บทความพิเศษ : การเผชิญหน้าทางทหาร ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับอินโด-แปซิฟิก

เรือดำน้ำ เอฟเอ็นเอส อเมทิสต์ (เอส605) ของฝรั่งเศสในลำน้ำเธมส์ ระหว่างเดินทางเยือน ฐานทัพเรือดำน้ำนิวลอนดอน ที่เมือง โกรตัน ในรัฐคอนเนกติกัต สหรัฐอเมริกา เมื่อ 1 กันยายนที่ผ่านมา (ภาพ-Chief Mass Communication Specialist Joshua Karsten/U.S. Navy via AP)

การเผชิญหน้าทางทหาร ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับอินโด-แปซิฟิก

“การเผชิญหน้าทางทหารไม่อาจเป็นทางเลือกสำหรับอนาคตของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกซึ่งขึ้นอยู่กับทางสายที่สาม (Third Way) ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ”

ฝรั่งเศสเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวของออสเตรเลียที่จะยุติ “โครงการเรือดำน้ำแห่งอนาคต” (Future Submarine Program: FSP) ซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์แห่งความไว้วางใจที่เชื่อมโยงสองประเทศเข้าด้วยกันจนกระทั่งไม่นานมานี้วมถึงการตัดสินใจของออสเตรเลียที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอเมริกา อันนำไปสู่การกันสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศหนึ่งออกไปจากความเป็นหุ้นส่วนที่กำลังก่อตัวขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การตัดสินใจเลือกอย่างทันทีทันใดและสร้างความประหลาดใจเช่นนี้ไม่เพียงขัดแย้งกับตัวอักษรและเจตนารมณ์ของความตกลงระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดความเสมอต้นเสมอปลายในช่วงเวลาที่เราต้องการความคาดการณ์ได้และความเชื่อถือได้เพื่อให้สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมซึ่งจะช่วยเสริมสร้างระเบียบพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา รวมทั้งเพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลก ปูพื้นฐานการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนในยุคหลังโควิด ส่งเสริมประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และพันธกรณีที่ตกลงในระดับสากล อาทิ วาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement on Climate Change) ตลอดจนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ
ดังที่สะท้อนให้เห็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นพื้นที่ซึ่งกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์อย่างลึกซึ้ง อำนาจที่เพิ่มขึ้นและการอ้างสิทธิทางดินแดนของจีน รวมถึงการแข่งขันระดับโลกกับสหรัฐอเมริกาที่กำลังดำเนินอยู่ กำลังสร้างความอ่อนแอให้กับสมดุลอำนาจในภูมิภาคแห่งนี้ นอกจากนี้ บริบทดังกล่าวถูกทำให้เห็นเด่นชัดขึ้นจากภัยคุกคามข้ามชาติ ปัญหาการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และผลกระทบต่อความมั่นคงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ มหาสมุทรเป็นศูนย์กลางของความตึงเครียด การรักษาความปลอดภัยเส้นทางคมนาคมทางทะเลและเสรีภาพในการเดินเรือยังคงเป็นประเด็นสำคัญ
อนาคตของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเกิดขึ้นของมหาอำนาจในภูมิภาคหรือการสร้างพันธมิตรทางทหาร ภูมิภาคดังกล่าวต้องการแนวทางใหม่นั่นคือ ทางสายที่สาม (Third Way) ซึ่งเป็นทางเลือกแทนการเผชิญหน้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ต่างสนับสนุนการพัฒนาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับการพูดคุยและความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน
นี่คือแนวทางที่ฝรั่งเศสเสนอ โดยเมื่อ พ.ศ. 2561 ฝรั่งเศสได้เห็นชอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นพื้นที่เปิดกว้างและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ปราศจากการบีบบังคับทุกรูปแบบ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมพหุภาคีนิยมและการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ประเด็นดังกล่าวยังถือเป็นความสำคัญอันดับแรกของสหภาพยุโรปซึ่งเพิ่งเผยแพร่เอกสารแถลงร่วมว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือของสหภาพยุโรปในอินโด-แปซิฟิก (Joint Communication on the European Strategy for Cooperation in the Indo-Pacific) การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากขึ้นของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะช่วยรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในภูมิภาคอันกว้างใหญ่แห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งไว้แล้วในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาเซียน ซึ่งเราสนับสนุนหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียนอย่างเต็มกำลัง
ฝรั่งเศสจะดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยมีความมุ่งมั่นมากกว่าที่เคยเป็นมาที่จะส่งเสริมวาระสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสรีภาพในอำนาจอธิปไตยของทุกฝ่าย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นศูนย์กลางความสำคัญอันดับแรกของฝรั่งเศสซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ฝรั่งเศสได้รับสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน รวมถึงการแสดงความประสงค์ของฝรั่งเศสที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers Meeting Plus: ADMM+) ตลอดจนการที่ฝรั่งเศสตัดสินใจที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศหลักๆ ในภูมิภาค อาทิ ไทย โดยฝรั่งเศสและไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ Roadmap เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
การตัดสินใจที่น่าเสียใจที่เพิ่งประกาศออกมาเกี่ยวกับโครงการ FSP ตอกย้ำความมุ่งมั่นและความจำเป็นของเราที่จะต้องส่งเสริมการปรับยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปให้เป็นอิสระ (European Strategic Autonomy) ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่น่าเชื่อถือในการส่งเสริมคุณค่าของเราในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เรามีความยินดีที่จะแบ่งปันวัตถุประสงค์ที่นำเสนอในเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อ พ.ศ. 2562 ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย
ด้วยดินแดนโพ้นทะเลและประชาคมโพ้นทะเลซึ่งมีประชากรเกือบ 2 ล้านคน ทำให้ฝรั่งเศสมีเขตเศรษฐกิจจำเพาะใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (10.2 ล้านตารางกิโลเมตร) โดยมีบุคลากรทหารประจำการมากกว่า 7,000 นาย ฝรั่งเศสถือเป็นชาติหนึ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วยตัวของตัวเอง และต้องการเป็นมหาอำนาจผู้รักษาเสถียรภาพในภูมิภาคแห่งนี้ ในอนาคตข้างหน้าที่จะมาถึง ฝรั่งเศสจะเปิดตัวประเด็นที่มีความสำคัญอันดับแรกร่วมกับประเทศหุ้นส่วนในสหภาพยุโรปเพื่อเสนอวิธีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เป้าหมายของเรามีความชัดเจน ได้แก่ ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม การเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด การขนส่งที่สะอาด การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการมหาสมุทรที่ยั่งยืน การเชื่อมโยงระหว่างกันที่ดียิ่งขึ้นโดยครอบคลุมการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนด้านดิจิทัล ตลอดจนความมั่นคงของมนุษย์โดยให้ความสำคัญอันดับแรกกับประเด็นสุขภาพ
เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายเหล่านี้ ฝรั่งเศสและประเทศหุ้นส่วนในสหภาพยุโรปจะยังคงส่งเสริมสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงที่เปิดกว้างและตั้งอยู่บนกฎกติกา รวมทั้งเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่ปลอดภัย การเสริมสร้างขีดความสามารถและการเพิ่มการแสดงกำลังทางเรือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกตามกรอบกฎหมายภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ความมั่นคงและการป้องกันประเทศเป็นเสาหลักสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ฝรั่งเศสมุ่งหมายที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ต่างๆ ของภูมิภาค อาทิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง นอกจากนี้ยังมุ่งหมายที่จะอยู่เคียงข้างหุ้นส่วนของเราในการรักษาการเข้าถึงพื้นที่ร่วมในบริบทการแข่งขันทางยุทธศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางทหารที่ถูกจำกัดมากขึ้น มีส่วนร่วมในการรักษาเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์และสมดุลอำนาจทางทหารผ่านการดำเนินการระหว่างประเทศโดยอาศัยหลักพหุภาคีนิยม รวมถึงเตรียมการป้องกันความเสี่ยงด้านความมั่นคงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในบริบทดังกล่าว เราจะยังคงยืนยันการแสดงกำลังทางเรือของเราในภูมิภาค พร้อมกับสร้างความหลากหลายและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความเป็นหุ้นส่วนของเราต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งกับไทย ภูมิภาคแห่งนี้ต้องการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่ใช่การเผชิญหน้า

ตีแยรี มาตู
เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image