ไม่ทำ ไม่อดทน ไม่มีกิน ส่อง‘อาชีพคนโบกธง’หน้าคอนโด ในวันที่ไร้งาน ขาดรายได้

ลดน้อยถอยลงทุกที ดัชนีความสุขของคนไทยทั้งประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา และการระบาดของโควิด-19 กระทบต่อภาคธุรกิจ เกิดภาวะว่างงานเฉียบพลัน

เมื่อทุนไม่หนา สายป่านไม่ยาวพอ ธุรกิจไปต่อไม่ไหว ก็ต้องปิดกิจการ ไม่ว่าโรงงาน บริษัท ห้าง ร้าน มีให้เห็นแทบจะรายวันในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่บรรยากาศตามถนนสายหลักของกรุงเทพมหานคร ค่อนข้างเงียบเหงา ตึกแถวปิดตาย ติดป้ายประกาศให้เซ้ง เช่า กันหลายทำเล

ฟากพ่อค้าแม่ขายในตลาดบ่นอุบ “ของขายไม่ค่อยดี คนซื้อไม่มี มีแต่คนขาย” หลังคนตกงานมากขึ้น จึงหันไปยึด “อาชีพค้าขาย” เป็นที่พึ่งในยามยาก

Advertisement

‘พิษโควิด’คนว่างงานพุ่ง 7.3 แสนราย
จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ได้เปิดเผยสถานการณ์ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ของปี 2564 มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.89% คิดเป็นผู้ว่างงาน 730,000 คน

เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา โดยเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้จบการศึกษาใหม่ จำนวน 290,000 คน เพิ่มขึ้น 10.04%

แนวโน้มผู้ว่างงานจะว่างงานนานขึ้น โดยมีนานกว่า 12 เดือน มากถึง 147,000 คน หรือคิดเป็น 20.1% ของผู้ว่างงาน ขณะที่การว่างงานในระบบ มีผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 310,000 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ 2.8%

ด้านสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 4.6% หรือคิดเป็น 90.5% ของจีดีพี และมีแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 อยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนมีรายได้น้อย

ขณะเดียวกันยังเกาะติดผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน อาจจะตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงานในธุรกิจขนาดเล็ก ด้านแรงงานภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น ขณะนี้ตำแหน่งงานอาจจะไม่เพียงพอรองรับนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 มีมากถึง 490,000 คน

จากผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาสติดต่อกัน และการว่างงานเพิ่มขึ้น จะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ว่างงานจากผลกระทบของโควิด-19 ยังมีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น

เป็นตัวเลขที่เปิดออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ว่ากันว่าในความเป็นจริงที่ซ้อนอยู่ข้างหลัง อาจจะมีมากกว่าที่เห็น

จากใจคนหาเช้ากินค่ำ ‘ไม่ทำ ก็ไม่มีกิน’
ท่ามกลางลมหายใจที่กำลังเหือดแห้ง จากการตกงานแบบกะทันหัน มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดอาชีพ “คนโบกธง” หน้าโครงการคอนโดมิเนียม เป็นอาชีพหลักและหารายได้เสริม ในยุคที่งานหายาก

ประจวบเหมาะในช่วงนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เริ่มอัดงบจัดโปรโมชั่นการขายโครงการใหม่ หลังรัฐบาลคลายล็อก ก็เริ่มทำกิจกรรมสร้างสีสัน ดึงคนเข้าชมโครงการ

ทำให้วันเสาร์และอาทิตย์ ฟุตปาธถนนสายหลัก โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้า กลับมาคึกคักอีกครั้ง มีคนยืนถือธงสะบัด เรียกลูกค้าเลี้ยวเข้าโครงการ แม้ว่าบรรยากาศจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม แต่ก็ทำให้ใครอีกหลายชีวิต มีรายได้ต่อลมหายใจ

จาการสำรวจ “ถนนพหลโยธิน” ไล่ตั้งแต่แยกเกษตรศาสตร์ เสนานิเวศน์ รัชโยธิน ห้าแยกลาดพร้าว ตลอดทางพบว่าคึกคักไม่น้อย มีคนยืนถือธงโบกสะบัดอยู่หน้าโครงการคอนโดมิเนียมแบรนด์ดังหลายแห่ง

“ป้าต๋อย” วัย 67 ปี คนนครสวรรค์ เล่าว่า เริ่มทำอาชีพคนโบกธงตั้งแต่ปี 2557 เริ่มจากยืนแจกใบปลิว นั่งถือป้ายหน้าโครงการ ตอนนั้นทำอยู่แถวลาซาล อ่อนนุช และปากน้ำ ได้ค่าแรงวันละ 400 บาท จากนั้นก็ย้ายมาหลายที่แล้วแต่เขาให้ไปประจำที่ไหน

ล่าสุดมาอยู่หน้าโครงการคอนโดมิเนียมแถวห้าแยกลาดพร้าว รับหน้าที่เป็นคนโบกธง รายได้ยังได้เท่าเดิมวันละ 400 บาท คิดเป็นรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 3,200 บาท เพราะทำเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์

“ป้าจบแค่ ป.2 โชคดีที่งานนี้ไม่จำกัดวุฒิและอายุ เลยทำให้ป้ายังมีงานทำอยู่ ป้าตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว ไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่ทำแล้วจะเอาอะไรกิน บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ”

ถามว่า รายได้เดือนละ 3,200 บาทเพียงพอหรือไม่ “ป้าต๋อย” บอกว่า ไม่พอหรอก แค่ประทังชีวิต เพราะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 2,400 บาท ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เหลือเงินใช้ไม่ถึง 1,000 บาท

ยังดีที่มีเพื่อนคอยช่วยเหลือ ให้ข้าว ให้ไข่ ให้น้ำมัน บางวันมีคนใจบุญที่ทำข้าวกล่องมาแจกแถวนี้ ป้าก็ไปเข้าแถวรับแจกด้วย พอประทังชีวิตไปได้บ้างในแต่ละวัน อยากให้รัฐบาลมาช่วยดูแลคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำบ้าง

“งานนี้จะว่าหนักก็หนัก เพราะต้องตากแดด ดมควันรถ ทำวันละ 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ตรงจุดนี้มี 6 คน แบ่งเป็นคู่ คู่ละ 2 คน สลับกันโบกคนละ 30 นาทีแล้วพัก ป้าอายุ 67 แล้ว ก็มีบ้างที่เหนื่อยและเมื่อย แต่ก็ต้องทำ อายุเยอะแล้วไปทำงานอย่างอื่นเขาก็ไม่รับ และช่วงนี้คนตกงานกันเยอะ มีงานทำก็ดีแล้ว” ป้าต๋อยพูดจบพร้อมถอนหายใจออกมาดังๆ

ด้าน “บี” อายุ 30 ปี คนสุพรรณบุรี กล่าวว่า ก่อนจะมาทำอาชีพคนโบกธง เคยทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งแถวจังหวัดสมุทรปราการ แต่เพราะด้วยเศรษฐกิจไม่ดีและการระบาดโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โรงงานปิดกิจการ

“ตกงานมาเป็นปีแล้ว มีเพื่อนแนะนำให้มาลองทำงานนี้ เพิ่งมาทำได้ 2-3 เดือน ทำเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ได้ค่าแรงวันละ 400 บาท ทำวันละ 8 ชั่วโมง โบกวันละ 30 นาที พัก 30 นาที สลับกับเพื่อนในกลุ่ม มาทำวันแรกทั้งเหนื่อยและเมื่อยแขนมาก เพราะต้องโบกตลอด ตอนนี้เริ่มชินแล้ว”

แต่เพราะรายได้ต่อเดือนยังน้อย “บี” บอกว่า วันจันทร์ถึงวันศุกร์มีไปรับจ้างเป็นแม่บ้านทำความสะอาดบ้าง ได้ค่าแรงอีกวันละ 300 บาท แต่รายได้ก็ไม่แน่ไม่นอน ขึ้นอยู่กับงานว่ามีคนจ้างหรือไม่

“รายได้ถึงจะมี 2 ทาง จากงานโบกธงเดือนละ 3,200 บาท รับจ้างทำความสะอาด และที่ผ่านมาได้เงินเยียวยาตาม ม.40 บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ แค่ประทังชีวิตแต่ละวันแต่ละเดือนมากกว่า เพราะยังมีค่าเช่าบ้าน ค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ ยังมีหนี้สินอีก แต่ถ้าไม่ทำเราจะเอาอะไรกิน วันไหนเงินไม่พอใช้ ก็ไปเข้าแถวรับข้าวกล่องที่เขามาแจก อยากให้รัฐบาลหามาตรการมาช่วยคนตกงานให้มากกว่านี้”

‘คนโบกธง’ จากรายได้เสริม เป็นรายได้หลัก
ด้าน “สมชาย” วัย 53 ปี ที่กำลังนั่งพักเหนื่อยหน้าโครงการคอนโดมิเนียมแถวเสนานิเวศน์ เล่าว่า เข้ามาทำอาชีพโบกธงได้ 3 ปีแล้ว เมื่อก่อนทำเป็นรายได้เสริมช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ เพราะมีงานประจำเป็นพนักงานเสิร์ฟที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวเพชรบุรี และมีรายได้ 2 ทางในช่วงที่ผ่านมา

“พอเกิดโควิด โรงแรมปิดกิจการ ตกงานทำให้มีรายได้ตรงนี้ทางเดียว ได้ค่าแรงวันละ 400 บาท น้อยกว่าเดิม แต่ยังดีมีงานทำ และโชคดีไม่มีค่าเช่าบ้าน จ่ายแค่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าข้าวรายได้ที่ได้ก็พอประทังชีวิต งานก็ไม่หนัก ไม่เหนื่อยมาก เพราะทำจนชิน สลับโบกกับเพื่อนคนละ 30 นาที ตอนนี้คนตกงานมาทำงานนี้กันเยอะ”

ขณะที่ “น้อยหน่า” วัย 26 ปี คนบุรีรัมย์ เล่าว่า ทำงานประจำเป็นพนักงานบัญชีบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ได้หยุดวันเสาร์และอาทิตย์ จึงหางานพิเศษทำ ไม่อยากอยู่ห้องเฉยๆ จึงออกมาทำงานอย่างน้อยก็ได้เงินเพิ่มเดือนละ 3,200 บาท จ่ายค่าเช่าห้อง ยิ่งสถานการณ์โควิดแบบนี้ ต้องหารายได้ช่องทางอื่นมาเสริม เพราะไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

“เพิ่งเข้ามาทำได้ปีกว่าๆ มีเพื่อนแนะนำมา ทำตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ทำวันแรกๆ เหนื่อย เมื่อยแขนมาก เพราะต้องยืนตากแดด ตากลมร้อน และโบกตลอด ตอนนี้ก็เริ่มชิน ทำได้เรื่อยๆ ไม่เหนื่อยเท่าไหร่อาจจะเป็นเพราะเราเป็นลูกชาวนาช่วยพ่อแม่ทำนามาแต่เด็ก เลยชินกับงานหนัก”

“น้อยหน่า” ยังเล่าอีกว่า อาชีพคนโบกธงถึงมองว่าเป็นงานหนัก แต่ก็มีคนเข้ามาทำกันมาก เพราะสามารถทำเป็นงานพาร์ตไทม์ได้ ที่ผ่านมามีนักศึกษาเข้ามาทำกันเยอะ แต่ช่วงนี้จากสถานการณ์โควิด ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่มีจัดอีเวนต์ แจกใบปลิว เหลือแต่คนโบกธง ที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบ เพิ่งจะมาคึกคักเมื่อไม่กี่วัน เมื่อก่อนรายได้ดีกว่านี้ ตกวันละ 500-600 บาท ตอนนี้เหลือ 400 บาท

“ประภาพร” วัย 52 ปี คนชัยนาท เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นแม่บ้านที่ห้างย่านประตูน้ำ แต่หลังรัฐประกาศให้ปิดบริการช่วงโควิดระบาด ทำให้ไม่มีงานทำ ทางบริษัทส่งไปทำที่กองสาธารณสุขอาสา ทำทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ได้ค่าแรงวันละ 331 บาท หรือเดือนละ 6,620 บาท

แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการเดินทางสูง ไปกลับวันละ 100 บาท ทำให้ต้องหารายได้เสริม จึงมารับจ้างโบกธงหน้าคอนโดมิเนียมด้วย เป็นงานที่ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา ทำได้ 2-3 เดือนแล้ว ได้ค่าแรงวันละ 400 บาท หรือเดือนละ 3,200 บาท ได้น้อยเพราะทำแค่เสาร์-อาทิตย์

ถึงจะมีรายได้เพิ่ม แต่รายจ่ายก็เพิ่มด้วย เพราะต้องเสียค่าเดินทางถึง 3 ต่อจากบ้านที่จรัญสนิทวงศ์ 57 มาทำงานแถวเกษตร ไปกลับตกวันละ 100 บาท รวม 8 วัน 800 บาท ยังมีค่าเดินทางที่ไปทำงานทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ อีก 2,200 บาท รวมแล้ว 3,000 บาทต่อเดือน

“รายได้ที่หามาได้หมื่นกว่าบาท ยังไม่พอกับค่าใช้จ่าย มีค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่ากินอีก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรทำ เราอายุเยอะแล้ว ไปทำงานอื่นก็ลำบาก ครอบครัวก็ไม่มี หาได้แค่ไหนก็ใช้เท่านั้น ช่วงที่รัฐจ่ายเยียวยา 2,500 บาท ตาม ม.33 ก็ช่วยไปได้บ้าง อยากให้รัฐมีมาตรการออกมาช่วยคนตกงานอีก เพราะคนตกงานกันเยอะ (เน้นเสียง) โควิดเราก็กลัวนะ แต่ถ้าไม่ออกมาทำงาน จะเอาอะไรกิน” ประภาพรระบายความอัดอั้นที่อยู่ในใจ

ช่วยกระตุ้นยอดขายไม่มาก เน้นสร้างสีสัน
ถามว่าการจัดให้คนมายืนโบกธงเรียกลูกค้าหน้าโครงการ ส่งผลต่อยอดขายได้มากน้อยขนาดไหน

“อาภา อรรถบูรณ์วงศ์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชชี่ เพลซ 2002 (RICHY) กล่าวว่า ได้ผลตอบรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เป็นการสร้างสีสันให้เห็นว่าโครงการยังมีการขายอยู่

“เรากลับมาให้มีคนโบกธง แจกใบปลิวบ้าง ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังเริ่มกลับมาใช้งบการตลาดตรงส่วนนี้ จากที่ใช้น้อยลงในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้และเดือนตุลาคมนี้จะกลับมาใช้อย่างเต็มที่”

“อาภา” ย้ำว่า การที่ยังทำกิจกรรมลักษณะนี้ เพราะยังเป็นสื่อจำเป็นที่ต้องการให้คนรับรู้ว่าคือที่ตั้ง ถึงจุดหมายแล้ว เพื่อรองรับจากสื่อออฟไลน์และออนไลน์ให้เต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันมีปรับการทำกิจกรรมการตลาดไปตามพฤติกรรมลูกค้าใหม่ๆ ตลอดทุกสัปดาห์ โดยเน้นงานออนไลน์ที่สามารถปรับได้ทันที

สอดคล้องกับ “พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง” ให้บริการทางด้านโบกธง ถือป้าย ผลิตสื่อโฆษณาและจัดงานอีเวนต์ ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม ลดค่าใช้จ่ายในการใช้สื่อออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นใบปลิว คนถือป้าย โบกธง หันไปขายผ่านออนไลน์กันมากขึ้น บรรยากาศจึงไม่คึกคักเหมือนในช่วงปี 2557-2561 ที่งานชุกมาก พอหลังปี 2562 งานเริ่มลดน้อยลงมาถึงปัจจุบัน

“คนตกงานเยอะจริง แต่งานที่จะทำก็ไม่มี ทำให้การจ้างคนมาโบกธงน้อยลง แต่ยังมีคนสมัครงานเข้ามาบ้างแต่ไม่เยอะมาก อาจจะเป็นเพราะกลับบ้านต่างจังหวัดกันมากกว่า ที่เห็นบางโครงการมีคนโบกธงนั้น อาจจะเพิ่งเริ่มกลับมาทำ เพราะไม่ว่าจะขายออนไลน์กันมากขึ้น แต่การขายแบบใช้สื่อดั้งเดิมที่คนผ่านไปมาเห็นได้ง่ายสุด ยังมีการนำมาใช้อยู่ อาชีพคนโบกธง เข้ามาทำง่าย เพราะจ้างเป็นรายวัน ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่ของเราจะจำกัดอายุรับไม่เกิน 50 ปี”

พนักงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า หลังเกิดการระบาดโควิด-19 รัฐห้ามจัดงานอีเวนต์ทำให้บริษัทงานลดลงมากกว่า 50% นับจากต้นปี 2563 มาถึงปัจจุบัน

แต่ยังมีธุรกิจที่ยังใช้สื่อมีเดียมากอยู่ คือ กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นการผลิตสื่อประเภทสินค้าอุปโภคและบริโภค

“ภาพรวมของธุรกิจมีเดียและอีเวนต์ยังซบอยู่ ต่อให้รัฐคลายล็อก แต่ลูกค้าก็ยังนิ่ง รอดูสถานการณ์ ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ลดลงไปตามสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19”

ตราบใดที่ “โควิด” ยังไม่จบ การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้โลดแล่นได้เหมือนเก่า ก็ยากจะคาดเดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image