์ และนักศึกษาจากจีน ก็ต้องการเข้ามาสอนเข้ามาเรียนในไทยมากด้วยเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมที่คลายคลึงกัน และเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์มายาวนาน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะมีมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เริ่มเปิดหลักสูตรภาษาจีนเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างเครือข่ายจีนให้กับสถาบัน และนักศึกษา บางมหาวิทยาลัยลงทุนจัดตั้งเป็น “วิทยาลัยนานาชาติจีน” แยกออกมาโดยเฉพาะ มุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนที่มีเนื้อหา และหลักสูตรเกี่ยวกับจีนโดยตรง มีอาจารย์จากประเทศจีนมาสอน มีหลักสูตรหลากหลาย และเชื่อมโยงกับหลักสูตรที่เปิดสอนในจีน ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้ปกครอง และผู้เรียน ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมสู่ความได้เปรียบในอนาคต

ดังนั้น สำหรับใครที่กำลังมองหาวิทยาลัยนานาชาติจีน วันนี้ได้รวบรวมมาให้ครบ จบในคอนเทนต์นี้
เริ่มต้นที่ “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ” หรือชื่อคุ้นหูคือ “เอแบค” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งลำดับแรกๆ ของไทย ที่ได้มีการจัดตั้งสถาบันนานาชาติจีนขึ้นมา เพื่อรองรับนักศึกษาจากจีน ที่เดินทางเข้ามาเรียนในประเทศ รวมถึง เพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาไทยที่ต้องการเรียนหลักสูตรภาษาจีนในช่วงนั้น

Advertisement

ปัจจุบันเปิดสอนระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนในเชิงธุรกิจ ตลอดจนความรู้เชิงวิชาชีพ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตลอดหลักสูตรประมาณ 500,000 บาท

ต่อมา “มหาวิทยาลัยรังสิต” มุ่งเน้นการสอนในหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ ระดับปริญญาตรีจะเปิดสอนสาขาวิชาการเงินและการลงทุน สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตลอดการศึกษาประมาณ 600,000 บาท และระดับปริญญาโท จะเปิดสอนในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 บาท

Advertisement

สำหรับ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ได้เปิดวิทยาลัยนานาชาติจีนในระดับปริญญาตรี มีสาขาวิชาให้เลือกเรียน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ และสาขาวิชาภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยวและการโรงแรม ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตลอดการศึกษาประมาณ 400,000 บาท

รวมถึง “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นหลักสูตรด้านภาษา และวัฒนธรรมจีน โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี มีทั้งหมด 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาภาษาจีน และสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน นอกจากนี้ ยังเปิดสอนระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชาการสอนภาษาจีน เฉลี่ยค่าใช้จ่ายตลอดการศึกษาอยู่ที่ 300,000 บาท

สุดท้าย “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” เปิดวิทยาลัยนานาชาติจีน (China International College: CIC) เพื่อรองรับนักศึกษาที่สื่อสารภาษาจีนได้ ทั้งคนไทย และคนจีน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนภาษา และวัฒนธรรมระหว่างกัน จุดเด่นคือ “ภาษา” มีให้เลือกเรียนแบบ Bilingual ทั้งหลักสูตรภาษาไทย-จีน และภาษาอังกฤษ-จีน

ส่วน “หลักสูตร” มีตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ครอบคลุมหลายสาขาวิชา ได้แก่ ปริญญาตรี สอนสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ สาขาการจัดการการท่องเที่ยว สาขาการบัญชีการเงิน สาขาการออกแบบศิลปะ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000-700,000 บาท ปริญญาโท เปิดสอนสาขาการจัดการการศึกษา สาขาการจัดการธุรกิจ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000 บาท และปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ การจัดการการศึกษา ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,200,000 บาท

นอกจากนี้ คณาจารย์ส่วนใหญ่เป็น “ครูจีน” ที่มีประสบการณ์ และมีวิสัยทัศน์ ที่สำคัญ “ความสัมพันธ์รระหว่างสถาบันการศึกษา” เนื่องจาก มธบ.เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล จึงเกิดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างไทย และจีน เพื่อไปเรียนรู้หลักสูตรการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจของประเทศ รวมถึง มีทุนการศึกษาให้ อีกทั้ง ยังมีโครงการสองปริญญาร่วมกับมหาวิทยาลัยในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

ซึ่งนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรเกี่ยวกับจีน จะได้เรียนรู้ถึง “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” เนื่องจากนักศึกษาที่มาเรียนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ รวมถึง เกิดการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image