โต้วุ่น! ร.ร.เอกชน แจงปัญหานมโรงเรียน ไม่ถึงมือเด็ก เหตุผู้ประกอบการไม่ยอมเซ็นสัญญา

โต้วุ่น! ร.ร.เอกชน แจงปัญหานมโรงเรียน ไม่ถึงมือเด็ก เหตุผู้ประกอบการไม่ยอมเซ็นสัญญา

จากกรณี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งตรวจสอบปัญหาเรื่องนมโรงเรียนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดระยอง ผู้ประกอบการไม่ยอมทำสัญญาซื้อขาย ผลจึงตกมาที่เด็กไม่ได้รับนม อ่าน มนัญญา เรียกสอบด่วน นมโรงเรียนทั่ว ปท. เผยระยอง 17 โรงเรียน นมไม่ถึงเด็กตั้งแต่เดือน พ.ค.

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นางสุนิสา สก๊อต ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ปส.กช.) จ.ระยอง เปิดเผยว่า ปัญหาการนมโรงเรียนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดระยอง เกิดจากผู้ประกอบการ คือ บริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง ไม่ยอมทำสัญญาซื้อขาย และสิ่งที่ผู้ประกอบการออกมาให้ข่าวนั้นผิดทั้งหมด ไม่เป็นความจริง เช่น ออกมาระบุว่าโรงเรียนบังคับให้เซ็นสัญญาทาส ไม่เป็นธรรม โดยอ้างว่าโรงเรียนบังคับซื้อนมในราคาถูก ซึ่งในความจริงโรงเรียนไม่ได้บังคับซื้อนมในราคาถูก โรงเรียนได้รับงบจัดซื้อมากล่องละ 7 บาท และโรงเรียนได้ดำเนินการตามระเบียบที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำหนด และได้จัดทำสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 กำหนดไว้อย่างชัดเจน

“ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 บริษัทแห่งนี้มีปัญหาการส่งนมโรงเรียนกับโรงเรียนเอกชน 9 แห่งใน จ.ระยอง เพราะไม่ส่งนมในเวลาราชการ ส่งนมแบบตามใจ เช่น มาส่งเวลา 5-6 โมงเย็น หรือมาส่ง 2 ทุ่มบ้าง หนักสุดมาส่งวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งทำให้นักเรียนไม่ได้รับนมตามที่กำหนด ทางโรงเรียนได้ร้องเรียนที่จังหวัดมาตลอด ต่อมาโรงเรียนตัดสินใจไม่ซื้อนมจากบริษัทแห่งนี้ และทำการโอนเงินค่านม คืน สช.ไป และในภาคเรียนที่ 1/2564 เมื่อโรงเรียนประมาณ 28 แห่ง ทราบว่าบริษัทเดิม เป็นผู้จัดสรรนมให้ ทำให้โรงเรียนตกใจ และกังวลใจ เพราะกังวลเรื่องการจัดส่งของนมของบริษัทแห่งนี้ ว่าอาจจะเกิดปัญหาอีก” นางสุนิสา กล่าว

นางสุนิสา กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริง โรงเรียนทั้ง 17 แห่ง ร่วมกับสมาคมการศึกษาเอกชน จ.ระยอง ได้พยายามอย่างยิ่งให้เกิดการซื้อขายขึ้น เริ่มจาก วันที่ 31 พฤษภาคม โรงเรียนได้รับโอนเงินอุดหนุนโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ระยอง วันที่ 4 มิถุนายน โรงเรียนได้รับแจ้งผลการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนม จาก ศธจ. วันที่ 17 มิถุนายน โรงเรียนได้รับแจ้งหลักการจัดส่งนมและแนวทางการดำเนินโครงการ จาก ศธจ. และโรงเรียนทั้ง 17 แห่ง ส่งสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนแก่ผู้ประกอบการ จากนั้นโรงเรียนและผู้ประกอบการ ได้ร่วมกันแก้ไขสัญญามาโดยตลอด แต่ผู้ประกอบการยังไม่ยินยอมลงนามในสัญญา

Advertisement

“ต่อมาในวันที่ 6 กรกฎาคม สมาคมการศึกษาเอกชน จ.ระยอง ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมปศุสัตว์จังหวัดโดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานการประชุม ต่อมามีการเจรจา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องด้วยเหตุผล 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ผู้ประกอบการต้องการให้โรงเรียนเซ็นสัญญาตามที่ผู้ประกอบการกำหนด แต่ตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 4 ข้อ 19 กำหนดชัดเจนว่า ผู้ซื้อต้องเป็นผู้จัดทำสัญญา ไม่ใช้ผู้ประกอบการ 2.วันลงนามสัญญาต้องใช้จำนวนเด็ก จากข้อมูลวันที่ 25 มิถุนายน เป็นฐานในการคำนวณเพื่อสั่งนม แต่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย และ 3. ผู้ประกอบการทำสัญญาโดยระบุวันส่ง ว่าจะส่งภายในเดือนตุลาคมเท่านั้น โดยอ้างว่าเดือนพฤศจิกายนเป็นภาคเรียนที่ 2/2564 จึงไม่ลงนามในสัญญา” นางสุนิสา กล่าว

นางสุนิสา กล่าวต่อว่า เมื่อไม่สามารถเซ็นสัญญา จนไม่สามารถดำเนินการซื้อนมโรงเรียนได้ วันที่ 16-18 สิงหาคม โรงเรียนโอนเงินอุดหนุนโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนกลับคืน ศธจ. ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม โรงเรียนได้รับแจ้งจาก ศธจ.ให้ดำเนินการซื้อนมกล่องตามงบประมาณที่ได้รับ ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม โรงเรียนได้รับแจ้งจาก ศธจ.และปศุสัตว์จังหวัดระยอง ให้จัดทำสัญญาซื้อขายนม นำมาให้ผู้ประกอบการลงนาม ที่ปศุสัตว์ระยอง ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ประกอบการ ปฏิเสธการลงนามในสัญญา ด้วยเหตุว่า จะไม่ส่งนมตามสัญญาในเดือนสิงหาคม แต่จะส่งเฉพาะเดือนกันยายน 1 ครั้ง และ ตุลาคม 1 ครั้งเท่านั้น เพราะแจ้งว่าไม่มีนมส่งแก่โรงเรียน โดยไม่แจ้งรายละเอียดการจัดส่ง ไม่ระบุวันจัดส่ง ทำให้เกิดปัญหากับโรงเรียนอย่างมาก เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งมีนักเรียนประมาณ 2,000 คน นักเรียน 1 คน จะได้รับนม 58 กล่อง รวมแล้วโรงเรียนจะได้รับนมประมาณ 116,000 กล่อง ปัญหาที่ตามมาคือโรงเรียนจะนำนมเก็บไว้ที่ใด ไหนจะต้องวางแผนจัดส่งนมให้ผู้ปกครองด้วย เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ไม่สามารถเรียกผู้ปกครองทั้งหมดมารับนมในวันเดียวได้ ต้องจัดเวลาให้ผู้ปกครองมารับตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วย และต่อมาวันที่ 13 กันยายน สมาคมการศึกษาเอกชน จ.ระยอง ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา เนื่องจากโรงเรียนเอกชนทั้ง 17 แห่ง แจ้งปัญหามาว่าผู้ปกครองร้องเรียนบุตรหลานไม่ได้ดื่มนมโรงเรียน และในวันที่ 16 กันยายน โรงเรียน 17 แห่ง ทำหนังสือเชิญผู้ประกอบการมาลงนามในสัญญาซื้อขาย ที่ ศธจ. แต่ผู้ประกอบการไม่มาลงนามในสัญญา

“เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างความเสียหายให้กับโรงเรียนอย่างมาก ตามที่บริษัทแห่งนั้น ออกมาระบุว่า โรงเรียนพยายามคอรัปชั่น บังคับให้เซ็นสัญญาทาส มีไอ้โม่งมาหักหัวคิว ไม่เป็นความจริง โรงเรียนดำเนินการตามประกาศ ตามระเบียบกฎหมายอย่างชัดเจน และจากที่ผู้ประกอบการไม่มาลงนามในสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 1/2564 มียอดเงินทั้งหมด 8,626,800 บาท ทำให้นักเรียนเอกชน จำนวน 9,480 คน ไม่ได้รับนมโรงเรียน ซึ่งส่งผลเสียร้ายแรงแก่โรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างมาก เพราะได้รับการตำหนิ ต่อว่าจากผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางสมาคมการศึกษาเอกชน จ.ระยอง ได้ส่งหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้รับทราบและเร่งช่วยเหลือแล้ว ขณะเดียวกัน วันนี้ในเวลา 15.00 น. ตัวแทนโรงเรียนทั้ง 17 แห่ง จะแถลงข้อเท็จจริงในประเด็นนี้อีกครั้ง ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟระยอง ” นางสุนิสา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image