‘ณพลเดช’ แนะแนวทาง พุทธศาสนาเชื่อมโยง 3 สถาบัน 3 เสาหลักชาติ

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ พรรคเพื่อไทย(พท.) เข้ากราบพระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) กรรมการมาหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร และเจ้าคณะภาค 7 พร้อมได้ร่วมกิจกรรมทำบุญ น้อมอุทิศเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า การจัดกิจกรรมน้อมอุทิศเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในหลวงรัชกาลที่ 9 จากกิจกรรมวันนี้ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเสาหลักของประเทศชาติที่ยากจะแยกจากกันได้ ต่างฝ่ายต่างหนุนซึ่งกันและกัน เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพราะทุกฝ่ายทุกขั้วทุกพรรคการเมืองต่างมีใจเป็นหนึ่งที่จะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อทำกิจกรรม ยากที่จะมีวาระที่ประชาชนคนในชาติจะมีวาระที่จะรวมใจเป็นหนึ่งนอกจากการเข้าวัดทำบุญ หากพิจารณาจากประวัติชาติไทยเราเสียเมืองกันหลายครั้งหลายครา แต่สุดท้ายก็จะมีผู้กล้าที่เป็นชนชั้นผู้นำ ต้องถือดาบออกรบเพื่อรักษาอธิปไตยให้กับผืนแผ่นดิน ทำให้ชาวไทยชาวสยามอยู่รวมกันอย่างผาสุก การออกไปสู้รบของผู้นำต้องแลกกับเลือดและชีวิต การกระทำต้องเสี่ยงแต่กระนั้นพระสงฆ์ในสมัยนั้นถือเป็นกำลังหลักที่จะเป็นผู้ปลุกใจ สร้างขวัญ ให้กำลังใจกับเหล่าทหารหาญ ที่จะไปออกรบไม่ว่าจะเป็นการปลุกเสกน้ำมนต์ ผ้ายันต์ พระเครื่องต่างๆ ที่จะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับทหารไทย ภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดเห็นจะเป็นในยุคพระนเรศวรมหาราช แต่กลับกันถ้าลองคิดใหม่ว่า พระนเรศวรท่านก็คงอยู่พม่าเหมือนเดิม ไม่คิดที่จะสู้ปล่อยให้เป็นเชลยพม่าไปจนวันสิ้นพระชนม์ ป่านนี้คงไม่เห็นไทยเป็นไทยดังเช่นทุกวันนี้ และที่ใกล้ๆ นี้ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ต้องขนเงินถุงแดงกว่า 3 ล้านฟรังก์ไปหยุดฝรั่งเศสที่มีเป้าประสงค์จะยึดอำนาจเหนือแผ่นดินสยาม การในอดีตหากชนชั้นผู้นำไม่เข้ามาปกป้องประวัติศาสตร์ของเราอาจจะเปลี่ยนไปเราจะเป็นชาติเมืองขึ้นของอาณาจักรใหญ่กว่า ซึ่งแน่นอนว่าชาติเราในปัจจุบันอาจจะเป็นชนชาติพม่า หรือชนชาติขอม หรือชาติอื่นๆ ที่เราอาจไม่มีความภูมิใจในความเป็นไทยอีกต่อไป ทรัพย์สมบัติและโบราณสถานอาจจะไม่มีทิ้งไว้ให้เห็นดังในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยกับสถาบันพุทธศาสนา เป็นการยึดโยงกันอย่างแยบคายและแยกกันไม่ได้ ต่างชาติที่เขามุ่งมาดูเมืองไทยส่วนใหญ่เขาอยากมาดูวัดของไทย มาดูเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม เป็นลีลาลวดลายที่ยึดโยงกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น ลองคิดเอาใหม่ถ้าเมืองไทยไม่เป็นเมืองพุทธ แต่เรามีสถาปัตยกรรมเป็นแบบอื่น จากหลังคาวัดและเจดีย์เราสร้างเป็นรูปทรงกลมทรงสี่เหลี่ยมแทน คิดว่าเอกลักษณ์ของไทยเราจะอยู่ตรงไหน นักท่องเที่ยวเขาจะอยากมาหรือไม่ เมื่อที่ประเทศอื่นแบบนี้เขาก็มีและดีกว่า ทำให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวประเทศไทยติดยอดสูงอันดับท็อป 3 ของ GDP และจากปี 2019 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท เทียบได้กับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของทั้งประเทศเลยทีเดียว การศาสนาพุทธของไทยมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่เริ่มหันหน้าเข้าสู่การปฏิบัติธรรมในรูปแบบการนั่งสมาธิ (Meditation) ซึ่งมีผลวิจัยที่ภายหลังต่างชาติได้ยอมรับในทางการแพทย์ว่าช่วยบรรเทาโรคหรือภาวะทางร่างกายบางชนิดได้ โดยเฉพาะโรคที่ทรุดลงด้วยความเครียด เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไมเกรน โรคนอนไม่หลับ ฯลฯ และที่สำคัญสมาธิมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับศีล จึงส่งผลให้จิตใจของผู้ฝึกสมาธิมีศีลดีขึ้น ลดปัญหาทางด้านคดีอาญาต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก

ในหลวงรัชกาลที่9 เคยตรัสว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…” ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ที่เน้นหนักว่าบ้านเมืองต้องสร้างคนดีปกครองคนไม่ดี หรือสร้างคนดีให้มากแต่คนดีอยู่ที่ไหน การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมืองได้เห็นวงการราชการที่มีทรัพย์สิน หลักร้อยล้าน พันล้าน แต่กลับกันประชาชนรากหญ้าไม่มีจะกิน มีปัญหายาเสพติด มีบุตรก่อนวัยอันควร ปัญหาการพนัน ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและส่งผลให้เป็นเหตุแห่งอาชญากรรมและทำผิดอาญา ส่งผลให้คนล้นคุก ดังที่เห็นแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร โจทย์มีเพียงว่าทำให้มีคนดีมากกว่าคนไม่ดีการสร้างคนดีง่ายนิดเดียวคือ ทำให้คนเหล่านั้นอยู่ใน “กรอบของความดี” สำหรับโบราณกรอบของความดีมีการกำหนดกฎมณเฑียรบาล ที่มีโทษสำหรับผู้กระทำผิดมีโทษถึงประหารชีวิต และไม่มีการละเว้นสำหรับผู้กระทำผิด รวมถึงการสร้างคนดีจาก “ศีลธรรม” ซึ่งมีการวางรากฐานตั้งแต่เล็กแต่น้อย หากเป็นชายก็ส่งกุลบุตรออกบวช กุลสตรีก็พาเข้าวัด มีการอบรมบ่มศีลธรรมกันตั้งแต่เด็ก แม้ผนังวัดก็ยังต้องสร้างภาพวาดจิตรกรรมเพื่อเป็นบทสอนให้เด็กได้รู้ถึง “ผิด ชอบ ชั่ว ดี”

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า ในยุคที่ผ่านมา ได้เห็น “เด็กวัด” เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ได้เห็นอดีต “พระมหาเปรียญ” เป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นภาพที่ไม่ค่อยปรากฏว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง หรือร่ำรวยอย่างผิดปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปภาพปัจจุบันที่เราได้เห็น เราได้เห็นความอดทนในการทำงานของนิสิตนักศึกษาหลังจากที่จบการศึกษามาน้อยลง งานที่หนักก็จะเลือกที่จะไม่ทำ ยิ่งผนวกกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และยากที่จะหางานด้วยแล้ว การแก้ปัญหาก็เลือกที่จะเรียนต่อไปเรื่อยๆ จบปริญญาโท ปริญญาเอก บางคนไปเรียนต่อเมืองนอกเมืองนากลับมาเมืองไทยก็ตกงานเหมือนเดิม แต่กลับกันคนกลุ่มใหม่ที่เป็นลูกของชาวต่างด้าวที่เข้ามาเติบโตในเมืองไทย กลับกลายเป็นกลุ่มแรงงานกลุ่มที่ทำงานอะไรก็ได้ แม้แม่บ้านในปัจจุบันราคาจ้างแรงงานต่างชาติขยับไปถึง 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน แต่คนไทยตัดสินใจที่จะไม่ทำเพราะเป็นงานที่ต่ำต้อย อายเพื่อนอายสังคม แล้วก็ผันตัวเองไปขายสินค้าออนไลน์ ตลาดมีแต่จะแก่งแย่งกัน

ภาพในอดีตที่สำเร็จมาแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 ได้ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านใช้วัดที่มีอยู่มากมายในประเทศไทยและใช้ความรู้ที่มีอยู่ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หน้าวัดบวรนิเวศฯ แล้วส่งไปยังวัดต่างๆ ทำให้เกิดเป็น “โรงเรียนวัด” ดังที่ยังเห็นมากในปัจจุบัน หลักการง่ายๆ คือ “ทำให้คน เป็นผู้เป็นคน” ทำให้คน “รู้จัก ผิดชอบชั่วดี” และแทรกวิชาความรู้ในด้านวิชาการเข้าไปเพื่อเป็นทักษะในการแข่งขันที่สูงขึ้น ผลที่ได้คือ “ลดงบประมาณประเทศไปเป็นจำนวนมาก” ปัจจุบันงบประมาณกระทรวงศึกษาฯ เราใช้งบประมาณถึง 1 ใน 6 ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ หรือ 5 แสนล้านล้านบาท แต่กลับกันสมัยรัชกาลที่ 5 งบการศึกษาแทบจะไม่ใช้เลย เราเพียงแต่ตีพิมพ์หนังสือ และอบรมพระให้เป็นอาจารย์ที่จะมาสอน เรียกได้ว่า “ยิงนกครั้งเดียวได้นกสองตัว” สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร ประการที่หนึ่งคืองบลดลงเห็นได้ชัด ประการที่สอง นี้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะเป็นการสร้าง “คนดี” หรือว่าพระที่อยู่วัดว่างเปล่าไม่มีอะไรทำ แต่ต้องผันตัวเองมาฝึกตัวทั้ง”ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เทศนา หรืออบรมสั่งสอน” พระในอดีตเราได้เห็นพระนักปฏิบัติ เป็นพระที่เป็นครูชั้นเลิศ เป็นพระนักพัฒนา นี่เพราะเพียงหลักการคิดที่วางให้ “พุทธศาสนา” กับ “ชาติ” เดินไปคู่กันเมื่อนักเรียนได้เรียนจบไปแล้วแน่นอน เขาได้แม่พิมพ์ที่อยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง เขาก็จะมีพื้นฐานแห่งความเป็น “คนดี” ติดตัวแม้เวลาล่วงเลยไปนานเขาเหล่านั้นก็มักจะกลับไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์ ก็ได้เติมศีลธรรม มีความฉุกคิดที่จะเว้นต่อการกระทำให้ที่จะกลายเป็น “คนไม่ดี” ได้หรือภาษาพระเรียกว่า “หิริ โอตตัปปะ” ความละอายบาปและความเกรงกลัวบาป จนหลายคนก็กลายเป็นแม่พิมพ์ชุดต่อๆ มา สิ่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนในอดีตและภาพในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถี “ชาติ” ที่ทำให้คนในชาติมุ่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเขา ปัจจุบันเราได้เห็นภาพ “เงิน” สำคัญกว่า “คุณธรรม” หรือไม่ สิ่งที่เรียกว่า “โลภ โกรธ หลง” มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องกับคนในชาติเราหรือไม่ แล้วเราจะแก้อย่างไร ถ้าไม่ใช้หลักเสาค้ำสามเสา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image