เอฟดีเอสหรัฐ อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าตัวแรกในอเมริกา อ้างเห็นประโยชน์ช่วยเลิกบุหรี่ได้

เอฟดีเอสหรัฐ อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าตัวแรกในอเมริกา อ้างเห็นประโยชน์ช่วยเลิกบุหรี่ได้ หลังชั่งน้ำหนักความเสี่ยงกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน

บีบีซี สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (ยูเอส เอฟดีเอ) อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าของ อาร์เจ เรย์โนลด์ (RJ Reynolds) ทำการตลาดในสหรัฐอเมริกาได้ หลังชั่งน้ำหนักความเสี่ยงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนกับศักยภาพในการช่วยผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ยูเอส เอฟดีเอ ออกแถลงการณ์อนุญาตให้ อาร์เจ เรย์โนลด์ ทำการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ 3 รายการ ซึ่งเป็นบุหรี่ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า Electronic Nicotine Delivery System (ENDS) หลังจากที่บริษัทยื่นคำขออนุมัติขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ (Pre-market Tobacco Product Application: PMTA) ซึ่งยูเอส เอฟดีเอได้พิจารณาถึงศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าและการปกป้องเยาวชน และเชื่อว่าประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยให้ผู้สูบที่เป็นผู้ใหญ่เลิกบุหรี่ได้ มีมากกว่าความเสี่ยงที่กลุ่มเยาวชนจะหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายได้ครั้งนี้เป็นรสชาติใบยาสูบธรรมดา ซึ่งไม่ใช่รสชาติที่มีการปรุงแต่งซึ่งอาจเป็นที่ดึงดูดเยาวชน

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีขายอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศววรษที่ผ่านมา และการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนสร้างความกังวลเป็นอย่างมาก ยูเอส เอฟดีเอ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบหลักฐานอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ซึ่งจะเกิดขึ้นกับประชาชน ก่อนที่จะมีประกาศดังกล่าวออกมา หลังจากที่ผู้ผลิตหลายรายที่ส่งเอกสารขออนุมัติ PMTA และรอคอยมามากกว่า 1 ปี

มร. มิตช์ เซลเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบของ FDA เปิดเผยว่า “ข้อมูลจากทางผู้ผลิตชี้ให้เห็นว่าผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ารสชาติใบยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้แบบถาวร หรือใช้ทดแทนการสูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารพิษอันตรายลดลง”

Advertisement

“การอนุญาตนี้อาจถูกถอดถอนได้ หากมีหลักฐานภายหลังว่าเยาวชนหรือผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาใช้ผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น” ซึ่งหมายความว่า อาร์เจ เรย์โนลด์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการห้ามโฆษณาทางสื่อโซเชียลและโทรทัศน์

“อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ามีโอกาสน้อยมากที่เยาวชนจะเริ่มจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ารสชาติใบยาสูบ แล้วจึงเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายมากกว่า เช่น การสูบบุหรี่” มร. เซลเลอร์ เสริม

ก่อนหน้านี้ ยูเอสเอฟดีเอ ปฏิเสธคำขอของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเดียวกันที่มีการปรุงแต่งกลิ่นอีก 10 รายการ โดยระบุให้ดำเนินการเอาออกจากตลาด

การอนุญาตของยูเอสเอฟดีเอครั้งนี้ มีเสียงต่อต้านจากสมาคมโรคปอด สหรัฐอเมริกา ซึ่งให้เหตุผลว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image