นศ.คณะวิจิตรศิลป์ มช. ร้องเรียน ถูกผู้บริหารคณะ ลิดรอนเสรีภาพ-เซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ

นศ.คณะวิจิตรศิลป์ มช. ร้องเรียน ถูกผู้บริหารคณะ ลิดรอนเสรีภาพ-เซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงอธิการบดี ผู้บริหารคณะพยายามยื้อไม่ให้แสดง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 40 คนได้ชุมนุมร้องเรียนต่อศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในบริเวณหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี ต่อกรณีการพยายามตรวจสอบและเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะของนักศึกษาของหอศิลปวัฒนธรรมและผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์

นายอภิสิทธิ์ วะลับ ตัวแทนนักศึกษาได้ชี้แจงในแถลงการณ์ว่า ผลงานศิลปะของนักศึกษาดังกล่าว คือส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้ดูแล และได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ทุกท่านให้สามารถแสดงงานได้ นอกจากนี้ งานแสดงศิลปะดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและนักศึกษาได้ส่งตัวโครงการให้ทางหอศิลป์ฯ และคณะวิจิตรศิลป์พิจารณามาโดยตลอด นายอภิสิทธิ์ แจงปัญหาว่า ผู้บริหารของคณะ ฯ มีความประสงค์ในการตรวจสอบงานศิลปะอย่างละเอียดก่อนเพื่อประกอบการพิจารณา โดยชี้แจงว่าต้องการตรวจสอบชิ้นงานที่มีประเด็นทางการเมืองและขัดต่อศีลธรรมอันดีในสังคม และขัดต่อระเบียบการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ด้วยเหตุผลในข้างต้นนี้ นักศึกษาจึงได้ออกมาร้องเรียนการถูกริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการเรียนการสอนและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เนื่องจากได้พิจารณาระเบียบการใช้อาคารสถานที่แล้วไม่พบว่าขัดต่อระเบียบในข้อใด เนื่องจากระยะเวลาในการติดตั้งผลงานและจัดแสดงจะต้องเริ่มในวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคมที่จะถึงนี้แล้ว และที่ผ่านมาทางหอศิลป์ฯได้พยายามยื้อเวลาและใช้วิธีการประชุมหารือภายในกลุ่มผู้บริหารเพื่อแจ้งผลการประชุมออกมาเป็นเอกสารขอรายละเอียดผลงานเพิ่มเติมเหมือนเดิมและทางนักศึกษาก็ได้จัดทำเอกสารส่งกลับไป แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

Advertisement

ในการนี้อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ส่งตัวแทนมารับหนังสือและข้อเรียกร้องจากนักศึกษา โดยไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้ จากนั้นได้เดินกลับขึ้นตึกไปทันที คณะนักศึกษาจึงทำการเดินขึ้นตึกอธิการบดีเพื่อติดตามข้อเรียกร้องและต้องการขอพบอธิการบดีหรือตัวแทนที่สามารถตัดสินใจและนั่งคุยได้ด้วยเหตุและผล เพื่อค้นหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตามตัวแทนของอธิการบดีได้เดินหนีและไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ในบริเวณตึก จนร่างกายเหนื่อยล้าและร้องขอให้นักศึกษาเลิกตามให้กลับไปชุมนุมในบริเวณหน้าตึกแทน การกระทำของตัวแทนอธิการบดีฯ อยู่ภายใต้การออกอากาศสดของเพจประชาคมมอชอ มีผู้ติดตามจำนวนหลายพันคนและมีผู้พิมพ์ความเห็นต่าง ๆ มากมาย

ในเย็นวันเดียวกันนักศึกษาได้รับจดหมายจากหอศิลปวัฒนธรรมเพิ่มอีกหนึ่งฉบับว่าด้วยการขอรายละเอียดผลงานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา

หลังจากการยื่นหนังสือร้องเรียนของนักศึกษา นายศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อได้เขียนอธิบายที่มาที่ไปและความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้บน Facebook ว่า

Advertisement

ความพยายามสอดส่องตรวจตราและเซ็นเซอร์ของหอศิลปวัฒนธรรม ภายใต้การดูแลของคณะวิจิตรศิลป์ ต่อการจัดแสดงนิทรรศการทางศิลปะของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผ่านการเรียกร้องเอกสารเพิ่มเติมซึ่งนักศึกษาต้องระบุถึงรูปผลงานและเนื้อหาอย่างละเอียด โดยผู้บริหารคณะ ฯ อ้างเหตุผลว่าด้วยระเบียบการขอใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรม ว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม รวมไปถึงการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ในฐานะอาจารย์คนหนึ่ง ขอบอกเล่าที่มาที่ไปแบบนี้นะครับ

1.นิทรรศการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนซึ่งเน้นกระบวนการวิจัยทางศิลปะและนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนต่อเนื่อง 3 เทอม คือ วิชาโครงงานวิจัยสื่อประสม 1 (รหัสวิชา 112302) วิชาโครงงานวิจัยสื่อประสม 2 (รหัสวิชา112401) และ วิชาโครงงานวิจัยสื่อประสมขั้นสูง (รหัสวิชา 112403) สาขาวิชาฯ เน้นย้ำความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการและแสดงความคิดเห็น ผ่านการวิจัยค้นคว้าภายใต้การให้คำปรึกษาของอาจารย์ และนักศึกษามีเสรีภาพอย่างเต็มทีในการฝึกฝนวิธีคิด ทฤษฎี และปฏิบัติการณ์ทางศิลปะ

กระบวนการเซ็นเซอร์ผลงานด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้และผู้บริหารคณะ ฯ ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากงานศิลปะของนักศึกษาอยู่ในรายวิชาและการเรียนการสอน การเซ็นเซอร์งานศิลปะด้วยเหตุผลทางการเมืองคือการลิดรอนสิทธิและสร้างกระบวนการกีดกันเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา ทั้งยังเป็นการล่วงล้ำและก้าวก่ายการเรียนการสอนซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่พยายามเน้นความสำคัญของเกียรติภูมิทางวิชาการและเสรีภาพทางวิชาการ (academic integrity and academic freedom)

2. พิจารณาในแง่ของระเบียบการใช้หอศิลป์ฯ นักศึกษาและอาจารย์อ่านระเบียบอย่างละเอียดและไม่พบว่าขัดต่อระเบียบข้อใด นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับความปรารถนาของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประชาสัมพันธ์ถึงความสำเร็จในการเป็นอันดับหนึ่งของไทยจำนวน 3 ด้านจากการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2021 กล่าวคือ ด้านความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สตรีและเด็ก ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น สุดท้าย คือด้านสังคมสงบสุข ยุติธรรม และไม่แบ่งแยก งานศิลปะในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมและการเมืองของนักศึกษาในสาขาวิชา ฯ มีความสอดคล้องกับความต้องการของมหาวิทยาลัยครบทั้งสามด้าน การสร้างกระบวนการสอดส่องตรวจตราและเซ็นเซอร์โดยผู้บริหารคณะ ฯ จึงขัดกับความมุ่งมาดของมหาวิทยาลัยโดยตรง

3. ในกระบวนการด้านภัณฑารักษ์ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการนำเสนอโครงการ การคัดเลือกชิ้นงาน การนำเสนอรายละเอียดของชิ้นงาน และเสนอถึงวิธีการติดตั้งงาน อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านภัณฑารักษ์ศึกษาโดยตรงและนักศึกษาได้พิจารณาแล้วไม่พบว่านิทรรศการนี้ไม่ขัดต่อระเบียบการใช้หอศิลป์แต่อย่างใด เทศกาลศิลปะนี้คือโครงการที่นำเสนอต่อเนื่องจนเป็นเทศกาลประจำปี ภายใต้ชื่อ MEDIA, ARTS and DESIGN FESTIVAL (MADs FEST) ทางสาขาวิชาฯ และนักศึกษามีประสบการณ์ในการดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งการจัดเตรียมโครงการ ข้อเสนอ และภาพร่างของผลงานที่เพียงพอที่จะให้ทางหอศิลป์ฯ ทราบถึงการจัดเตรียมพื้นที่. และอันที่จริง นิทรรศการกาลทางศิลปะซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองโดยตรงยิ่งสมควรได้รับการสนับสนุน หากกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และส่งเสริมการท้าทายทางความคิด เนื่องจากหอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่ทางศิลปะและก่อกำเนิดจากความต้องการของสาธารณะเพื่อสร้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกซึ่งจินตนาการ ตลอดจนความใฝ่ฝันของผู้คนในสังคม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image