ประชาชนพอใจ รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุม ดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย. บวก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับลดเวลาเคอร์ฟิวและคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดดำเนินการได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรเพิ่มมากขึ้น

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 42.1 จากเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 37.2 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น2 เดือนต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 29.9 อยู่ที่ 34.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเพิ่มขึ้นจาก 42.1 อยู่ที่ 47.4

เมื่อพิจารณารายภาค พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ 44.1 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จาก 34.6 มาอยู่ที่ 39.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก38.1 มาอยู่ที่ 42.6 ภาคใต้จากระดับ 38.9 มาอยู่ที่ 42.9 และภาคเหนือ จาก 35.9 มาอยู่ที่ 39.7
จำแนกรายอาชีพ พบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากสุด จาก 36.9 มาอยู่ที่ 43.6 รองลงมาคือกลุ่มพนักงานเอกชน จาก 35.4 มาอยู่ที่ 40.8 กลุ่มเกษตรกร จาก37.9 มาอยู่ที่ 42.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ จาก 44.2 มาอยู่ที่ 48.0 กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จาก 32.3 มาอยู่ที่ 36.1 กลุ่มรับจ้างอิสระ จาก 35.5 มาอยู่ที่ 39.3 และกลุ่มนักศึกษา จาก 35.5 มาอยู่ที่ 37.4

นายรณรงค์ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปรับตัวดี ประกอบกับภาครัฐพิจารณาผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 22.00 – 04.00 น. อนุญาตให้ผู้ประกอบการและธุรกิจหลายประเภทสามารถดำเนินการได้ เช่น ร้านตัดผม-ร้านเสริมสวย ร้านนวด ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานที่ร้านได้ รวมถึง โรงภาพยนต์ การเล่นดนตรีในร้านอาหาร กีฬาในร่ม ร้านทำเล็บ เป็นต้น พร้อมให้เปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 10 พื้นที่ มีผลเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้

Advertisement

นอกจากนี้ ผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและประชาชนดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงที่มีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ได้โอนเงินรอบ2ไปแล้ว น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้นและพร้อมขยายตัวอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image