ยุคผันผวน: ภาพฉายเชิงอนาคต ของการศึกษาไทย

อนาคตเป็นสิ่งและเรื่องราวของสังคมที่คาดหวังว่าจะต้องดีกว่าปัจจุบัน แต่ความเป็นจริงแล้วภาพฉายเชิงอนาคตสามารถเกิดขึ้นได้ในสองลักษณะคือดีขึ้นกว่าเดิมหรืออาจจะไม่ดีเท่ากับปัจจุบันก็ได้ อนาคตของสังคมที่ดีย่อมเกิดจากการกระทำของผู้คนในสังคมรวมทั้งผู้นำของสังคมด้วย ดังนั้น ผู้นำของสังคมจะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน มีกระบวนการในการสร้างสรรค์สังคมที่ถูกต้องจึงจะทำให้สังคมมีสภาวะที่ดีงามในอนาคตได้อย่างมั่นคง หันกลับมามองการศึกษาเชิงอนาคตของรัฐชาติที่จะเกิดขึ้นกับความผันผวนและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งหลายนี้ การศึกษาต้องสร้างจุดยืนและสามารถนำพาให้ผู้คนที่อยู่ในสังคมสู่ความปกติได้อย่างรวดเร็ว ความผันผวนมีสาเหตุจากหลายประการแต่ที่แน่นอนปัญหาสาเหตุจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างมีระบบถึงจะทำให้ปัญหานี้หมดไปได้

ความผันผวนทางการศึกษาที่ปรากฏ
สังคมโลกและสังคมไทยในปัจจุบันเรียกได้ว่ามีความผันผวนเป็นอย่างมาก สิ่งที่ทำให้เกิดความผันผวนหรือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบการศึกษาอย่างมากได้แก่

1.ฉากทัศน์ของดิจิทัลและสารสนเทศ (Paradigm of Digitalization and Technology) นอกฉากทัศน์ของดิจิทัลและเทคโนโลยีจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นไปอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายยังมีผลต่อการศึกษา กล่าวคือ มีการเรียนรู้แบบใหม่เกิดขึ้น การผุดขึ้นของข้อความรู้ที่มีมากขึ้น รูปแบบและเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลายทำให้ผู้เรียนเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสภาวะจำยอมต่อ “Digital for the better life”

2.ตัวตนของผู้เรียนและสถานศึกษา (Individualization of Schooling and Learners) จากสภาพความผันผวนทางการศึกษาที่มีผลสืบเนื่องมาจากดิจิทัลและเทคโนโลยี ทำให้ครูผู้สอนและผู้เรียนเลือกใช้เทคโนโลยีที่ตนเองถนัด ข้อจำกัดของการเรียนในรูปแบบการนั่งเรียนเปลี่ยนแปลงไป ผู้เรียนสามารถ “ปล่อยกาย” ได้ตามสบายปราศจากการบังคับหรือครอบงำ จากความผันผวนทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้ปกครอง ผลดีที่ตามมาคือผู้ปกครองเข้าใจและเข้าถึงการจัดการเรียนรู้สมัยใหม่และที่สำคัญผู้ปกครองเข้าใจในความเป็นครูยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น ส่วนสถานศึกษาสามารถศึกษาพัฒนาการและพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างชัดเจนและสุดท้ายเกิดการศึกษาที่เรียกว่า
“Personalization”

Advertisement

3.ความเป็นสากล (Internationalization) เพราะความเป็นโลกาภิวัตน์จึงทำให้การศึกษามีความผันผวนทวียิ่งขึ้น ฉะนั้นการศึกษาของรัฐชาติต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ เช่น การกระตุ้นให้สถานศึกษาเปิดหลักสูตรที่เรียนไปแล้วผู้เรียนต้องได้ได้อรรถประโยชน์จากหลักสูตร สามารถสร้างงานเพื่อการอยู่รอดของชีวิตได้ สถานศึกษาต้องสร้างโปรแกรมหรือสาขาที่หลากหลายและมีความทันสมัยสอดคล้องกับสังคมโลกจะทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเพื่ออนาคตที่ดีงามได้ อนึ่ง การลงทุนทางการศึกษาต้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อนึ่งการศึกษาต้องสร้างความเข้าใจอันดีในความแตกต่างทางด้านความคิดจะนำพาไปสู่สันติภาพของสังคมโลกได้ในสุด

4.ความหลากหลาย (Diversity) ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่มีวิธีวิทยามากมายกว่าเดิม ครูผู้สอนสามารถเลือกวิธีการที่จะสร้างความสำเร็จทางการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้หลายช่องทาง ความผันผวนทำให้ไม่มีข้อจำกัดในสถานที่และเวลาเรียน ความผันผวนที่ส่งผลต่อการศึกษาทำให้มีลักษณะเป็น “ชุมชนเมืองแห่งการเรียนรู้ (Urbanized learning community)” นอกจากนี้ ความผันผวนทำให้เกิดอาชีพต่างๆ ที่ไม่ตรงกับศาสตร์ของผู้เรียนที่ศึกษาศาสตร์ การศึกษาบนสถานการณ์ความผันผวนนี้สามารถเรียกได้ว่า “การศึกษาเพื่อตัวรอด” ได้เป็นอย่างดี

ภาพเชิงอนาคตของการศึกษาไทย
1.การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มีในทุกระบบ การจัดการเรียนไม่สามารถปฏิเสธการศึกษาแบบใหม่ได้เพราะผลมาจากปัจจัยหลายอย่างเช่น การคุกคามของโรคระบาด การไหลบ่าของเทคโนโลยีและความผันผวนของกระแสสังคมโลก แต่การเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่จะประสบผลสำเร็จนั้น ทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้ห้ามยึดจำนวนหน่วยการเรียนรู้เป็นสรณะโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาครูผู้สอนจะต้องสร้างหรือกระตุ้น (Inspire) ให้ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนในแต่ละคาบของการเรียนโดยวิธีการอะไรก็ได้ เมื่อใดที่ผู้เรียนรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขา/เธอรับนั้นไม่ใช่การยัดเยียดนี้ ผู้เรียนจะกระตือรือร้นเข้ามาเรียนเอง

2.การศึกษาไทยต้องมีการบริหารจัดการเชิงรุก ที่ผ่านมาการศึกษาของรัฐชาติยังอยู่ในกรอบของการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ การบริหารจัดการจัดเชิงรุกนั้นต้องสร้างนโยบายของรัฐชาติที่ชัดเจนและต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายแบบ “ตามใจชอบ” หลักสูตรการจัดการเรียนรู้การวัดและประเมินผลจะต้องมีลักษณะเป็นของตนเอง แต่ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณาถึงการศึกษาที่สังคมโลกร่วมด้วย ผู้เขียนมองว่าภายใต้ฐานคติการจัดการศึกษาแบบ Productive Education ที่รัฐจะต้องหยิบมาเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนกับนั้นรัฐชาติต้องเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าสู่สภาวะที่จะถูกจ้างงานมากที่สุด (Employability) การศึกษาของรัฐชาติในอนาคตจะต้องฝึกปรือให้ผู้เรียนมีทักษะอย่างน้อย 4 ด้านคือ การเรียนรู้เพื่อการใฝ่รู้ (Learning to learn) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication) การทำงานร่วมกับคนอื่น (Corporate team work) และการจัดการกับปัญหา (Problem-solving and management)

3.ผู้นำทางการศึกษาจะต้องเข้าใจและลุ่มลึกกับการจัดการศึกษาของสังคมโลกเพื่อมานำศึกษาและปรับให้เหมาะสมกับสังคมของตนเอง เพราะสังคมโลกเองก็มีความผันผวนเช่นกัน การบริหารจัดการจากประเทศที่ประสบผลสำเร็จจะทำให้ไม่เกิดความยุ่งยากเพราะมีต้นแบบที่ดีแล้ว เพียงแต่มากลั่นกรองสร้าง “การต่อยอด” จะเป็นการประหยัดในหลายมุมมองเช่น ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณที่จะมีการจัดตั้งกรรมเฉพาะขึ้นมาทำงานและที่สำคัญเป็นการบริหารจัดการที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

4.จะต้องเอื้ออำนวยให้มีลักษณะการเรียนรู้ที่หลายรูปแบบ เช่น ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง สอนกันเอง เรียนจากเทคโนโลยี ทุกที่สามารถเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ “ฉันจะเรียนอย่างไรและที่ไหนก็ได้”

5.ภาพฉายเชิงอนาคตภายใต้วาทกรรม “ใครใคร่ทำ” การศึกษาของรัฐชาติต้องให้สถานศึกษาแต่ละแห่งมีอิสระในการบริหารจัดการตนเองได้มากขึ้น (Privatization/ Autonomy) สถานศึกษาสามารถกำหนดเป้าหมายและทิศทางของตนเองได้ หากพิจารณาถึงปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ที่แต่ละแห่งได้ถือว่าเป็นแนวทางในการนำพานั้น ดูเหมือนจะเป็นการขีดเขียนที่สวยงามแต่ปราศจากจิตวิญญาณของผู้ขีดเขียนแต่อย่างใด

บทสรุป
ถึงแม้ว่ารัฐชาติจะประสบปัญหาความผันผวนที่เกิด แกนกลางของการศึกษาของรัฐชาตินั้นจะต้องมีการบ่มเพาะความเป็นไทยให้กับผู้เรียน มีการพัฒนาผู้เรียนให้เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง รับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดี การศึกษาต้องมีมิตินิทัศน์ในสร้างสรรค์รัฐชาติเพื่อความทันสมัยและความยั่งยืน และที่ขาดไม่ได้นั้นคือ การศึกษาต้องสอนให้สำนึกในความเป็นมนุษยชาติ รู้จักปรับตัว ค้นคว้าเรียนรู้ตลอดเวลา สุดท้ายผู้คนในรัฐชาติจะมีความพร้อมในการ “รับมือ” กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์และไม่เกิดการช็อกทางวัฒนาในอย่างแน่นอน

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image