ธุรกิจเที่ยวไทยในสมรภูมิ (หลัง) โควิด ในสายตา พราวพุธ ลิปตพัลลภ ‘นี่คือโอกาสที่ต้องมองเรื่องความยั่งยืน’

ธุรกิจเที่ยวไทยในสมรภูมิ (หลัง) โควิด ในสายตา พราวพุธ ลิปตพัลลภ ‘นี่คือโอกาสที่ต้องมองเรื่องความยั่งยืน’

“…น่าเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต สมุย หรือหัวหิน มีสิ่งที่หายไป…ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ บางรายไม่ไหว ต้องปิดตัวคงต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้รัฐเองก็เข้าไม่ถึง เป็นเอสเอ็มอี หรืออาจจะเล็กกว่านั้นด้วยซ้ำ ต่อให้มีนโยบายไฟแนนเชียลซัพพอร์ตอะไรมาก็เข้าถึงยากมาก ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เขากลับมาเปิดได้ ไม่ได้อยากโฟกัสเฉพาะโรงแรม เพราะเชื่อว่าต่อให้โรงแรมกลับมาเปิด แต่ถ้าทางชุมชนยังไม่กลับมาก็ยากที่การท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างยั่งยืน”

คือมุมมองของ พราวพุธ ลิปตพัลลภ แห่ง ‘พราว กรุ๊ป’ กรรมการบริหาร บริษัท พราวด์ ฮอสพิทอลิตี้ จำกัด สะท้อนความใส่ใจในบริบทสังคม สังเกตการณ์ความเป็นไปของผู้คนที่ต้องร่วมสมรภูมิโควิดไปพร้อมๆ กันบนต้นทุนชีวิตที่แตกต่าง มองเห็นภาพกว้างที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อย่างไม่อาจแยกออกจากกันระหว่างท้องถิ่นและธุรกิจการท่องเที่ยว

ในฐานะผู้ปลุกปั้นและบริหารโครงการหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นสวนน้ำวานา นาวา วอเตอร์ จังเกิ้ล หัวหิน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนถึงโรงแรมหรูในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างหัวหินและภูเก็ต ภายใต้แบรนด์อินเตอร์คอนติเนนตัล ภูเก็ต รีสอร์ท และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ อันดามันดาภูเก็ต ไหนจะ ‘อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส’ คอนโดฯหรูบนที่ดินติดชายหาดผืนสุดท้ายกลางเมืองหัวหินที่แม้เจ้าตัวจะบอกว่า “เราเปิดตัวไปพร้อมกับโควิด” ทว่า ยอดขายแตะไปถึง 75 เปอร์เซ็นต์เป็นที่เรียบร้อย

InterContinantal Hua Hin Resort

ไม่อาจปฏิเสธว่า ในห้วงเวลาเช่นนี้ ธุรกิจในเครือซึ่งเป็นโรงแรมและภาคบริการย่อมได้รับผลกระทบอย่างมาก บางโครงการต้องสะดุดชั่วคราว อย่างสวนน้ำ ‘อันดามันดา’ ภูเก็ต โปรเจ็กต์อลังการที่คาดว่าจะเปิดได้ในต้นปี 2565 หลังดีเลย์จากการ ‘ปิดเกาะ’

Advertisement

“ก็คงยังไม่ได้สวยหรู แต่มั่นใจว่าพอไปได้” 1 ใน 10 นักธุรกิจหญิงไทยผู้คว้าโล่นักธุรกิจสตรีอาเซียนเมื่อปี 2561 กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

ไม่เพียงรับมือและปรับตัว ทว่า พราวพุธ ยืนยันปฏิบัติการเชิงรุกลุยตรวจเอทีเคพนักงานโรงแรมในเครือแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

ยอมรับถึง ‘บทเรียน’ ที่ได้รับจากวิกฤตให้นำมาขบคิดเพื่อพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงในฐานะนักธุรกิจ แต่ในฐานะนักเดินทางผู้ชื่นชอบการผจญภัยและการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ

Advertisement

“ใช้เราเที่ยวด้วยกันครบสิทธิ” (หัวเราะ) “ไม่ได้พูดเล่นนะ ชอบนอนโรงแรมคนอื่นมากกว่าโรงแรมตัวเอง เพราะจะได้ดูว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันอยู่ ….เป็นการหาแรงบันดาลใจ”

ห้อง Deluxe Suite ที่ InterContinantal Hua Hin Resort

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจสาวรุ่นใหม่กระซิบว่า โควิดรอบนี้ แทบจะไม่ไปไหนเลยราว 5 เดือนแล้ว เวิร์กฟรอมโฮม ดูแลคนในบ้าน ซึ่งในที่นี้ไม่ได้มองเฉพาะสมาชิกครอบครัว โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ สุวัจน์-พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ แต่หมายถึงแม่บ้านและคนอื่นๆ ด้วย

ท่ามกลางบรรยากาศ ‘เปิดประเทศ’ 24 กันยายนที่ผ่านมา คือวันแรกของการเปิดลงทะเบียน ‘เที่ยวด้วยกัน เฟส 3’ ตามมาด้วยโครงการ ‘หัวหินรีชาร์จ’ ตามรอย ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดย ‘ไม่ต้องกักตัว’ หวังสร้างรายได้ 1,200 ล้านบาท ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ด้วยยอด 1 แสนคน

แม้แนวโน้มสุขภาพเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นจากอาการป่วยไข้ แต่ พราวพุธ มองไปข้างหน้าด้วยความหวัง หยิบวิกฤตมาสร้างโอกาส คว้าประสบการณ์มาขีดเส้นใต้ พร้อมบอกเล่าถ้อยคำในใจผ่านข้อมูลน่ารับฟังอย่างยิ่ง

ฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท วานา นาวา หัวหิน

จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง แก้ไข รับมือ และปรับตัวอย่างไร?
ในแง่ของรายได้ แน่นอนว่ามีช่วงที่เราจำเป็นต้องปิดตามคำสั่งของทางจังหวัด พูดง่ายๆ คือ รายได้กลายเป็นศูนย์ รวมถึงช่วงคาบเกี่ยวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือไม่ได้ให้ปิด แต่เป็นการยอมให้เปิดโดยมีเงื่อนไข เช่น สระน้ำและห้องอาหารในโรงแรมห้ามให้บริการซึ่งกลายเป็นการทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวของผู้เข้าพักลดน้อยลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนพนักงานที่ต้องใช้เยอะขึ้นรวมถึงมาตรการการทำความสะอาดที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาแอลกอฮอล์เจลซื้อหน้ากากอนามัยให้พนักงาน การทำความสะอาดในห้องพักโรงแรมซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าเดิม เพราะเป็นการทำความสะอาดที่ถี่ถ้วนขึ้น

ถามว่าที่ผ่านมา รับมืออย่างไร เราก็ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ ต้องปรับวิธีการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้นอย่างสวนน้ำ จำกัดจำนวนคนที่เข้าใช้บริการในแต่ละพื้นที่ ส่วนในโรงแรม บุฟเฟต์ไลน์ที่เคยให้ลูกค้าไปตักเองได้ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการให้พนักงานยืนให้บริการ บางช่วงที่ห้ามรับประทานในร้าน ก็ปรับเป็นรูมเซอร์วิสทั้งหมด

ห้องอาหารจรัส หัวหิน ณ อินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท นำเสนออาหารไทยในรูปแบบสมัยใหม่
เมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของหัวหินและเน้นอาหารทะเลสดใหม่จากหมู่บ้านชาวประมง ณ ห้องอาหารจรัส หัวหิน

เราพยายามหา Value Added ให้ลูกค้าในลักษณะอื่นๆ ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส ยกตัวอย่างเช่น ช่วงหนึ่งร้านอาหารในหัวหินโดนสั่งปิดทั้งหมด ลูกค้าที่มาพักไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารข้างนอกได้ สิ่งหนึ่งที่เราทำคือการจัดให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้ไปกินในร้านอาหาร แต่อยู่ในห้องพัก เป็น Private Dining ไป

นอกจากนี้ เรายังมีบริการเทคอะเวย์หรือ ดิลิเวอรี ที่เริ่มส่งให้คอนโดฯรอบๆ ช่วงนี้มีหลายท่านที่หนีกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตในหัวหินเป็นเดือน อีกขาหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของความปลอดภัย ทั้งพนักงานในองค์กร รวมถึงผู้ใช้บริการ เราให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน มีมาตรการความปลอดภัย อย่างการวัดอุณหภูมิ

สิ่งสำคัญคือธุรกิจในเครือเราทำเพิ่มเติมคือการตรวจเอทีเคในเชิงรุก คือแทนที่จะต้องรอให้มีอะไรเกิดขึ้น เราสกรีนไปเลย โดยทำสัปดาห์ละ 1 ครั้งกับพนักงานทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะ โรงแรมหนึ่งก็ประมาณ 200-300 คน คูณเข้าไปด้วยค่าชุดตรวจเอทีเค แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในช่วงจังหวะนี้ ถ้าทุกคนให้ความสำคัญลงแรงคนละนิดคนละหน่อย ก็จะทำให้ภาพรวมสามารถไปต่อได้

ห้อง Kid Suite ฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท วานา นาวา หัวหิน

มองในฐานะผู้ประกอบการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ ประสบความสำเร็จหรือไม่?
เห็นผล แต่อาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์มากเท่าที่เราคาดหวังไว้ มุมหนึ่งในการลองดูว่าเราจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยที่ไม่มีการติดเชื้อเพิ่มเติมจากภายนอกได้หรือไม่ แง่นั้นต้องบอกว่าตอบโจทย์ ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมา 3 หมื่นกว่าคน การติดเชื้อที่เกิดจากนักท่องเที่ยวแทบไม่มีเลย ที่เห็นอยู่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อภายในประเทศมากกว่า จึงถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นที่มาของการขยายแซนด์บ็อกซ์ หรือโมเดลที่มีชื่อต่างๆ นานาไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย

ในแง่ของตัวเลขนักท่องเที่ยวหรือรายได้ อาจจะต้องบอกว่ามันช่วยภูเก็ต อย่างโรงแรมของเราเอง เทียบสิงหาคมปีนี้กับปีที่แล้ว ดีขึ้นกว่าเดิมเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขอาจฟังดูเยอะเพราะเทียบจากเฟสที่ไม่ได้สูงมาก

ถ้ามองในแง่ภาพรวมของประเทศ ทุกวันนี้ที่เห็นอยู่ คือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตต้องเรียกว่าน้อย ส่วนใหญ่คือคนที่เข้ามากักตัวเพื่อเข้าประเทศไทยมากกว่า แต่ก่อนที่ทุกคนต้องไป ASQ (สถานที่กักตัวทางเลือก) ในกรุงเทพฯ กลายเป็นว่าทุกวันนี้ทุกคนเลือกไปกักตัวที่ภูเก็ตแทน

Vana nava sky เผยให้เห็นภาพมุมกว้างสุดสายตาในค่ำคืนที่งดงาม

อย่างหนึ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคของภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ คือ ตอนนี้เราอาจจะระมัดระวังมากเกินไปหรือเปล่า ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกว่าไม่ใช่การมาเที่ยว ตั้งแต่ตรวจพีซีอาร์ บางคนตอนอยู่ประเทศเขายังไม่เคยต้องตรวจเลย และยังมีเรื่องของการทำประกัน นักท่องเที่ยวบางกลุ่มอย่างรัสเซีย มาถึงถ้าดื่มเหล้าไม่ได้ อย่างไรเขาก็ไม่มา ต้องยอมรับว่าหลายคนมาภูเก็ตเพราะต้องการไปเที่ยวป่าตอง แต่สถานที่ท่องเที่ยวไม่เปิด

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ พอมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ผู้ประกอบการกลุ่มร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ บางรายไม่ไหว ต้องปิดตัวไป ดังนั้นบางอย่างที่เคยเป็นเสน่ห์ของภูเก็ตที่ไม่ได้พูดถึงแต่โรงแรมหรือทะเล แต่เป็นบรรยากาศของการไปเดินตลาด ไปร้านในท้องถิ่นก็หายไปด้วย

พอไม่มีตรงนี้ เสน่ห์ของประเทศไทยก็หายไปเยอะเหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาจริงๆ นอกจากบอกว่าเราจะเปิดรับนักท่องเที่ยว อาจต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวที่เคยมาในปี 2019 ว่าจะกลับไปได้เต็มที่ขนาดไหน

จากแผนเปิดประเทศทั้ง 4 ระยะ ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ ถึง 15 มกราคม 65 เตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
เคสที่สนใจช่วงนี้คือโครงการหัวหิน รีชาร์จ ถามว่าเตรียมตัวอะไรไหม ต้องบอกว่าที่ผ่านมา โรงแรมหลายแห่งในหัวหินโดยเฉพาะของเรา เปิดให้บริการต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังนั้น เราก็ทำต่อไปในสิ่งที่ทำอยู่แล้วทั้ง เอทีเค วัคซีนต่างๆ นานา เพียงแต่ว่าเรื่องที่พยายามทำอยู่ คือการทำงานร่วมกับเอเยนต์ต่างประเทศ จุดบอดหนึ่งที่สำคัญหรือต้องให้ความสนใจในปัจจุบันคือความชัดเจนในเรื่องของนโยบาย

เวลาคุยกับเขา คำถามที่ชัดเจนก็คือ สรุปอย่างไรกันแน่ มีกลุ่มประเทศที่พร้อมจะเดินทางมาแต่เรายังไม่สามารถให้ข้อมูลเขาได้อย่างครบถ้วน เช่น หัวหิน ทุกคนถามหมดว่าเดินทางอย่างไรโดยเฉพาะในกรณีที่กรุงเทพฯยังไม่เปิด นอกจากนี้ ในเมื่อหัวหินไม่ได้เป็นเกาะเหมือนสมุยและภูเก็ต ต้องเดินทางด้วยรถ จะมีการเช็กรถทุกคันที่เข้าออกเขตจังหวัดหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่เราพยายามหาคำตอบให้เอเยนต์

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ แต่อาจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทำอะไรมากไม่ได้คือปัจจุบันสถานการณ์ประเทศไทยอยู่ใน ‘เรดลิสต์’ ของยุโรป ถ้าจะบินมาบ้านเรา มาได้ แต่ถึงเวลากลับไปต้องมีค่าใช้จ่ายในการกักตัวที่บ้านเขาอีก รู้สึกจะ 20 วัน ซึ่งเรียกว่ายากที่จะมีคนยอมเดินทางมา

จริงๆ แล้วผู้ประกอบการเข้าใจว่ารัฐบาลเองก็เจอปัญหาหนัก และสถานการณ์โควิดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน คิดว่าทุกคนพร้อมที่จะปรับ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม แต่ควรมีเวลาให้ปรับตัว ที่ผ่านมา บางทีข้ามคืน เราไม่ได้หวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว การท่องเที่ยวจะไปได้ นอกเหนือนโยบายจากรัฐบาล ก็คือนโยบายจากเอกชนเองด้วย

Beach Front ยามพระอาทิตย์ตกดินสุดโรแมนติก InterContinantal Hua Hin Resort

มีคำแนะนำเพิ่มเติมถึงภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่?
บางแห่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องของแรงงานที่หายไป อย่างภูเก็ตและหัวหินเอง ที่ผ่านมาพอมีการปิด มีการเลิกจ้าง แรงงานก็กลับภูมิลำเนา ส่วนมากอยู่ทางภาคอีสาน เรื่องหนึ่งที่น่ากลัวก็คือ สมมุติกลับมาเปิดได้เต็มๆ แรงงานจะขาดแคลน รัฐบาลอาจต้องลองหาวิธีให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย อย่างในต่างประเทศมีการให้ความช่วยเหลือด้านเงินเดือน คือตราบใดที่คุณไม่ได้ให้คนออก รัฐจะช่วยออกเงินเดือนในระดับหนึ่ง ทำให้ธุรกิจย่อยๆ สามารถไปต่อได้ เข้าใจว่าทำยาก ภาครัฐก็พยายามทำผ่านทางประกันสังคม แต่ตอนนี้ให้ในกรณีที่โดนปิด ไม่ได้พยายามให้คนเปิดต่อได้

จริงๆ แล้วโครงการที่คิดว่าช่วยได้เยอะคือ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ระยะที่ 1-2 หัวหินเห็นได้ชัดเลย เราเที่ยวด้วยกันมาปุ๊บ หน้ามือเป็นหลังมือ ตอนนี้ที่รัฐบาลช่วยคือ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเดินทาง โดยค่าอาหารให้ประมาณ 600 บาทต่อคืนที่เข้าพัก ถ้ามาหารดูแล้ว สมมุติไปเสาร์-อาทิตย์ คือ 1 คืน เฉลี่ยวันละ 300 บาท หากเดินทาง 2 คน ก็เหลือคนละ 150 บาท นี่อาจเป็นมูลค่าที่น่าพิจารณาว่าสามารถเพิ่มเติมเข้าไปอีกได้หรือไม่ หรืออาจเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลจากทางธนาคารบางโปรแกรมที่สนับสนุนในด้านการจ้างงานโดยเฉพาะ

บาร์เก๋ริมหาดหัวหิน ตกแต่งสไตล์ Art Deco ณ อินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหินรีสอร์ท

เสียงจากผู้ประกอบการรายย่อยหลายแห่ง โดยเฉพาะภาคบริการบอกว่า หลังรัฐบาลเริ่มคลายล็อก ผลประกอบการดีขึ้น แต่ยังเชื่อว่าไม่สามารถกลับมามีรายได้เท่าเดิมอีกในระยะอันใกล้ ในส่วนของโรงแรมขนาดใหญ่ มองอย่างไร?
ถ้าแบ่งเป็นไตรมาส มองว่าไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ กับไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า อย่างไรก็คงเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก เพียงแต่โปรแกรมต่างๆ คือการเริ่มต้นให้มีการเดินทางจากต่างประเทศ ถามว่าจะเห็นผลทันทีไหม คงเป็นไปได้ยาก เพราะมีทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ตราบใดที่ประเทศไทยยังมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเกินหมื่น เราติดเรดลิสต์ของทางยุโรป การที่เขาจะเดินทางมาก็เป็นเรื่องลำบากอยู่ดี

อย่างที่บอกว่าประสบการณ์ท่องเที่ยว เงื่อนไขการเข้าประเทศ การตรวจพีซีอาร์ต่างๆ คงต้องลองดูว่ารัฐบาลจะสามารถหาวิธีจัดการให้เดินทางได้อย่างสนุกขึ้นกว่าเดิมไหม ไม่ใช้คำว่าสบายด้วยนะ (หัวเราะ)

ไตรมาสแรกของปีหน้า นักท่องเที่ยวต่างประเทศ คงมีเข้ามาบ้าง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นไตรมาสที่ 2

ตัวแปรสำคัญที่สุดคือ ประเทศจีน ที่ผ่านมา เราพึ่งจีนเยอะมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบันเขาแทบไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย แต่ตอนเดินทางกลับ ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน ก็ต้องกักตัว 3 สัปดาห์ ตราบใดที่เขายังไม่อยากให้คนออกนอกประเทศ คิดว่าเราน่าจะยาก

เข้าใจว่าก่อนหน้านี้ ททท. ก็พยายามให้ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่ๆ ช่วงนี้กลุ่มที่เข้ามาภูเก็ตก็จะมีอิสราเอล หรือช่วงก่อนที่อินเดียจะเจอโควิดหนัก ตอนนั้นก็เคยคุยกันว่า หรือจะเริ่มโฟกัสไปหาอินเดียแทน เราก็พยายามหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ หาตลาดใหม่ๆ ด้วย

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ที่โควิดกลายเป็นจุดเปลี่ยน มีผู้คาดการณ์ว่ากว่าจะกลับสู่สภาวะปกติ อาจถึงปี 68-70 ส่วนตัวมองอย่างไร?
มองว่าข้อดีอย่างหนึ่งคือ คนที่เหลือ คนที่รอดมาได้ ทุกคนผ่านการปรับโครงสร้างต้นทุนของตัวเอง อย่างของเรา ค่าใช้จ่ายในการโอเปอเรต หายไปประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความที่ต้นทุนต่ำลง ในปีหน้ารายได้อาจไม่จำเป็นต้องกลับไปสูงเท่าเดิม และเท่าที่ทราบคือไม่ได้มีซัพพลายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเยอะ ตอนนี้เป็นภาพที่ผู้ประกอบการทุกคนจับมือกันชะลอการเปิดโครงการใหม่ ดังนั้น ถึงแม้ดีมานด์จะไม่ได้กลับมา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คิดว่าพอไปได้ อาจจะต้องใจเย็นๆ สักปี 66 ภาพน่าจะกลับมาดีขึ้น

สำหรับธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว คิดว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจให้ยั่งยืนขึ้น โรงแรมของเราที่ภูเก็ต ซึ่งโฟกัสนักท่องเที่ยวต่างประเทศ นี่คือบทเรียนเลยว่า สุดท้ายต้องกลับมาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศ และกระจายกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการทำมาร์เก็ตติ้ง หรือด้วยราคา ต้องยอมลดราคาบางส่วนเพื่อให้กลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศเข้าถึงได้

ส่วนอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย คือคอนโดมิเนียมเพื่อขาย อย่างที่เราเปิดตัวไปพร้อมกับโควิด คือ ‘อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน’ ขายระหว่างช่วงโควิดมาเรื่อยๆ ตอนนี้ยอดขายประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าเทรนด์มันกลับไปหาเรียลดีมานด์ โครงการที่เน้นเรียลดีมานด์จริงๆ ยังไปได้อยู่ อาจดูภาพรวมไม่ได้ ต้องดูโลเกชั่น

ถามในฐานะ ‘นักเดินทาง’ และผู้ชื่นชอบในการดำน้ำบ้าง ไลฟ์สไตล์ชีวิตช่วงโควิดเป็นอย่างไร?
ช่วงนี้ได้เที่ยวในประเทศเยอะ ใช้ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ครบสิทธิ (หัวเราะ) เพราะบางโรงแรม ไม่เอ่ยชื่อแล้วกัน ตั้งราคาไว้สูงมาก ไม่ใช่ว่าจ่ายไม่ไหว แต่ด้วยราคาขนาดนั้น บางทีเราก็ไปเมืองนอกเลย

ทัศนคติพนักงาน บางแห่งอาจจะชินกับการให้บริการแขกต่างประเทศเยอะ พอคนไทยเดินเข้าไป การต้อนรับอาจไม่เหมือนกัน พูดกันตรงๆ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าอย่างไรก็ต้องพึ่งการท่องเที่ยวในประเทศก่อน

ถ้าช่วงนี้ไปดำน้ำ จะสังเกตได้ว่าธรรมชาติดีกว่าเดิมหน้ามือเป็นหลังมือ ตั้งแต่จำนวนสปีดโบ๊ตที่ลดลง ขยะในทะเลที่น้อยลง ปริมาณปลาในท้องทะเลเพิ่มขึ้นเยอะมาก ความยั่งยืนของผู้ประกอบการ ก็เป็นภาพรวมความยั่งยืนของการท่องเที่ยวด้วย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราอาจโฟกัสจำนวนนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ แต่ตอนนี้เป็นการท่องเที่ยวที่อาจจะมี Value Added เยอะขึ้น นักท่องเที่ยวมาอยู่ยาวขึ้น ใช้เงินในประเทศจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่เคยเจอ เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือผู้ประกอบการในต่างประเทศเป็นผู้ให้บริการทั้งหมด เป็นจังหวะที่ทำให้เราได้รีเซตการท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง นี่เป็นข้อคิดในอนาคตว่าช่วงที่จะกลับมาเปิดใหม่อาจต้องมีเงื่อนไขอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

ถ้าไปอินโดนีเซียจะเห็นว่า มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวและคิดราคาต่อหัว ค่าเข้าอุทยานทางทะเลแพงกว่าไทย อย่างที่ไปมาแล้วประทับใจคือ หมู่เกาะราชาอัมพัต ทั้งทริปต่อวันแบบฟูลบอร์ด รวมอาหาร 3 มื้อ ประมาณเกือบๆ หมื่น เกาะของเขาเหมือนไม่มีคนอยู่ รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีมาก

ส่วนบ้านเรา ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติจ่าย 100 บาท จริงๆ แล้วควรคิดไปเลย 500-600 บาท

เพราะของเราคือของดี หาดูที่อื่นไม่ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image