จ.อุบลฯ ยึดหลัก ‘บวร’ คิกออฟ ขยายอาณาจักร ‘โคก หนอง นา พช.’ บ้านโนนมะเขือ

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดกิจกรรม ” Kick off การขุดปรับพื้นที่” โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี ขยายผลสู่ความยั่งยืน กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน ณ บ้านโนนมะเขือ หมู่ที่ 5 ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งนี้ในพิธีฯ ได้รับความเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน พระครูสุภกิจมงคล เจ้าอาวาสวัดโนนมะเขือ พระนักพัฒนาชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่มาโดยตลอด ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ รวมไปถึง นายตถาพร สมพอง นายอำเภอกุดข้าวปุ้น นายสมมาฏฐ์ โพธิ นายอำเภอตระการพืชผล นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นางจริญญา บุญธรรม พัฒนาการอำเภอกุดข้าวปุ้น นายปริยากร จันมานิตย์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ตลอดจนผู้นำชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และชาวบ้านโนนมะเขือ เข้าร่วมพิธีฯ ทั้งนี้ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอกุดข้าวปุ้น และองค์การบริหารส่วนตำบลกาบิน ได้ร่วมการประชุมประชาคมชาวบ้านโนนมะเขือ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 ในการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ ดอนป่าติ้ว บ้านโนนมะเขือ หมู่ที่ 5 ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เพื่อเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 3 ไร่ นั้น นางจริญญา บุญธรรม พัฒนาการอำเภอกุดข้าวปุ้น ได้เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรจากกรมการพัฒนาชุมชน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ผลผลิตเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน งบประมาณ 493,700 บาท (สี่แสนเก้าหมื่นสามพันเจ็ดร้อยบาทถ้วน) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติ ในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รวมถึงพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา พช.” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับครัวเรือน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

สำหรับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรครั้งนี้ เป็นงบลงทุน ประกอบด้วย 1)รายการสิ่งก่อสร้าง ปรับรูปแบบแปลงที่ดิน (ขุด ปรับแต่ง ทำคลองไส้ไก่ โคก หนอง นา หลุมขนมครก ปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมพื้นที่) ปริมาตรดินขุด 10,380 ลูกบาศก์เมตร 2)ป้ายโครงการ จำนวน 1 ป้าย 3)ป้ายฐานการเรียนรู้ จำนวน 4 ป้าย และงบดำเนินงาน รายการค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สถานที่ดำเนินการ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ บ้านโนนมะเขือ หมู่ที่ 5 ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ขนาด 20 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการขุดปรับพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2564 รวม 45 วัน จึงได้มีการจัดกิจกรรม “Kick off การขุดปรับพื้นที่” โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี ขยายผลสู่ความยั่งยืน กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน โดยประธานฯ และแขกผู้มีเกียรติได้ขึ้นรถแม็คโคร เพื่อขุดปรับพื้นที่ “จกแรกของการขุด” ด้วย

ด้าน นายคมกริช ชินชนะ ประธานในพิธีฯ ได้กล่าวว่า “โครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา พช. พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา พช.” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับครัวเรือน ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงาน ที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรโคนา 2019 ในปี 2564 ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 4,044 แปลง นับว่ามากที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ขนาด 10,15 ไร่ และพื้นที่ขนาด 1 ไร่ และ 3 ไร่ ที่ได้รับงบประมาณในการขุดปรับพื้นที่รูปแบบโคก หนอง นา พช. ทั้งขุดสระ คลองไส้ไก่ หลุมขนมครก การปั้นคันนาทองคำ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากไว้เพียงพอต่อการทำการเกษตรตลอดปี ถือเป็นการแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนวัสดุในการดำเนินกิจกรรมเอามื้อสามัคคี สำหรับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับสู่บ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 902 อัตรา อีกด้วย”

ขณะที่พระครูสุภกิจมงคล เจ้าคณะตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น พร้อมด้วย พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งได้เมตตาจุดประกายการขับเคลื่อนและออกแบบพื้นที่ พร้อมตั้งชื่อแปลงว่า “โคก หนอง นา ดอนป่าติ้ว โมเดล” ให้เป็นคลังยาและอาหารของชุมชน และเป็นศูนย์เรียนรู้ที่น่าสนใจ อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้น ยังกล่าวอำนวยอวยพรและให้ข้อมูลว่า “พื้นที่ดอนป่าติ้ว แห่งนี้ สามารถใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา” การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างให้กับครอบครัว ชุมชน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เป็นความมั่นคงขั้นพื้นฐาน และจักขยายเป็นความมั่นคงขั้นก้าวหน้า คือบุญ ทาน เก็บขาย เป็นความร่วมมือของ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ และที่สำคัญ คือจิตวิญญาณในการเข้าถึงศาสตร์พระราชา และธรรมะขององค์สมเด็จ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อาทิ ความสันโดษ ความอดทน ความเพียร ความสามัคคี ความมีน้ำใจ ความซื่อสัตย์ สุจริต จิตอาสา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ต่อไปข้างหน้าชุมชนจะมีคลังยาและอาหารไว้กิน ไว้ใช้ ไว้แบ่งปัน ขอเจริญพรและขอบคุณทุกท่าน โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ร่วมสนับสนุนและประสานการดำเนินงาน ขุดปรับพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและทางรอดให้แก่ชุมชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image