ภูเก็ตปรับแผน เพิ่มกำลังฉีดเข็ม 3 แบบเข้าชั้นผิวหนัง ตั้งเป้า 2 แสนคนภายในสิ้นเดือน ก.ย.

ภูเก็ตปรับแผน เพิ่มกำลังฉีดเข็ม 3 แบบเข้าชั้นผิวหนัง ตั้งเป้า 2 แสนคนภายในสิ้นเดือน ก.ย.

เมื่อวันที่ 25 กันยายน  จากการที่ศูนย์วัคซีนภูเก็ตพร้อมใจเปิดบริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แบบเข้าชั้นผิวหนังเมื่อวันที่ 24 กันยายนได้มีประชาชนที่ลงทะเบียนล่วงหน้าได้เข้ามารับบริการอย่างคึกคัก

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ในวันแรกทุกศูนย์ได้เปิดลงทะเบียนเพียง 60% ของกำลังการฉีดเท่านั้นเพื่อวางระบบให้พร้อม ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติงานได้ไม่มีข้อติดขัด  จึงมีแนวคิดที่จะปรับแผนให้เพิ่มปริมาณการฉีดให้ได้ 100% เพื่อให้ประชาชนชาวภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็ม 3 ให้เร็วที่สุด โดยตั้งเป้าที่ 200,000 คน ภายในสิ้นเดือนกันยายน

Advertisement

นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 แต่ได้รับวัคซีน Sinovac เข็มที่สองจากภูเก็ตต้องชนะก่อนเดือนกรกฎาคม และเป็นผู้มีทะเบียนบ้านในภูเก็ต หรือเคยลงทะเบียนแบบองค์กรโดยได้รับการรับรองการทำงานหรือการพำนักในจังหวัดภูเก็ต จากฝ่ายปกครอง,องค์การส่วนท้องถิ่น หรือ รพ.สต. (นำเอกสารมายื่นเป็นหลักฐานที่ศูนย์ฉีด) เข้ามาจองวันเวลารับวัคซีนเข็ม 3 ระหว่างวันที่ 25-30 กันยายนที่ www.ภูเก็ตต้องชนะ.com ” นายแพทย์เฉลิมพงษ์ กล่าว

ทางด้าน นายวีระชัย ปรานวีระไพบูลย์ CEO, The Attitude Club ผู้เข้ารับการฉีดวันแรกได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนดีใจที่ได้ฉีดแบบเข้าชั้นผิวหนังเป็นกลุ่มแรกๆของประเทศ ส่วนตัวไม่มีความกังวลใดๆและมั่นใจในความปลอดภัย พยาบาลฉีดเบาและเร็วไม่รู้สึกเจ็บ ตนรู้สึกดีที่ได้รับวัคซีนแบบนี้เพราะช่วยให้คนอื่นได้รับวัคซีนได้มากขึ้นเพราะการฉีดแบบนี้ช่วยประหยัดวัคซีนได้ถึง 5 เท่า ขอเชิญชวนคนที่ยังไม่ได้ฉีดให้มาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง

Advertisement

การฉีดแบบเข้าชั้นผิวหนังเป็นเทคนิคที่มีการปฏิบัติอยู่แล้วทั่วไป ใช้ในการฉีดโบท็อกซ์ การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทดสอบภูมิแพ้ เป็นต้น วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ปลอดภัยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเนื่องจากใช้วัคซีนน้อยกว่าแต่ให้ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกัน

โดยมีผลวิจัยเรื่องภูมิคุ้มกันโควิด-19ที่รพ.วชิระภูเก็ตทำขึ้นเป็นเครื่องยืนยัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงเรียนแพทย์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ทำขึ้นซึ่งได้ผลใกล้เคียงกัน การฉีดเข้าชั้นผิวหนังให้ผลที่ดีเนื่องจากในผิวหนังมีเซลล์ที่ทำหน้าที่คอยจับเชื้อโรคและส่งสัญญานให้เม็ดเลือดขาวในการสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่ากล้ามเนื้อ วิธีฉีดแบบชั้นผิวหนังห่างเส้นเลือดจึงทำให้การดูดซึมเข้ากระแสเลือดช้าจึงส่งผลข้างเคึยงน้อยกว่า แต่กระตุ้นภูมิได้รวดเร็ว

การฉีดเทคนิคนี้ไม่ยากซึ่งบุคคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนอยู่เสมอสามารถเรียนรู้และทำได้ โดยทุกโรงพยาบาลได้ทำการฝึกอบรมบุคคลากรก่อนเปลี่ยนวิธี โดยผู้เข้ารับการฉีดสามารถสังเกตได้ว่าเมื่อฉีดแล้วชั้นผิวหนังจะบวมเป่ง หรือมี wheel ขึ้นมาประมาณ 0.8-1 ซม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image