เรียนไทยได้จีน : นิทานสุภาษิตจีน (237) 成语故事 (二三七)

เรียนไทยได้จีน : นิทานสุภาษิตจีน (237) 成语故事 (二三七)

นิทานสุภาษิตจีนที่ “เรียนไทยได้จีน” จะนำเสนอในฉบับนี้คือ 朝秦暮楚 zhāo qín mù chǔ (เจา ฉิน มู่ ฉู่) โดย คำว่า 朝 zhāo (เจา) แปลว่า ตอนเช้า ช่วงเช้า 秦 qín (ฉิน) แปลว่า รัฐฉิน รัฐหนึ่งในเจ็ดแห่งยุครัฐศึก 暮 mù (มู่) แปลว่า เย็น ช่วงพลบค่ำ 楚 chǔ (ฉู่) แปลว่า รัฐฉู่ รัฐหนึ่งในเจ็ดแห่งยุครัฐศึก เมื่อรวมกันแล้วจะหมายถึง ช่วงเช้าก็เข้าข้างรัฐฉิน พอพลบค่ำก็ไปเข้าข้างรัฐฉู่ หมายความว่า โลเลไปมา ไม่มีหลักการที่แน่ชัด ใครว่าอะไรก็เอนไปตามนั้น มักจะใช้เทียบกับคนที่มีนิสัยโลเล หรือการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบโลเลเหมือนไม้ปักเลน มาดูนิทานตัวอย่างกัน

ประเทศจีนในช่วงยุครัฐศึก 战国/戰國 Zhànɡuó (จ้านกั๋ว) 475 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช ประเทศจีนถูกแบ่งแยกเป็นเจ็ดรัฐ ได้แก่ 齐国/齊國 Qí ɡuó (ฉีกั๋ว) รัฐฉี 秦国/秦國 Qín ɡuó (ฉินกั๋ว) รัฐฉิน 楚国/楚國 Chǔ ɡuó (ฉู่กั๋ว) รัฐฉู่ 燕国/燕國 Yān ɡuó (เยียนกั๋ว) รัฐเยียน 韩国/韓國 Hán ɡuó (หานกั๋ว) รัฐหาน 魏国/魏國 Wèi ɡuó (เว่ยกั๋ว) รัฐเว่ย และ 赵国/趙國 Zhào ɡuó (จ้าวกั๋ว) รัฐจ้าว ทั้งเจ็ดรัฐต่างคิดการใหญ่ อยากจะเป็นผู้รวบรวมแผ่นดินให้กลับคืนมาเป็นแผ่นเดียวกันอีก จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง และเกิดสงครามชิงดินแดน ชิงความเป็นใหญ่อย่างไม่หยุดหย่อน

โดยในช่วงต้นของยุคนั้น รัฐฉินถือได้ว่าเป็นรัฐที่ล้าหลัง และมีสภาพกันดารที่สุด จึงไม่เป็นที่สนใจ และไม่ค่อยมีเรื่องกับใครมากนัก แต่ต่อมาช่วง 361 ปีก่อนคริสต์ศักราช ผู้นำรัฐฉินคนหนึ่งได้ทำการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างขนานใหญ่ จึงทำให้รัฐฉินค่อยๆ เจริญ และเข็มแข็งขึ้นมา ซึ่งกว่ารัฐทั้งหลายจะรู้ตัว รัฐฉินก็กลายเป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่ จนรัฐเล็กๆ ที่เหลือยากจะต่อกรเพียงลำพังกับรัฐฉินได้ จึงรวมตัวกันต่อต้านรัฐฉินอย่างเต็มที่

Advertisement

ที่มาภาพ:https://m.sohu.com/a/215613520_777364 

ในช่วงนี้ รัฐทางใต้นามว่ารัฐฉู่ ก็ได้ผ่านการปฏิรูปประเทศมาบ้างเช่นกัน ก็ทำให้รัฐฉู่เข้มแข็งขึ้นมาพร้อมกับรัฐฉิน สองรัฐยิ่งใหญ่นี้ ต่างก็ต้องการเป็นหนึ่งเดียวในหล้า จึงก่อศึกชิงความเป็นจ้าวอยู่เสมอ แน่นอนว่าการทำศึกแต่ละครั้ง ย่อมผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ต่อมาต่างฝ่ายต่างก็ต้องหาพรรคพวกมาช่วยตน จึงดำเนินนโยบายบีบรัฐเล็กๆ ที่เหลือให้เลือกข้าง ด้วยสถานการณ์แบบนี้ รัฐเล็กรัฐน้อยที่เหลือจึงลำบากใจยิ่งในการเลือกข้าง เพราะหากตนเองแสดงตัวตนชัดเจนว่าเข้าข้างรัฐใดแล้ว อีกรัฐหนึ่งก็จะคุกคามความมั่นคงของรัฐนั้นทันที

ดังนั้น ในช่วงนี้ บรรดารัฐเล็กทั้งหลายจึงต้องดำเนินนโยบายแบบไม้ปักเลน เมื่อรัฐฉินส่งทูตมาเจรจา พวกเขาก็จะพากันไปเข้าข้างฝ่ายรัฐฉินทันที แต่เมื่อทูตฉินกลับไปแล้ว ต่อมาทูตฉู่มาเจรจา พวกเขาก็จะพากันไปเข้าช้างฝ่ายรัฐฉู่ทันทีเช่นกัน ซึ่งกลยุทธ์การกลับไปกลับมาเช่นนี้ ก็ดำเนินไปอยู่หลายสิบปี เพื่อความอยู่รอดของรัฐตนนั่นเอง

พฤติกรรมการดำเนินกลยุทธ์แบบนี้ของรัฐเล็กทั้งหลาย ต่อมาผู้คนจึงเอามาเปรียบเปรยกับคนที่มีจิตใจโลเล ไม่มั่นคง ไม่มีหลักการนั่นเอง

ข้อคิดจากประโยคสุภาษิตนี้

成语比喻:反复无常,没有原则。

成語比喻:反復無常,沒有原則。

Chénɡyǔ bǐyù:Fǎnfù wúchánɡ, méiyǒu yuánzé.

เฉิงยหวี่ ปี่ยวี่ :  ฝ่านฟู่ อู๋ฉาง, เหมยโหย่ว หยวนเจ๋อ

สุภาษิตเปรียบว่า กลับไปกลับมา ไม่มีหลักการ

ประโยคตัวอย่างที่ใช้สำนวนสุภาษิตนี้ เช่น

当今中美争霸,各小国一定要坚持中立,绝不能朝秦暮楚。

當今中美爭霸,各小國一定要堅持中立,絕不能朝秦暮楚。

Dānɡjīn zhōnɡ měi zhēnɡbà, ɡè xiǎo ɡuó yīdìnɡ yào jiānchí zhōnɡlì, jué bùnénɡ zhāoqínmùchǔ.

ตังจิน จง เหม่ย เจิงป้า, เก้อ เสี่ยว กั๋ว อี๋ติ้ง เหย้า เจียนฉือ จงลี่, เจว๋ ปู้เหนิง เจาฉินมู่ฉู่

การชิงความเป็นใหญ่ระหว่างจีนและสหรัฐในตอนนี้  เหล่าประเทศเล็กทั้งหลายจะต้องยืนหยัดในความเป็นกลาง ไม่ควรอย่างยิ่งในการเลือกข้างกลับไปกลับมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image