ไม่มีสวรรค์ ไม่มีนรก ไม่มีโลกหน้า จากศาสนาผี ถึง‘ศาสนาไทย’ ในความเชื่อหลากหลายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ชิงช้าของชาวอีก้อ พิธีกรรมพื้นเมืองที่นำไปสู่การโล้ชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์สมัย ร.5 โดยได้ต้นแบบจากโล้ชิงช้าของกลุ่มชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ เพราะไม่พบในพิธีพราหมณ์อินเดีย (ภาพจาก นายไหม. “โล้ชิงช้าบูชาอึมซาแยะ พิธีกรรมของอีก้อ”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2528)

หลังกระแสถกเถียงการไลฟ์สดเทศนาธรรมปนขำขันผ่านเฟซบุ๊กของ 2 พส. มหาเปรียญ 2 รูปแห่งวัดสร้อยทอง โดยเฉพาะฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยหยิบยกประเด็นเรื่องความเหมาะสม พร้อมขีดเส้นเน้นย้ำพระธรรมวินัยหรืออะไรต่อมิอะไรมาเป็นเหตุผลประกอบ

2 สว. (สูงวัย) ในฐานะ (อดีต) สองกุมารสยามอย่าง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ ก็ไม่น้อยหน้า เตรียมโปรแกรมไลฟ์ในประเด็นศาสนาพุทธแบบไทยๆ ในตอน ‘ศาสนาผี ที่สุดในโลก ผี, พุทธ, พราหมณ์ ประจำชาติ ศาสนาไทย’ ในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือนเช่นเคย โดยเดือนนี้ตรงกับวันที่ 30 กันยายน เวลา 2 ทุ่มตรงดังเดิม

พุทธปนผี เมื่อราว พ.ศ. 1400 หรือราว 1,100 ปีมาแล้ว สะท้อนในภาพสลักนูนต่ำบนเสมาหินทราย พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าเรื่องพระพุทธองค์เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ คราวนั้นพระนางยโสธราพิมพาทรงสยายพระเกศาเช็ดพระบาทพระพุทธองค์ ซึ่งไม่พบในชาดกจากอินเดียและลังกา) นับเป็นประเพณีท้องถิ่นอุษาคเนย์ เพราะตรงโคนเส้นพระเกศาบริเวณกระหม่อมเป็นที่สิงสู่ของ ‘(จอม)ขวัญ’ ในร่างกายคนอันเป็นความเชื่อในศาสนาผีของคนพื้นเมือง เส้นพระเกศาจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของคนท้องถิ่น

เตรียมเปิดประเด็นย้อนไปถึงศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง ‘ศาสนาผี’ มีหลักฐานอย่างพีระมิดในอียิปต์,
สุสานจิ๋นซีในจีน, เทวสถานของชนเผ่ามายาในอเมริกาใต้ และอื่นๆ อีกมากมาย ก่อนโยงเข้าสู่เขตแดนประเทศไทยตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐชาติ ก็เริ่มต้นด้วยศาสนาผีที่ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีเทวดานางฟ้า, ไม่มีสวรรค์นรก, ไม่มีวิญญาณ ฯลฯ

นับถืออำนาจเหนือธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ คือผี นับเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลกเพราะมีก่อนศาสนาอื่นๆ และมีคนนับถือมากที่สุดในโลก แม้คนทั่วไปไม่ยอมรับเป็นศาสนา แต่ทางวิชาการสากลนับเป็นศาสนา สื่อสารไปมาถึงกันผ่าน ‘คนทรง’ ไม่ว่าจะเรียกด้วยคำว่าอะไรก็ตามแต่

Advertisement

จากภาพกว้างทั้งโลก ขรรค์ชัย-สุจิตต์ จะจูงมือแฟนๆ รายการแบบเว้นระยะห่างเข้ามายังสังคมวัฒนธรรมอุษาคเนย์ และสยามประเทศไทย ซึ่งยอมรับนับถือความเชื่อหลากหลาย หลอมรวม
เป็น ‘ศาสนาไทย’ ที่ประกอบด้วยศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ

จุกบนหัวเด็กอยู่บริเวณกลางกระหม่อมเชื่อว่าเป็นตำแหน่งขวัญสำคัญที่สุด เรียก ‘จอมขวัญ’ ในศาสนาผี แต่สมัยหลังถูกผนวกกับพราหมณ์ผสมพุทธ ดังปรากฏในการโกนจุกโดยพระสงฆ์ และพิธีที่โบสถ์พราหมณ์ (ภาพเด็กผมจุกที่วัดไทร บางขุนเทียน กรุงเทพฯ โดย เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2521)

“ศาสนาไทย ประกอบด้วย ผี, พราหมณ์, พุทธ ไทยนับถือศาสนาไทย แต่เข้าใจผิดว่านับถือพุทธซึ่งคนกลุ่มหนึ่งต้องการให้เป็นศาสนาประจำชาติ” 2 สว.ร่วมกันบอกเล่า ก่อนแย้มน้ำจิ้มถ้วยเด็ดในประเด็น ‘ผีฟ้า’ คำคุ้นหูคนไทยโดยเฉพาะในท้องถิ่นต่างๆ ที่ยังคงมีพิธีกรรมเก่าแก่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“ผีฟ้ามีอำนาจเหนือธรรมชาติสูงสุดอยู่บนฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า

Advertisement

เป็นแหล่งรวมพลังขวัญของคนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาผีฟ้าถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน ซึ่งได้จากภาษฮั่นว่าเทียน แปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า” ขรรค์ชัย-สุจิตต์เตรียมหยิบยก พงศาวดารโยนก ของ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ซึ่งเรียบเรียงไว้เมื่อปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ครั้ง พ.ศ.2451 มาเปิดเผยในรายการ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องราวของ ‘ประเพณีสืบสองเดือน’ อันสอดคล้องกับสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมทั่วไทย ที่ในอดีตไม่ได้ใช้วิธี ‘สวดมนต์’ ไล่พายุ หากแต่มีการ ‘โล้ชิงช้า’ ไล่น้ำที่มีรากฐานจากศาสนาผี ก่อนถูกผนวกกับศาสนาพราหมณ์ฮินดูในท้องถิ่นภายหลัง

“ประเพณี 12 เดือนทางศาสนาผีเกี่ยวข้องวิถีทำนาทำไร่ เฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา เช่น เดือนอ้าย (เดือน 1) ทางจันทรคติ โล้ชิงช้าขอลมขอแดดบ่มพืชพันธุ์ในไร่นาสุกเหลืองอร่ามพร้อมเก็บเกี่ยว บริเวณที่ลุ่มน้ำท่วมข้าวก็ขอลมพัดแรงๆ ไล่น้ำลดลงเร็วๆ ชาวนาจะได้เข้าถึงทุ่งนาแล้วเก็บเกี่ยวข้าวเต็มรวงแก่จัดแล้ว”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังเตรียมย้อนประวัติศาสตร์การมาถึงของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่ทั้งคู่บอกว่า

‘ลงเรือของพ่อค้าลำเดียวกัน’ อาศัยเดินทางจากอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดการปะทะสังสรรค์ กระทั่งขัดแย้งทางความคิดกับศาสนาผีของคนพื้นเมือง ปรากฏคำบอกเล่าในตำนาน ‘มหาวงษ์’ พงศาวดารลังกา รวมถึง ‘อุรังคธาตุ’ ตำนานพระธาตุพนม

“คัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา แต่งเป็นภาษาบาลี โดยพระมหานาม ระหว่าง พ.ศ.1002-1020 แปลเป็นภาษาไทยในแผ่นดิน รัชกาลที่ 1 เนื้อหาสาระสำคัญแสดงความขัดแย้งระหว่างศาสนาผีความเชื่อดั้งเดิมกับศาสนาพุทธความเชื่อใหม่จากอินเดีย โดยผูกเรื่องเป็นนิทานการปะทะต่อสู้ระหว่าง ผีเสื้อน้ำ ตัวแทนศาสนาผี กับพระสงฆ์ 2 รูป ตัวแทนศาสนาพุทธ

ผีเสื้อน้ำเบียดเบียนชาวสุวรรณภูมิทั้งผู้ดีและไพร่ โดยกินทารกแรกเกิดทั้งในเรือนหลวงและในเรือนไพร่ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระไปสุวรรณภูมิเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา เมื่อรู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนก็ปราบผีเสื้อน้ำหมดไป จากนั้นจึงสั่งสอนชาวสุวรรณภูมิเข้าถึงศาสนาพุทธ” อดีต 2 กุมารสยามร่วมกันเล่าเรื่องราวเปี่ยมสีสันด้านศาสนาซึ่งจะไลฟ์ให้ชมเต็มๆ ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้อีกประเด็นปิดท้ายที่ทั้ง 2 วิทยากรอาวุโสไม่พลาด นั่นคือข้อมูลประวัติศาสตร์ ‘สุวรรณภูมิ’ ซึ่งเป็น ‘ชุมทางการค้า’ ระหว่างอินเดียกับจีนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว นั่นคืออุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ ที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักร และไม่มีขอบเขตแน่นอน

“สุวรรณภูมิแปลว่าดินแดนทอง ซึ่งมาจากการที่บ้านเมืองของผู้คนมากความรู้ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับทองสำริดเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ขณะเดียวกันก็มีแหล่งแร่ทองแดงเป็นทรัพยากรในดินตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำโขง ต่อมาเมื่อการค้ารุ่งเรืองเฟื่องฟูมากขึ้น กลุ่มชนชั้นนำมีอำนาจในอินเดียและลังกาส่งพระสงฆ์อาศัยไปกับเรือค้าขายเพื่อเผยแผ่ศาสนาพุทธที่สุวรรณภูมิ ด้วยหวังผลในการควบคุมเส้นทางและชุมทางการค้านั้น

สุวรรณภูมิเป็นชุมทางการค้าทางไกลระหว่างอินเดียกับจีน แล้วสร้างความมั่งคั่งให้ผู้เสี่ยงภัยเดินทางไปค้าขายสิ่งของมีค่า ดังนั้น กำเนิดของสุวรรณภูมิไม่เป็นรัฐ, ไม่เป็นอาณาจักร, ไม่มีขอบเขตแน่นอน รวมทั้งไม่เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาใดๆ และไม่เป็นอาณานิคมอินเดีย”

อย่าลืมรับชมไลฟ์ 2 สว.กันให้ถล่มทลาย กดแชร์ กดไลค์ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์นอกแบบเรียนกระทรวงศึกษาฯ ร่วมเรียนรู้และเข้าใจในศาสนาที่เลื่อนไหลไม่เคยหยุดนิ่ง

รับชมรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์
ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน ‘ศาสนาผี ที่สุดในโลก ผี, พุทธ, พราหมณ์ ประจำชาติ ศาสนาไทย’ ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ในวันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายนนี้ เวลา 20.00 น.

ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว ชมรายการย้อนหลังและคลิปสั้นสุดพิเศษได้ทางเพจ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image