ขรรค์ชัย-สุจิตต์ คัดไฮไลต์ ‘ขวัญ วิญญาณ ผี’ ในวิถีอุษาคเนย์

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ คัดไฮไลต์ ‘ขวัญ วิญญาณ ผี’ ในวิถีอุษาคเนย์
ครั้งโรคระบาดทำคนกลายเป็น ‘ผี’ จิตรกรรมศพลอยน้ำถูกอีกาและปลามากินซาก จิตรกรรมเขียนบนแผ่นไม้คอสอง ศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม เขียนในสมัยรัชกาลที่ 4

ยังเป็นช่วงเวลาที่การ์ดต้องสูงแม้ภาครัฐเริ่มคลายล็อกมาตรการสกัดโควิดให้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นกันมากขึ้น รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ยังคงรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเดินทางนอกสถานที่ ทว่า ความเข้มข้น เร้าใจไม่มีแผ่ว มัดรวมประเด็นลึกแต่ไม่ (เร้น) ลับ อย่างเรื่องผีๆ ที่ 2 วิทยากรอาวุโส อย่าง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ เคยเอื้อนเอ่ยพาดพิงหลายต่อหลายครั้ง โดยเชื่อมโยงและตอบข้อสงสัยถึงความแตกต่างระหว่าง ผี ขวัญ วิญญาณ อย่างเข้าใจง่าย นำเสนอในตอน ‘เรื่องผีๆ กับรัฐชาติบนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ความเป็นไทย’

เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวี, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ครั้งถ่ายทำรายการที่วัดท่าข้าม บางขุนเทียน รอเวลาคลายล็อกจากสถานการณ์โควิด พาแฟนานุแฟนทอดน่องนอกสถานที่อีกครั้ง รับชมทุกพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ ข่าวสด ศิลปวัฒนธรรม และยูทูปมติชนทีวี เวลา 20.00 น.เหมือนเดิม

เป็นไฮไลต์เรื่องผีๆ ที่มีประเด็นชวนให้หยิบปากกามาขีดเส้นใต้มากกว่าความสยองขวัญสั่นประสาท หากแต่ชี้ถึงความเกี่ยวโยงตลอดไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ จนถึงวันนี้

ส่อง ‘(ประตู)ผี’ บนกำแพงเมืองกรุงเทพ เปรตวัดสุทัศน์ คือ ‘ขอทาน’ ไม่ใช่ผี

เปิดประเด็นด้วยไฮไลต์ที่นำมาจากเนื้อหาจากตอน ‘นิวนอร์มอล สุนทรภู่ วัดเทพธิดา ประตูผี มีผัดไทย’ ซึ่งถ่ายทำที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพ โดยในตอนหนึ่ง (อดีต) สองกุมารสยาม เล่าถึงเรื่องราวของ ‘ประตูผี’ ที่ปัจจุบันมักคุ้นหูจากการเป็นคำสร้อยของเมนูอาหารอย่างผัดไทย

Advertisement
ภาพถ่ายเก่าถนนบำรุงเมือง ตัดตรงจากพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออกถึงวัดสุทัศนเทพวราราม ทับบนแนวถนนเดิมจาก ‘ประตูผี’ ไปยังวัดสระเกศ

“ใครก็ตามที่ตายในเขตกำแพงเมือง ไม่ว่าใครก็ตาม ยกเว้นเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ห้ามเผาศพในกำแพง จะเห็นได้ว่า วัดในกำแพงเมือง ไม่มีเมรุ ต้องหามออกไปทางทิศตะวันออกเท่านั้น ห้ามออกทิศอื่น ประตูผี ก็คือประตูบนกำแพงเมืองกรุงเทพ ประตู (ผี) ต้องให้ตรงกับพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักร เพราะผีออกแล้วห้ามเข้า แล้วใครจะห้ามผีได้ ก็ต้องพระ”

สุจิตต์ เล่าติดตลกตามสไตล์ ในขณะที่ ขรรค์ชัย นั่งอมยิ้ม โดยทั้งคู่ต่างย้ำว่าการศึกษาไทยไม่มีประวัติศาสตร์สังคม มีแต่ประวัติศาสตร์สงคราม และนี่คือปัญหา สุดท้ายคนเลยรู้จักชื่อประตูผีจากผัดไทยมากกว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์

ส่วน ‘เปรตวัดสุทัศน์’ ที่คนมักเข้าใจว่าหมายถึงผีเปรตจริงๆ นั้น ก็ไม่ใช่อีก เพราะหมายถึง ขอทาน ที่ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ซึ่งร่างกายผ่ายผอมเหมือนเปรต หลักฐานคือวรรณคดีเรื่องระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ตัวละครเป็นขอทานย่านเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ แต่งสมัยรัชกาลที่ 3 สำหรับ ‘แร้งวัดสระเกศ’ ที่คู่กับเปรตวัดสุทัศน์ มาจากการต้องหามศพออกจากประตูเมืองไปทิ้งในป่าช้าวัดสระเกศ ตรงไหนมีผี ซึ่งในที่นี้หมายถึงศพ ตรงนั้นก็ต้องมีอีแร้งเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

“สมัยก่อนให้แร้งกากิน เปรตวัดสุทัศน์ ไม่ใช่ผีเปรตตัวสูงๆ อย่างที่เข้าใจกัน แต่คือขอทานบริเวณตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ ผอมสูงเหมือนเปรต หลักฐานคือวรรณคดีล้อเลียนอิเหนา แต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) กวียุค ร.3 ร่วมสมัยกับครั้งสุนทรภู่บวชเป็นพระที่วัดเทพธิดาราม”

พลัง ‘ผีผู้หญิง’ แม่นาคพระโขนง เรื่องเล่า ปากคำ ความทรงจำหลากเวอร์ชั่น

ไฮไลต์ถัดมา จะเป็นเรื่องใดไปไม่ได้ นอกจาก เรื่องราวของผีผู้หญิงตามสไตล์ผีไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากตอน ‘แม่นาคพระโขนง LOVE STORY ผีกับคน ขวัญในโลกต่างมิติ’ ที่พาผู้ชมเดินทางไปยังแหล่งกำเนิด ‘ผีแม่นาค’ ณ วัดมหาบุศย์ ริมคลองพระโขนง ย้อนจินตนาการถึงบรรยากาศป่าช้ายุคเก่า ซึ่งปัจจุบันอยู่บนแนวถนนฝั่งอ่อนนุช แขวงสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

รูปปั้น ‘แม่นาค’ จากดิน 7 ป่าช้า ฝีมืออาจารย์พวน ช้างเจริญ ก่อนถูกแต่งองค์ทรงเครื่องสวยงามในศาลใหม่ที่วัดมหาบุศย์ริมคลองพระโขนง

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมกันเปิดเผยข้อมูลว่า ผีแม่นาค อีนาก หรือนางนาค เป็นความทรงจำและคำบอกเล่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา หลักฐานสำคัญอันนับว่าเป็นต้นทางของเรื่องแม่นาคอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มาจากงานเขียนของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในหนังสือสยามประเภท

“ต้นตอ มาจาก ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ใครว่าเป็นนักโกหกตัวยง ความจริงคือนักปราชญ์ของราชสำนักด้วยซ้ำไป เรียนวิทยาการจากสำนักเรียนวัดโพธิ์ ท่านเขียนไว้ในหนังสือสยามประเภท ฉบับมีนาคม 2452 สมัยรัชกาลที่ 5 บอกว่า อำแดงนาก คลอดลูกตายในท้อง ฝังศพในป่าช้าวัดมหาบุศร์ แต่ไม่ได้เป็นปีศาจหลอกอาละวาด มีคนเขียนจดหมายถามว่า เรื่องจริงของแม่นาก หรืออีนากเป็นอย่างไร

ก.ศ.ร.กุหลาบ ผู้บอกเล่าเรื่องราวของแม่นาคเป็นลายลักษณ์ ตีพิมพ์ใน ‘สยามประเภท’ ช่วงปลายรัชกาลที่ 5

ก.ศ.ร. กุหลาบเลยเขียนตอบ ว่าไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นมาเอง แต่ฟังจากคนอื่นเขามา คือพระศรีสมโภช (บุศร์) วัดสุวรรณ เล่าถวายสมเด็จพระปรมานุชิตฯ บอกว่า อำแดงนากเป็นเมียตัวโขน ทศกัณฐ์ คณะกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ไม่ได้ชื่อมาก แต่ชื่อชุ่ม เหตุเกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 พระศรีสมโภช (บุศร์) ก็คือผู้สร้างวัดมหาบุศร์

นายชุ่มทศกัณฐ์ เป็นคนมั่งมี มีบุตรชายหญิงหลายคน ยังไม่ได้ออกเรือน พากันหวงสมบัติบิดา เกรงว่าบิดาจะมีเมียใหม่ จึงทำอุบายจ้างวานคนแต่งเป็นผีดุร้ายหลอกคน ช่วยนายชุ่มถีบระหัดน้ำเข้านา วิดน้ำเรือ กู้เรือที่ล่ม ส่วนบุตรชายนายชุ่มแต่งกายเป็นหญิงหลอกเป็นผีแม่ตัวเองหลอกคนจนกลัวทั้งคลองพระโขนง”

สรุปว่า พี่มากขา ไม่ใช่ชื่อผัวแม่นาคเวอร์ชั่นเดิมอย่างที่คุ้นหูจากภาพยนตร์และละครแสนสนุกในยุคหลัง

อย่างไรก็ตาม ยังมีแม่นาคอีกหลายสำนวนที่ชวนระทึกใจไม่แพ้กัน

สองวิทยากรอาวุโส เล่าว่า ผีแม่นาคฉบับต่อมาคือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราช โดยทรงแต่งเป็นภาษาอังกฤษ เรื่องผีนางนาคช่วยทำงาน

“เวอร์ชั่นนี้ ผัวชื่อนายขำ ชาวนาผู้มั่งคั่งแห่งบางพระโขนง ต่อมา นางนาคคลอดลูกตาย นายขำไม่กล้าแต่งเมียใหม่ ผีนางนาคยังมาต้อนควายทุกวัน ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาไทย แม่นาคก็ไม่ได้เป็นผีหลอกอีก แต่นางนาคเป็นภรรยาขี้หึงของพันโชติ กำนัน ก่อนตาย บอกว่าถ้ามีเมียใหม่จะเป็นปีศาจมาหลอก พอตายไป ลูกชายสร้างสถานการณ์หลอกผีเพราะไม่อยากให้พ่อมีเมียใหม่”

จากนั้น มาถึงสำนวนสุดท้ายที่ สุจิตต์ เชื่อว่าเป็นต้นเค้าของแม่นาคเวอร์ชั่นที่รู้จักในปัจจุบัน นั่นคือบทละครร้อง ‘อีนาคพระโขนง’ โดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ใช้สำหรับเล่นที่โรงละครปรีดาลัย ในวังแพร่งนรา ถนนตะนาว กรุงเทพฯ เมื่อปี 2455 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังชี้ถึงร่องรอยสำคัญที่ทำให้คนสนใจมาก อยู่ที่ความเป็น ‘ผีผู้หญิง’ โดยยกหลักฐานคือนิทานในพงศาวดารเขมร เรื่อง ‘พระทอง นางนาค’ ซึ่งเชื่อว่าส่งอิทธิพลถึงราชสำนักอยุธยา

“ถ้าไม่ใช่ผู้หญิง เจ๊ง ไม่มีคนดูหรอก ความทรงจำยาวนานเรื่องแม่นาค เพราะโครงสร้างของเรื่องถูกจริตชาวอุษาเคนย์ รักครอบครัว รักผัว รักลูก เป็นมรดกตกทอดจากเรื่องแม่นาค ผีบรรพชนหลายพันปีมาแล้ว อยู่ในความทรงจำของคนทั้งในกัมพูชาและไทย จากน้ำโขง ถึงเจ้าพระยา คือเรื่องพระทอง นางนาค

พระทอง เป็นพวกชวา มลายู ติดต่อค้าขายทางทะเล มาเห็นนางนาคซึ่งเป็นหญิงพื้นเมืองแก้ผ้าอาบน้ำ ก็ไปเกี้ยวพาราสี ได้เสียกัน จากนั้นพระทองเกาะสไบนางนาคไปหาพ่อซึ่งเป็นพญานาคใต้บาดาล พญานาคเนรมิตนครวัดนครธมให้อยู่ด้วยกัน นางนาคคุมราชอาณาจักร พอตายไปก็เป็นผีบรรพชน มีนิทานบอกว่า เวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินต้องไปสมพาส คือ มีสัมพันธ์กับนางนาค ถ้าไม่ไป บ้านเมืองล่มจม

เรื่องนี้ เข้ามาอยู่ในกฎมณเทียรบาลในราชสำนักอยุธยา คือ พระราชพิธีเบาะพก กำหนดให้พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปบรรทมกับแม่หยัว คือ แม่อยู่หัว ทั้งหมดนี้ยืนยันว่านาค เป็นความทรงจำศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องมา ผู้หญิงในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน การสืบสันตติวงศ์ในอดีตก็สืบสายทางฝ่ายผู้หญิง ความรู้เรื่องนางนาคฟักตัวอยู่ในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย แต่เล่ากันในสำนวนไหน เราไม่ทราบ นาค คือผีบรรพชน ไม่ใช่ผีหัวไร่ปลายนาทั่วไป การรักลูก รักผัว รักครอบครัว คือบุคลิกผีผู้หญิงในอุษาคเนย์ที่อยู่ในความทรงจำเรื่อยมา บุคลิกนี้ถูกนำมาใส่ในแม่นาคพระโขนง เราจึงพบว่ากิจกรรมหลักของแม่นาคคือช่วยผัวทำงาน ไม่ได้ไปหลอกใคร การหลอกคือสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลังเพื่อความสนุกในภาพยนตร์”

คนละเรื่องเดียวกัน ‘ผี วิญญาณ ขวัญ’ ในวิถีอุษาคเนย์

ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญ อย่างความแตกต่างระหว่าง ผี วิญญาณ รวมถึง ‘ขวัญ’ อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหยิบไฮไลต์จากตอน ‘เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำ แม่โพสพ เทวีข้าวของชาวนา’ ที่วัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ อธิบายว่า ศาสนาผีไม่เชื่อเวียนว่ายตายเกิดเหมือนศาสนาพุทธ แต่เป็นผี หรือผีขวัญ ดำเนินวิถีตามปกติเหมือนมีชีวิต เพียงอยู่ต่างมิติ ซึ่งจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่สื่อสารผ่านพิธีเข้าทรง พบในตำนานกำเนิดมนุษย์ ในพงศาวดารล้านช้าง ว่า ผีแลคนเทียวไปมาหากันบ่ขาด เมื่อคนตาย ขวัญไม่ตาย และไม่เกิด พร้อมย้ำว่า ‘ขวัญ’ ไม่ใช่วิญญาณ ต่างกันมาก แทนกันมิได้ แต่ถูกทำให้ปนกันจนแยกไม่ออกกลายเป็น คนละเรื่องเดียวกัน

“ที่เชื่อกันว่าคนตายแล้วเหลือวิญญาณล่องลอยอยู่ไม่รู้จักไปผุดไปเกิด แล้วคนปัจจุบันบางคนติดต่อสื่อสารได้กับวิญญาณนั้นๆ น่าสงสัยจะไม่ใช่วิญญาณ แต่เป็นขวัญที่สับสนปะปนกันจนทุกวันนี้แยกไม่ออกบอกไม่ถูกว่าอะไรเป็นไร

ขวัญเป็นความเชื่อในศาสนาผี หมายถึงส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ เรียกว่า มิ่ง ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, สถานที่ ต้องย้ำอีกที ว่าขวัญไม่ใช่วิญญาณ อินเดียไม่มีขวัญ มีแต่วิญญาณ 1 ดวง ตายแล้วเกิดเลย ไม่มีมาหลอกใคร”

เมื่อพูดถึงขวัญ อีกคำคุ้นหู ก็คือประเพณี ‘ทำขวัญข้าว’ ซึ่งเป็นประเพณีพิธีกรรมเพื่อแม่ข้าวในศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งมีขึ้นช่วงหลังเกี่ยวข้าว ในเดือนอ้าย และหลังนวดข้าว ในเดือนยี่ ด้วยการ ‘สู่ขวัญ’ และ ‘ส่งขวัญ’ ที่ชาวนาทั้งชุมชนร่วมกันทำพิธีเป็นประจำตั้งแต่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว และสืบเนื่องจนปัจจุบัน โดยกำหนดนัดหมายเดือนสามตามปฏิทินจันทรคติ คือระหว่างเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี

‘ทำขวัญข้าว’ จิตรกรรมที่วัดท่าข้าม บางขุนเทียน สะท้อนความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ ตามวิถีอุษาคเนย์
ชาวบ้านกำลังแรกนาขวัญก่อนทำนาจริง บ้านโพธิ์สามต้น บางปะหัน พระนครศรีอยุธยา (ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2547)

เมื่อนวดข้าวได้ข้าวเปลือกรุ่นใหม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ชาวนาไม่เอาข้าวเปลือกใหม่ไปตำเป็นข้าวสารใหม่แล้วหุงกินทันที แต่ต้องรอหลังทำขวัญข้าวเซ่นผีฟ้าผีแถนจึงเอาข้าวใหม่ไปหุงกิน

“ชุมชนดั้งเดิมทำขวัญ แม่ข้าว ทุกปีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สืบเนื่องจนปัจจุบันเรียกทำขวัญข้าว ต่อมาราชสำนักโบราณปรับปรุงประเพณีชุมชนชาวบ้านเป็น พระราชพิธี แล้วสถาปนาแม่ข้าวเป็น แม่โพสพ ทําขวัญข้าวเป็นพิธีกรรมเพื่อความมั่นใจในความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งชาวนาดั้งเดิมถือเป็นพิธีกรรมครั้งใหญ่มีต่อแม่ข้าว”

สรุปว่า จากประเพณีราษฎร์ของชาวบ้านแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ได้เข้าสู่ราชสำนัก พัฒนาเป็นประเพณีหลวง ‘แห่งรัฐ (ชาติ)’ ในภายหลัง

นี่คือเรื่องผีๆ ที่ไม่ได้หลอกสังคมไทย หากแต่เป็นประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมที่รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยวนำข้อเท็จจริงมานำเสนอให้ร่วมกันขบคิดแตกแขนงอย่างไม่รู้จบ

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image