กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษพระราชทานแก่ นิสิตและคณาจารย์ คณะสัตวแพทยฯ มก.

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษพระราชทานแก่ นิสิตและคณาจารย์ คณะสัตวแพทยฯ มก. 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเลคโทรนิคออนไลน์ เรื่อง การเกิดเนื้องอก Oncogenesis (อองโคจีนีซีส) พระราชทานแก่ นิสิตและคณาจารย์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์  และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นครั้งที่ 3 โดยวันนี้ ทรงบรรยายในหัวข้อ ทิวเมอร์ซัพเพรสเซอร์ยีน (Tumor Suppressor Genes) และหัวข้อ การก่อตัวและการกระจายตัวของมะเร็ง 

ในภาวะปกติ ทิวเมอร์ซัพเพรสเซอร์ยีน เช่น ยีน p53 (อ่านว่า พี-ฟิฟตี้-ธรีจะทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ในหลายลักษณะ หรือมีบทบาทเสมือนตำรวจคอยตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้น โดยจะสร้างโปรตีนที่มีหน้าที่ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป และยังมีบทบาทในการควบคุมการตายของเซลล์เมื่อเซลล์สิ้นอายุขัยหรือเมื่อมีความผิดปกติของดีเอ็นเอ (DNA) หรือโครโมโซม (Chromosome) ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว ดังนั้น เมื่อยีนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ เช่น การกลายพันธุ์หรือสูญหายไปจากเซลล์ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ในการยับยั้งหรือควบคุมการเจริญของเซลล์ เซลล์จึงจะมีการเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้ง และจะทำให้เกิดมะเร็งขึ้นในที่สุด เช่นการกลายพันธุ์ของยีน p53 ที่พบในโรคมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ ทั้งนี้ ยังทรงบรรยายเปรียบเทียบคุณลักษณะของอองโคยีน (Oncogenes)และ ทิวเมอร์-ซัพเพรสเซอร์-ยีน (Tumor Suppressor Genes) เพื่อให้นิสิตเกิดความเข้าใจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น 

จากนั้นทรงบรรยายต่อเนื่องในเรื่อง การก่อตัวและการกระจายตัวของมะเร็ง  โดยหลังจากที่เกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอขึ้นในเซลล์แล้ว จะเข้าสู่ขั้นก่อตัว โดยสารที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็ง ที่เรียกว่า สารโปรโมเตอร์ (Promoter) ซึ่งจะไม่มีผลต่อสารพันธุกรรมภายในเซลล์โดยตรงเหมือนสารก่อมะเร็ง แต่จะทำหน้าที่จับกับตัวรับสัญญาณ ที่มีความจำเพาะอยู่บนผิวเซลล์ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผ่านกลไกต่างๆ พร้อมทรงยกตัวอย่าง รูปแบบการทดลองเกี่ยวกับการเกิดมะเร็งผิวหนังในสัตว์ทดลอง ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสารก่อมะเร็งที่ไม่มีผลต่อสารพันธุกรรม 

หลังการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ผิดปกติในขั้นก่อตัว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเซลล์เหล่านี้มากขึ้น จนเข้าสู่ขั้นกระจายตัว ซึ่งจะมีการกลายพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้น มีผลต่อการแสดงออกของยีน ทำให้เซลล์เหล่านี้ขยายตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรกจะอยู่รวมกันในบริเวณที่เกิดมะเร็ง ซึ่งหากตรวจพบในระยะแรก จะมีโอกาสรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยให้เซลล์มะเร็งเริ่มรุกล้ำไปยังบริเวณใกล้เคียง ผ่านระบบหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง และการกระจายตัวออกไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไป จะทำให้แพร่กระจายไปสู่หลายระบบในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คน และสัตว์ป่วยด้วยโรคมะเร็งเสียชีวิต

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีความรู้ในเรื่องขั้นตอนส่วนใหญ่ของการเกิดมะเร็งแล้ว แต่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการรุกล้ำและการกระจายตัวที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงเป็นปัญหาหลักที่ต้องศึกษาและค้นคว้าวิจัยต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพยาธิสภาของโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ตลอดจนการพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นทั้งในคนและในสัตว์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image