สทนช.แจงงบโครงการศึกษา 76 โครงการคุ้มค่า ตอบโจทย์ พ.ร.บ.น้ำฯ – แผนแม่บทน้ำ 20 ปี

สทนช.ชี้งบโครงการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ พ.ร.บ.น้ำฯ – แผนแม่บทน้ำ 20 ปี รวม 4 ปี 76 โครงการ ใช้งบ 1.9 พันล้าน ช่วยฟันธงเดินหน้าโครงการพัฒนาด้านน้ำหน่วยปฏิบัตินำไปใช้ได้ทันทีตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วน  ตัดทอนความซ้ำซ้อนแผนงานโครงการ เอื้อประโยชน์ถึงประชาชนได้จริงทั้งมิติเชิงพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม ลดท่วมแล้ง-จัดการน้ำยั่งยืน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ชี้แจงกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวกลุ่ม
ธรรมาภิบาลยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณการบริหารจัดการของ สทนช. ว่ามีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ โดยเฉพาะที่เป็นการจ้างโครงการที่ปรึกษามีอยู่ 76 โครงการ รวมแล้ว 1.9 พันล้านบาท รวมถึงมีการสงสัยและตั้งคำถามว่าทำไมในเมื่อมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางด้านน้ำแล้วยังเกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอีกขอชี้แจงว่าที่ผ่านมา สทนช. ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายด้านน้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้อย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการกำหนดทิศทางการจัดการทรัพยากรน้ำ คือ การศึกษาและกำหนดมาตรฐานทางวิชาการให้เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงานด้านน้ำ ภายใต้ 3 เงื่อนไขหลักในการศึกษา คือ 1 ตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมาย 2 สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และ 3 เป็นภารกิจที่ต้องบูรณาการหลายหน่วยงาน ไม่ใช่โครงการเดี่ยวที่ดำเนินการด้วยหน่วยปฏิบัติเพียงหน่วยเดียว ซึ่งแผนบูรณาการหลายหน่วยงานแบบนี้ยังไม่เคยมีเจ้าภาพดำเนินการ

ทั้งนี้ ในการศึกษาทั้ง 3 เงื่อนไขข้างต้น สทนช.ให้ความสำคัญในการได้มาของข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล จึงต้องอาศัยองค์ความรู้สหวิชาการที่รอบด้านและความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในเชิงพื้นที่ที่มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันในแต่ละลุ่มน้ำ ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องกรอบเวลาที่ พ.ร.บ.ฯ น้ำกำหนด ซึ่งยอมรับว่า สทนช.มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่จำกัด ทำให้ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะจากสถาบันการศึกษาเป็นผู้ศึกษา และถ่ายทอดให้บุคลากรของ สทนช. ได้เรียนรู้คู่ขนานผ่านการกำกับด้านวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

สำหรับงานศึกษาที่ สทนช.ดำเนินการแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. การศึกษาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องรวม 28 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่มีผลกระทบโดยตรงกับประชาชน เช่น การศึกษาทบทวนขอบเขตลุ่มน้ำใหม่ การศึกษาเงื่อนไขการจัดเก็บค่าน้ำ การจัดทำผังน้ำ ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ โดยไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำหรือกีดขวางการไหลของน้ำอันจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดทำแผนป้องกันน้ำแล้งน้ำท่วมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา 14 ลุ่มน้ำ และจะศึกษาในปีงบประมาณ 2566 อีก 8 ลุ่มน้ำ ทั้งนี้ งบประมาณในการศึกษาผังน้ำค่อนข้างสูงเนื่องจากมีการสำรวจและจัดทำภาพตัดลำน้ำทุก 2-5 กม. ตลอดเส้นทางน้ำ รวมถึงให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในระบบทางน้ำให้แน่ใจต่อผลการศึกษา ก่อนการประกาศในราชกิจจาฯ ที่สำคัญยังมีโครงการศึกษาการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักที่ต้องศึกษา EIA ปัจจุบันศึกษาแล้วเสร็จ 3 โครงการ เสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาแล้ว 2 โครงการ คือ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ระยะที่ 1 และโครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และเตรียมเสนอ คชก. อีก 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนลำตะคอง และ การศึกษาตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของพื้นที่เพื่อให้มีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันดำเนินการศึกษาแล้ว 9 ลุ่มน้ำ และจะแล้วเสร็จทุกลุ่มน้ำภายในปี 2568

Advertisement

ส่วนประเภทที่ 2 คือ การศึกษาเพื่อสนับสนุนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561 – 2580 รวม 43 โครงการ อาทิ การจัดทำแผนหลักการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบในระดับลุ่มน้ำ/พื้นที่วิกฤติ Area Based 66 พื้นที่ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2570 ซึ่งยังเหลืออีก 15 พื้นที่ที่ต้องดำเนินการศึกษา เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน สามารถกำหนดขนาดของการพัฒนาโครงการได้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง มีแนวทางและเป้าหมายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และมีลำดับความสำคัญของแผนงาน ในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมให้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพที่เริ่มได้ดำเนินการ เช่น บึงบอระเพ็ด บึงราชนก และอยู่ระหว่างศึกษา 3 โครงการ ได้แก่ เวียงหนองหล่ม กว๊านพะเยา และคลองบางไผ่

ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาจะถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงแผนงาน/โครงการที่ได้จากผลการศึกษาจะส่งต่อให้หน่วยงานปฏิบัติสามารถดำเนินการได้ทันที โดย สทนช. เป็นเจ้าภาพจัดทำงบประมาณตามแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแผนงาน/โครงการ โดยจะมีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ตามความเร่งด่วน และความสอดคล้องกับผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากหน่วยงานปฏิบัตินำแผนงาน/โครงการ จากผลการศึกษาในแต่ละพื้นที่มาเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ จะเกิดความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความทับซ้อนของกาลงทุนภาครัฐในนระดับพื้นที่ได้อย่างชัดเจน

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับตัวอย่างโครงการที่ถูกขับเคลื่อนได้รวดเร็วขึ้นตามผลการศึกษา อาทิ โครงการจัดทำแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 หากดำเนินการแผนหลักฯแล้ว จะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมในสภาพปัจจุบันจาก 11.31 ล้านไร่ ลงเหลือ 5.51 ล้านไร่ และเมื่อดำเนินการร่วมกับแผนงานตอนบนระยะ 20 ปี จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมลดลงเหลือเพียง 2.98 ล้านไร่ ปัจจุบันขับเคลื่อนแล้ว 32% เช่น คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร การปรับปรุงระบบชลประทานเดิม เป็นต้น หรือโครงการจัดทำแผนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ได้กำหนดแนวทางการจัดการในพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำยม-น่าน โดยการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเพื่อรับน้ำหลากที่ในปีนี้ใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำได้เต็มศักยภาพช่วยตัดยอดน้ำก่อนลงลุ่มเจ้าพระยาได้ส่วนหนึ่ง และโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ลดความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นต้น

“งบประมาณการศึกษาโครงการด้านน้ำที่สทนช.ดำเนินการ ถือเป็นงบศึกษาวิจัยประเภทหนึ่งที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง เพื่อให้หน่วยงานด้านน้ำเห็นเป็นภาพเดียวกัน มองไปในทิศทางเดียวกัน เกิดการจัดการทรัพยากรน้ำแบบไร้รอยต่อ งานวิจัยไม่เหมือนงบประมาณก่อสร้าง ที่ลงทุนแล้วเห็นแหล่งเก็บน้ำ แต่จะให้รู้ว่าต้องแก้ปัญหาด้านน้ำในพื้นที่นั้นอย่างไร และใครควรทำหน้าที่นั้นได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ช่วยลดระยะเวลาการพิจารณาโครงการที่เน้นความจำเป็นเร่งด่วน ลดงบประมาณในเรื่องความซ้ำซ้อนทั้งในเชิงโครงการและเชิงพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากดูข้อมูลงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาในภาพรวมของประเทศในปี 2564 วงเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.5% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณงานศึกษาฯของ สทนช. แล้วจะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนเพียง 0.17 % ของงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเท่านั้น”ดร.สมเกียรติ กล่าว.

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image