‘สสส.’ จับมือ ดีป้า มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ภาคีเครือข่าย เสริมสร้างสมรรถนะเด็กปฐมวัย

เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเท่านั้น แต่ยังมีผลเสียโดยตรงกับเด็กไทย การที่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียน ทำให้เด็กๆ ต้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้น สื่อออนไลน์จึงมีบทบาทในการเป็นช่องทางเสริมสร้างการเรียนรู้ และควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเด็กๆ อย่างแท้จริง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และ

มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย รวมถึงภาคีเครือข่าย พัฒนา ‘เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์’ เพื่อให้เป็นนวัตกรรมเครื่องมือการเรียนรู้ มีการคัดกรองหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยจำนวน 464 เล่ม และบทความจำนวน 121 เรื่อง ให้ดาวน์โหลดอ่านฟรี รวมถึงอีกกว่า 70 กิจกรรมเพื่อช่วยให้พ่อ แม่ และผู้ดูแลเด็กเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องดูแลเด็กปฐมวัย ใช้เป็นเครื่องมือสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการสร้างเสริมศักยภาพที่จำเป็นในวัยเด็ก มุ่งให้เกิดกระบวนการสร้างทักษะฉลาดรู้ด้านสื่อดิจิทัล (Digital Intelligence Quotient : DQ) และการอ่าน (Reading Literacy : RD) ที่สามารถวางรากฐานทักษะการเรียนรู้ของเด็กรอบด้าน ทั้งทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และทักษะป้องกันตนเองจากโควิด-19 ทำให้เด็กมีการพัฒนาศักยภาพนำไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล

Advertisement

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การระบาดของโควิดในช่วงปีเศษที่ผ่านมา ทำให้เห็นความสำคัญของการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นทั้งในด้านการเรียน การทำงาน และการรับชมสื่อบันเทิง รวมถึงการเชื่อมสังคม สิ่งแวดล้อม หากพูดถึงเด็กและเยาวชนในเรื่องของการเรียนรู้ การพัฒนา การเติบโต สุขภาวะ ฯลฯ ความสุขและความทุกข์ของพวกเขาจะสัมพันธ์กับโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสื่อมี 2 ด้าน ทั้งนำมาซึ่งความสุข ความทุกข์ และปัญหาความไม่ปลอดภัยเข้ามาด้วย จำเป็นต้องช่วยกันให้อยู่ในด้านแรกมากกว่า

“แผนงานในอีก 3 ปีข้างหน้าของ สสส.ในเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนคือการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง และเครือข่ายครู ให้ปรากฎชัดขึ้น โดยการเคลื่อนสู่โลกดิจิทัลวันนี้ ตามแผนงานที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนานวัตกรรม ‘เว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์’ (www.earlychildhoodbookbank.com) เพื่อให้เป็นพื้นที่ออนไลน์สำหรับพัฒนาศักยภาพเด็ก รวบรวมดิทิทัลบุ๊กต่างๆ ทั้งหนังสือภาพ หนังสือนิทาน และสารคดีสำหรับเด็ก มีทั้งบทความส่งเสริมการพัฒนาลูกสำหรับพ่อแม่ เช่น ควรพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลกับเด็กตั้งแต่เมื่อไร เว็ปไซต์นี้จะเป็นการนำสิ่งที่ สสส.พยายามพัฒนา ‘Digital Platform for Children’ ที่หลากหลายให้มากขึ้นต่อไปเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาสร้างสรรค์พลเมืองแห่งชาติ”

Advertisement

สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวถึงความสำคัญของเด็กในช่วงปฐมวัยว่า เป็นโอกาสทองในการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ เป็นวัยที่สมองและการพัฒนาทุกด้านรุดหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลต่อการดำเนินคุณภาพชีวิตเมื่อเติบโตแล้วถึงกว่า 80% การพัฒนาศักยภาพของคนแต่ละยุคสมัยจะแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยแวดล้อมและทางสังคม โดยปัจจัยที่เป็นกระบวนการสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเด็กก็คือหนังสือและการอ่าน

“การเปิดตัวธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ในวันนี้ จะนำไปสู่คำตอบสำคัญของการร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตพัฒนาการเด็ก ขณะเดียวกันก็ต้องการใช้พลังของการอ่านในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มศักยภาพ เด็กไทยต้องการความสมดุลทั้งในโลกดิจิทัลและโลกของชีวิตจริง ครอบครัวและคุณครูปฐมวัยมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันกำกับทิศทางของการพัฒนาเด็กและอนาคตของสังคม เพื่อให้ปรากฎการณ์มหัศจรรย์แห่งการอ่านช่วยเสริมสร้างทักษะเท่าทันสื่อ ขยายพื้นที่แห่งการเรียนรู้มากขึ้น เพื่อช่วยกันสร้างสังคมสุขภาวะที่เราปรารถนาให้เป็นจริง”

งานเปิดตัวเว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกับจัดเสวนา ‘สร้างสมรรถนะเด็กปฐมวัยออนไลน์’ โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒธรรมการอ่าน และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘หมอแพมชวนอ่าน’ และครอบครัวสุวีรานนท์ ‘เรไรรายวัน แอนด์ แฟมิลี่’ เพื่อร่วมกันสะท้อนมุมมองของสถานการณ์เด็กกับสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน โดยมีคุณครูเด็กปฐมวัยกว่า 2,000 คนมาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม กล่าวถึงประเด็นของเด็กกับสื่ออนไลน์ในมุมของ สสส.เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นทั้งผู้ผลิตสื่อและเสพสื่อที่มีข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ขณะที่ข้อเสียคือไม่มีการตรวจสอบกำกับจากบรรณาธิการ บางเนื้อหาก็ชักจูงไปในสิ่งที่ไม่ดี  ให้ข้อมูลผิด โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ ส่งผลให้เสียโอกาสที่จะเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้อง

“ช่วงสถานการณ์โควิดทำให้ต้องมีการเรียนออนไลน์ ฝากถึงผู้ปกครองและคุณครูว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเวลาที่ใช้ไปกับออนไลน์ เวลาที่เกิดจากการเรียนรู้ กับการทำกิจวัตรประจำวัน เด็กไทยมีการเล่นอิสระน้อยมาก ขณะที่องค์การอนามัยโลกบอกว่าควรเล่นให้ได้อย่างน้อยวันละ 60 นาทีเพื่อให้มีพัฒนาการ แต่เราทำได้กว่า 20% ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงโรคภัยไข้เจ็บในระยะยาว เมื่อการเล่นมีส่วนสำคัญด้านการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ชีวิตประจำวันของเด็กเข้าถึงสื่อพร้อมกับมีการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ที่สำคัญคือต้องไม่ให้เกิดการติดเกมหรือติดการพนัน”

พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี ให้ความเห็นว่าเด็กปัจจุบันไม่มีทางปฎิเสธสื่อดิจิทัลได้ เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เกิดหลังจากที่คนยุคเราเกิด แต่สำหรับเด็กยุคนี้ เทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะเกิด ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้มองว่าโทรศัพท์มือถือหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นเทคโนโลยี แต่เป็นสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิต สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสริมให้ลูกก็คือวิธีคิดและการตั้งคำถาม หากตั้งคำถามผิด คำตอบจะไปไกลด้วยเทคโนโลยีมี AI นอกจากนี้ การเห็นอะไรซ้ำๆ เกิน 3 อย่าง ตามหลักวิทยาการ สมองจะคิดว่าคือเรื่องจริง ทั้งที่บางอย่างอาจจะไม่จริง ดังนั้นโจทย์หลักและเป็นโจทย์ใหญ่ก็คือ จะทำอย่างไรให้ลูกมีภูมิคุ้มกัน หนึ่งคือพัฒนาการศึกษาให้ตรง สองคือเลือกข้อมูลให้ถูก ซึ่งจะนำไปหาคำตอบที่ถูกต้อง การที่ให้ลูกอ่านหนังสือตั้งแต่แรกจะเข้ามาเสริมจุดที่ทำให้แข็งแรงมากกว่าเด็กยุคก่อน

ในฐานะของผู้ที่อยู่ในแวดวงอินเทอร์เน็ตมานาน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ให้ความเห็นถึงเทคโนโลยีว่ามีประโยชน์แต่ต้องถูกที่ถูกเวลา และใช้อย่างพอสมควร ยกตัวอย่าง อีลอน มัสก์ กับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เมื่อครั้งที่ลูกเขายังเล็กๆ ก็ให้เข้าโรงเรียนที่ไม่มีไอที ไม่มีหน้าจอ แม้ว่าทั้งคู่เป็นเจ้าพ่อไอที ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่าลูกสามารถเสิร์ชหาข้อมูลในกูเกิ้ล หรือหาคลิปในยูทูปได้เองเป็นความเก่งและฉลาด แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำให้เกิดกาเรรียนรู้ในการคิดการวิเคราะห์ กูรูไอทีทั้งหลายจะให้ลูกใช้คอมพิวเตอร์เมื่ออายุ 10 ขวบขึ้นไป และต้องมีเวลาจำกัดในการใช้งาน

สำหรับคุณแม่ที่มีลูกๆ อยู่ในวัยกำลังเรียนรู้ ชนิดา สุวีรานนท์ บอกว่า เธอเป็นคุณแม่ที่เตรียมความพร้อมสำหรับลูกที่จะเรียนออนไลน์มาพอสมควร แต่ถึงแม้เตรียมความพร้อมมาแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะลูกที่ยังเล็กๆ เป็นวัยที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่หน้าจอ เป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะปรับสมดุลอย่างไรให้กับลูก ในเมื่อเรื่องนี้หลีกเลี่ยงได้ยาก จะต้องหาทางให้อยู่หน้าจออย่างไม่มีอันตรายหรือไม่มีผลเสียมากกจนเกินไป

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image