‘เศรษฐพงค์’ย้ำ ‘วงโคจรดาวเทียม’ ไม่ใช่อธิปไตยของประเทศใด

‘เศรษฐพงค์’ย้ำ ‘วงโคจรดาวเทียม’ ไม่ใช่อธิปไตยของประเทศใด แนะสร้างสมดุลกิจการดาวเทียม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และอดีตประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับกรณีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด เมื่อปี 2555 โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจระบุว่า ภายใต้สนธิสัญญาการใช้งานอวกาศร่วมกัน (The Outer Space Treaty) Article II ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับสนธิสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ 27 ม.ค.2510 หรือ ค.ศ.1967 มีข้อความว่า ในห้วงอวกาศ ซึ่งรวมไปถึงดวงจันทร์, บรรดาดวงดาวต่างๆ วัตถุทั้งหมดที่อยู่ในห้วงอวกาศ ไม่ได้อยู่ภายใต้อธิปไตยหรือการครอบครองโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมไปถึงวงโคจรของดาวเทียมพ้องคาบโลก/วงโคจรของดาวเทียมค้างฟ้าที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรของโลกไปเป็นระยะทางมากกว่า 3.5 หมื่นกิโลเมตรไม่สามารถให้การจัดสรรโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ให้กับประเทศใดประเทศหนึ่ง

“กล่าวอีกนัยหนึ่งวงโคจรดาวเทียมค้างฟ้าที่ 120 หรือ 78.5 องศาตะวันออกที่ประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ใช้งานจากความเห็นร่วมกันของชาติสมาชิกของ ITU ที่มีมากกว่าร้อยประเทศ มิได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศไทย” พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุ

พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุด้วยว่า การใช้งานวงโคจรดาวเทียมค้างฟ้าจึงอยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐาน “ใครมาก่อนได้รับการพิจารณาก่อน (First come First Serve)” เริ่มต้นด้วยการที่ประเทศที่มีความต้องการใช้งานวงโคจรใด จะต้องให้หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่เป็น ITU Admin สำหรับประเทศไทยคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ก่อนจะมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ในปัจจุบัน เข้าสู่กระบวนการ Filing โดยมีขั้นตอนการดำเนินการหลายขั้นตอน และต้องประสานงานความถี่กับชาติที่มีวัตถุอวกาศที่อยู่ในข่ายจะได้รับผลกระทบเมื่อจะส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปด้วย การดำเนินการทั้งหมด รวมทั้งการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 7 ปี นับแต่วันที่เริ่มกระบวนการ เมื่อกระบวนการ Filing เสร็จสมบูรณ์ ประเทศที่ดำเนินการจะได้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรตามที่ขอไว้ได้

Advertisement

“แต่มิได้หมายความว่าสิทธิในวงโคจรนั้นเป็นสิทธิการครอบครองเป็นเจ้าของ หรือปิดกั้นการใช้งานของชาติสมาชิกอื่น ๆ ได้ ดังนั้นถ้าชาติสมาชิกอื่น ๆ มีความต้องการทำกิจกรรมอวกาศต่าง ๆ ณ วงโคจรนั้น และไม่กระทบสิทธิการใช้งานของชาติสมาชิกที่มีวัตถุอวกาศในวงโคจรเดียวกันย่อมสามารถกระทำได้” อดีตประธาน กทค.ระบุ

ส่วนข้อสงสัยว่า การประมูลเกี่ยวกับดาวเทียมที่ผ่านมาของประเทศไทยนั้นเป็นวงโคจรดาวเทียมที่ประเทศไทยได้สิทธิเป็นเจ้าของครอบครองอยู่ ที่ถูกจัดสรรโดย ITU นั้นพ.อ.เศรษฐพงค์ อธิบายว่า ตามหลักการสนธิสัญญาการใช้งานอวกาศร่วมกัน ไม่ได้ให้สิทธิประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือวงโคจรดาวเทียม ดังนั้นวงโคจรดาวเทียมไม่ได้อยู่ใต้สิทธิการครอบครองของประเทศไทย หรือรัฐบาลไทย ด้วยหลักการดังนี้ ประเทศไทย หรือรัฐบาลไทย ไม่สามารถนำวงโคจรดาวเทียมมาประมูลเพื่อหารายได้ให้แก่รัฐ ดังนั้นการประมูลในกิจการดาวเทียมเมื่อปี 2534 เป็นการประมูลเพื่ออนุญาตให้ผู้ชนะได้รับคุ้มครองการผูกขาดเป็นเวลา 8 ปี (ก.ย. 34 – ก.ย. 42) และการอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นเวลา 30 ปี (ก.ย. 34 – ก.ย. 64) ทั้งนี้ในช่วงเวลานั้นกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในบริบทแห่งการแข่งขันเสรี แต่ยังอยู่ภายใต้กำกับของภาครัฐด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นหลัก โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีการดำเนินการดังนี้ ทำข้อเสนอผลประโยชน์ด้านตัวเงิน (Revenue Sharing) จัดเงินประกันรายได้ขั้นต่ำแก่รัฐจำนวน 1,415 ล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน รัฐใช้วงจรดาวเทียมในย่านความถี่ C-Band 1 ทรานสพอนเดอร์ ตลอดอายุสัญญาสัมปทานโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน

“การประมูลในกิจการดาวเทียม ก.ย.2564 เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่ได้มีการดำเนินการก่อนภายใต้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงเมื่อ 10 ก.ย.2564 โดยทั้งนี้ลักษณะจัดชุด (Package) จะประกอบไปด้วยสถานะของสิทธิการเข้าใช้วงโคจร (Filing) ที่ทั้งอยู่ในขั้นตอนสมบูรณ์แล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยทั้งนี้ผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินการในการนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรให้เรียบร้อยตามเวลาที่กำหนด” พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุ

Advertisement

ส่วนมุมมองที่ว่า ประเทศไทยเหมาะหรือไม่กับการประมูลในกิจการดาวเทียม เพราะจะสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศได้มากกว่า พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรื่องผลประโยชน์ของประเทศในบริบทการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากผลประโยชน์ของประเทศภายใต้การผูกขาดโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมุ่งเน้นให้ประโยชน์ที่จะเกิดกับรัฐเป็นหลัก ดังนั้นประโยชน์ของประเทศในกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบันต้องสร้างความสมดุลทั้งประโยชน์ของรัฐ ประโยชน์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และประโยชน์ของผู้บริโภค การประมูลในกิจการดาวเทียมเดือน ก.ย.2534 อาจสร้างผลกระทบต่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม และประโยชน์ของผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะในการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลที่เน้นการสร้างรายได้ให้กับภาครัฐสูงสุด แต่ไม่สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรม เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายในระยะเวลาที่กำหนดของ ITU ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ สิทธิการพิจารณาจะย้ายไปอยู่กับประเทศอื่นๆ และถ้าประเทศไทยต้องการกลับมาขอใช้สิทธิวงโคจรนี้อีกครั้งหนึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายและเวลาในการดำเนินการ Filing ใหม่

“ในบริบทกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้การเปิดเสรี การแข่งขันที่มีความเหมาะสม สมดุล จะมีความสำคัญต่อประโยชน์ของผู้บริโภค การลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดการแข่งขันย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการดำเนินการเพื่อให้ได้สิทธิการใช้งานวงโคจรควรเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการรายใดก็ได้ ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นในตลาด นอกเหนือสิทธิ Filing ที่ค้างอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการผูกขาดไปสู่การเปิดเสรี ถ้าผู้ประกอบการพิจารณาเห็นว่าวงโคจรอื่นมีความเหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจของตนเองก็สามารถมาเริ่มดำเนินการ Filing ด้วยหลักการ “First Come, First Serve” ที่สอดคล้องกับวิธีการดำเนินการของ ITU ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ” พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image