ผู้เขียน | ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง |
---|
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นในประเทศยุโรป ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสสองครั้ง โดยทรงออกโครงการศึกษาหลายฉบับตั้งแต่ พ.ศ.2441-2464 แต่ยังไม่ปรากฏการศึกษาภาคบังคับเต็มรูปแบบ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตรากฎหมายการศึกษาภาคบังคับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา ครองราชย์สมบัติรวม 15 ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า” (พระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมปราชญ์) พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่สร้างวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
ด้านการศึกษาภาคบังคับของไทยเริ่มขึ้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464 โดยบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนอายุได้ 14 ปีบริบูรณ์ ซึ่งบางอำเภอและตำบลอาจเขยิบขึ้นเป็น 8 ปี 9 ปี หรือ 10 ปีได้
โรงเรียนตามกฎหมายฉบับนี้เป็นโรงเรียนประถมศึกษา ได้แก่
1.โรงเรียนรัฐบาล หมายถึง โรงเรียนประถมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งและดำรงอยู่ด้วยเงินในงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ
2.โรงเรียนประชาบาล หมายถึง โรงเรียนประถมศึกษาที่ประชาชนอำเภอหนึ่งหรือตำบลหนึ่งตั้งและดำรงอยู่ด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง หรือที่นายอำเภอ ตั้งขึ้นและดำรงอยู่ด้วยทุนทรัพย์ของประชาชน ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ
3.โรงเรียนราษฎร์ หมายถึง โรงเรียนประถมศึกษาที่บุคคลคนเดียวหรือหลายคนรวมกันตั้งและดำรงอยู่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์
ข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ คือ
1.เด็กอยู่ต่ำกว่า 14 ปี เมื่อได้เรียนจบหลักสูตรประถมศึกษาหรือหลักสูตรอื่นที่เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าเทียบได้ปานนั้น และสอบไล่ได้ประโยคประถมศึกษาตามหลักสูตรประถมศึกษาหรือหลักสูตรที่เทียบได้ปานนั้น
2.เด็กที่บกพร่องในส่วนกำลังกายหรือกำลังความคิด หรือเป็นโรคติดต่อ
3.เด็กที่อยู่ห่างจากโรงเรียนประถมศึกษาที่สอนให้เปล่าเกิน 3,200 เมตร หรือที่ไม่สามารถจะไปถึงโรงเรียนได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งอันไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้
การยกเว้นทั้งปวง ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ได้ แต่เมื่อให้ยกเว้นไปแล้วต้องรายงานต่ออุปราชหรือสมุหเทศาภิบาล อุปราชหรือสมุหเทศาภิบาลจะถอนการยกเว้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ไปนั้นเสียก็ได้
มาตรการกำกับดูแลการศึกษาภาคบังคับนี้กำหนดให้มีสารวัดศึกษาทำหน้าที่สอบบัญชีเด็ก เพื่อต้องการทราบว่าเด็กได้เรียนอยู่ตามที่แจ้งไว้หรือไม่ ถ้าบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือเด็กเองไม่ปฏิบัติตามที่แจ้งไว้นั้น ให้สารวัดศึกษาแจ้งความด้วยลายลักษณ์อักษรให้ปฏิบัติตามภายในเวลาอันสมควรสำหรับการกำหนดวิธีพิจารณาและลงโทมีดังนี้
1.บิดามารดาหรือผู้ปกครองใดที่ได้รับแจ้งความของนายอำเภอให้ส่งเด็กเข้าโรงเรียนประถมศึกษาไม่ปฏิบัติตามแจ้งความนั้น ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษและจะต้องกฎหมายเรียกไปยังศาลคดีอาญา หากไม่มีข้อเกิดแก้คดีอันพึงพิงได้ ให้ทำทัณฑ์บน โดยกำหนดจำนวนเงินค่าปรับ เมื่อผิดทัณฑ์บนไม่เกิน 50 บาท
2.ผู้ใช้เด็กทำงานขัดขวางไม่ให้เด็กเรียนอยู่ในโรงเรียนตามแจ้งความของนายอำเภอ ผู้นั้น มีความผิดลหุโทษ และให้ปรับไม่เกิน 50 บาท
จากกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติมาจนถึงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2545 มีการจัดอบรมการศึกษาชั้นประถมศึกษา 6 ปี (ป.1-ป.6) ชั้นมัธยมศึกษาต้อนต้น 3 ปี และตอนปลาย 3 ปี หรือระบบ 6-3-3 และมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 บังคับให้มีการศึกษาเก้าปี โดยมีแนวทางเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติประถมศึกษาในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันถือเป็นต้นแบบการศึกษาภาคบังคับของสยามในอดีตและประเทศไทยในปัจจุบัน