สทนช. แจงโครงการป้องกันท่วม-แล้ง ภายใต้งบกลาง ยันโปร่งใส-มุ่งลดผลกระทบประชาชน

สทนช. แจงโครงการป้องกันท่วม-แล้ง ภายใต้งบกลาง ยันโปร่งใส-มุ่งลดผลกระทบประชาชน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตการอนุมัติงบกลางปี 2564 จัดซื้อเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิคส่อความไม่โปร่งใส มีการล็อคสเป็ค แบ่งการจัดซื้อจัดจ้าง ว่า สทนช.ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงานโครงการหน่วยงานที่เสนอขอรับงบประมาณที่สามารถแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน และโครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องผ่านกระบวนการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2562 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ในพื้นที่เป้าหมายเฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำตามผลการประเมินสถานการณ์น้ำของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง

นายสุรสีห์ กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิคอยู่ในแผนงานโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เพื่อดำเนินการโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้นรวม 2,801 รายการ งบประมาณ 3,150.29 ล้านบาท ประกอบด้วย 7 กิจกรรม คือ ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ขุดลอก ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบประปา ระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ บ่อบาดาล และครุภัณฑ์ ดำเนินการโดย 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมทรัพยากรน้ำ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปัจจุบันการพัฒนาแหล่งน้ำดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 476 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2,325 รายการ ซึ่งรวมถึงรายการครุภัณฑ์เครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิค ดำเนินการโดยกรมชลประทาน 23 รายการ ที่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 นี้ด้วย รวมถึงลดผลกระทบหากเกิดสถานการณ์อุทกภัยในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม เครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอสิคที่มีอยู่เดิมกรมชลประทานได้ระดมไปติดตั้งในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมขังอยู่ในขณะนี้ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วยเช่นกัน

นายสุรสีห์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการรับมือปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนปี 2564 นั้น สทนช.ได้บูรณาการทุกหน่วยงานเตรียมรับมือตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนผ่านกลไกกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมดำเนินการ 10 มาตรการรับมือฝนปี 2564 ล่วงหน้า และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันเกิดผลในทางปฏิบัติ ทั้งการคาดการณ์ฝน วิเคราะห์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลัก เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน เน้นให้เกิดการเชื่อมโยงผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นปลายฤดูฝนขณะนี้ สาเหตุหลักเกิดฝนตกหนักเนื่องจากได้อิทธิพลของพายุโกนเซิน และเตี้ยนหมู่ รวมทั้งเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขา ตลอดจนลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสาน ที่มีการวิเคราะห์แนวโน้มฝน คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบล่วงหน้ารวม 22 ฉบับ ให้หน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่เร่งป้องกันผลกระทบและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม กอนช.ได้มอหมายหมายเร่งบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ระดับน้ำลดลงโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจากนี้ประมาณ 1 เดือนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการเก็บกักน้ำที่ท่วมขังเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ให้มากที่สุดเพื่อใช้ในการบริหารจัดการในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ ไม่เพียงการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนเท่านั้น แต่รัฐบาลยังเร่งรัดแผนงานโครงการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขับเคลื่อนแล้วจำนวน 133 โครงการ จาก 526 โครงการ โดยมีแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาท่วมแล้งซ้ำซาก เช่น แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีความก้าวหน้า 32% อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะขับเคลื่อนได้ทั้งหมดภายในปี 2570 ซึ่งจะทำให้พื้นที่น้ำท่วมใน 17 จังหวัดลดลง จาก 9.31 ล้านไร่ คงเหลือ 3.05 ล้านไร่ ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญรวม 41 โครงการ เพิ่มความจุ 629 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.4 ล้านไร่ ประชาชนกว่า 260,000 ครัวเรือนได้รับประโยชน์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image