เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ดีกว่าเรือดำน้ำธรรมดาอย่างไร และใครมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์บ้าง

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดมีกลุ่มพันธมิตรที่สำคัญเรียกว่า AUKUS ซึ่งเป็นสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ เพื่อจัดตั้ง “พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง” ระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย พูดกันง่ายๆ คือการรวมกลุ่มกัน 3 ประเทศ เพื่อต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนที่อ้างสิทธิเอาทะเลจีนใต้แทบทั้งทะเลเป็นของจีนนั่นเอง เพราะอังกฤษและสหรัฐอเมริกาสัญญาจะช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ทางออสเตรเลียแสดงความตั้งใจที่จะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ถึง 8 ลำ โดยจะสร้างที่เมืองแอดิเลดของออสเตรเลียนั่นเอง

จากการที่มีข้อตกลงที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาสัญญาว่าช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นี่เอง ทำให้ออสเตรเลียแจ้งไปยังทางฝรั่งเศสเพื่อยกเลิกสัญญาที่ออสเตรเลียจ้างให้ฝรั่งเศสสร้างเรือดำน้ำธรรมดาจำนวน 12 ลำ เป็นเงินกว่า 56,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ทั้งๆ ที่ออสเตรเลียว่าจ้างฝรั่งเศสให้สร้างเรือดำน้ำดีเซล 12 ลำ ให้กองทัพเรือออสเตรเลียเพื่อทดแทนเรือดำน้ำฝูงปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่จะถึงกำหนดปลดระวางใน พ.ศ.2569 โดยที่ฝรั่งเศสชนะการประมูลเหนือเยอรมนีและญี่ปุ่นสำหรับโครงการ
สร้างเรือดำน้ำดีเซล 12 ลำ ใน พ.ศ.2559 แต่ออสเตรเลียก็เบี้ยวเอาดื้อๆ แต่ในที่สุดก็คงถูกปรับหลายเงินอยู่ แต่ผู้เสียหายหนักก็คือฝรั่งเศสนั่นเอง เพราะถูกออสเตรเลียเทเสียกลางคันหากหยุดสร้างก็เสียดายเงินทุนที่ลงไปแล้ว หากสร้างต่อไปก็ไม่เป็นประโยชน์นอกจากจะเกลี้ยกล่อมขายต่อให้ประเทศไทยได้บ้างเท่านั้น

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงเลยตลอดอายุการทำงาน 25 ปี ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สามารถดำน้ำอยู่ที่ระดับความลึกได้ยาวนานเป็นเดือนโดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ ภายในเรือยังมีอุปกรณ์การสร้างออกซิเจนจากน้ำทะเล และมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับการเก็บเสบียงอาหาร และน้ำจืด ทำให้ลูกเรือสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยาวนานใต้ทะเลลึกโดยสามารถอยู่ใต้น้ำได้นาน 90 วัน ก่อนที่จะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อเติมเสบียงซึ่งตรงกันข้ามกับเรือดำน้ำดีเซลที่ต้องบรรทุกถังน้ำมันเป็นจำนวนมากเพื่อเอาไว้เติมน้ำมันในการปฏิบัติภารกิจทำให้มีพื้นที่คับแคบสามารถบรรทุกอาวุธได้น้อยเพียงตอร์ปิโด หรือจรวดมิสไซล์เพียง 12-20 ชุด นอกจากนี้ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ยังทำให้ระบบเรือต่อต้านเรือดำน้ำต้องยากลำบากเป็นอย่างมาก เพราะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สามารถดำลงไปที่ระดับความ
ลึก 600 เมตร และสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง 30-35 นอต (56-65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
เมื่ออยู่ใต้น้ำ ในขณะที่เรือดำน้ำดีเซลสามารถดำน้ำได้ลึก 150-300 เมตร และทำความเร็วสูงสุดได้ 15-20 นอต (28-37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ดังนั้น ประเทศใดที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นการข่มขวัญกองทัพศัตรูได้เป็นอย่างดี แต่การที่จะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเทคโนโลยีในการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเรือดำน้ำนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากต้องใช้งบประมาณในการสร้างขึ้นมาแต่ละลำเป็นเงินมหาศาล จึงมีเพียง 6 ประเทศในโลกเท่านั้นคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย ที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังคงใช้เรือดำน้ำดีเซลอยู่

Advertisement

สําหรับประเทศที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ มีดังนี้คือ

สหรัฐอเมริกา มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 68 ลำ

รัสเซีย มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 29 ลำ และเรือดำน้ำดีเซลที่สามารถยิงจรวดติดหัวระเบิดนิวเคลียร์ได้อีก 11 ลำ นอกจากนี้ ยังมีเรือดำน้ำดีเซลอีก 9 ลำ

สาธารณรัฐประชาชนจีน มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 12 ลำ และมีเรือดำน้ำดีเซลอีก 47 ลำ

อังกฤษ มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 11 ลำ

ฝรั่งเศส มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 8 ลำ

อินเดีย มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 1 ลำ และมีเรือดำน้ำดีเซลอีก 15 ลำ

ครับ! ยังไม่เคยมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์
ลำใดเลยในประวัติศาสตร์ที่ยิงจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์เข้าถล่มเป้าหมายบนภาคพื้นทวีปเลย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าในอนาคตจะไม่มี

เราทุกคนต่างอาศัยอยู่บนโลกที่มีโอกาสจะถล่มทลายลงด้วยอาวุธนิวเคลียร์เมื่อใดก็ได้ เพราะศักยภาพจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้ง 6 ประเทศ ก็เกินพอแล้วที่จะทำลายโลกทั้งใบนี้ได้โดยไม่ยากนัก

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image