ผลวิจัยมาเลเซียยืนยัน “วัคซีนซิโนแวค” มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันผู้ป่วยโควิดอาการหนัก

(AP Photo/Rogelio V. Solis, File)

ผลวิจัยมาเลเซียยืนยัน “วัคซีนซิโนแวค” มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันผู้ป่วยโควิดอาการหนัก

รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 24 กันยายนนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยในสภาพการใช้งานจริงของ วัคซีนป้องกันโควิด-19 จาก 3 บริษัท ทั้ง ไฟเซอร์/ไบออนเทค, แอสตร้าเซนเนก้า และ ซิโนแวค พบว่า ซิโนแวค มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการรุนแรงถึงกับต้องเข้าไอซียู แม้ว่า ไฟเซอร์ และ แอสตร้าเซนเนก้า จะมีผลในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงกว่าก็ตาม

งานวิจัยดังกล่าว ดำเนินการโดย สถาบันเพื่อการวิจัยเชิงคลินิค (ไอซีอาร์) ร่วมกับ สำนักงานเฉพาะกิจในการรับมือกับโรคโควิด-19 ของมาเลเซีย โดยศึกษาวิจัยจากผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 14.5 ล้านคน ในช่วงระยะเวลากว่า 5 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

ผลการศึกษาพบว่า ในจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัท ซิโนแวค จากประเทศจีน 7.2 ล้านคน มีเพียง 0.011 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ติดเชื้อและมีอาการหนักจนถึงกับต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เปรียบเทียบกับ ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค จำนวน 6.5 ล้านคนที่มีเพียง 0.002 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู ในขณะที่ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 744,958 คน มีเพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อาการหนักต้องเข้าไอซียู

นาย กาไลอราสุ พีไรอัษมี ผู้อำนวยการไอซีอาร์ ระบุว่า โดยรวมแล้วผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ว่าจะเป็นของบริษัทใดก็ตาม ให้ประสิทธิภาพสูงมากเพราะสามารถลดความเสี่ยงในการต้องรักษาตัวในไอซียูลงได้ถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลง มากถึง 88 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อมีอาการหนักถึงขั้นไอซียูอยู่ในระดับต่ำมาก คิดเป็นสัดส่วนได้เพียง 0.0066 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตนั้นก็ต่ำมากเช่นกัน คือแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีหรือสูงกว่าและมีโรคประจำตัวอีกด้วย

Advertisement

รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตุว่า ผลวิจัยครั้งนี้ส่งผลดีต่อบริษัทซิโนแวค หลังจากที่วัคซีนของบริษัทถูกตั้งข้อกังขาอย่างมากในแง่ประสิทธิภาพ เพราะมีรายงานพบการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งใน ไทย และ อินโดนีเซียก่อนหน้านี้

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ทางการมาเลเซียเองก็ประกาศหยุดการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับประชากรของตนเมื่อวัคซีนที่มีอยู่หมดลง โดยระบุว่ามีวัคซีนอื่นๆ มากพอสำหรับฉีดให้ประชาชนแล้ว

ทั้งนี้ มาเลเซียฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มให้กับประชาชนไปแล้วราว 58.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด 32 ล้านคน โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วมากถึง 68.8 เปอร์เซ็นต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image