คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ประชาธิปไตยต่อหน้าต่อตา

คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ประชาธิปไตยต่อหน้าต่อตา โดย กล้า สมุทวณิช

เหตุการณ์ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรคงจะมีเรื่องและภาพมากมายให้จดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเจ้าตัวเอง

ที่ถือเป็นสุดยอดของที่สุด คือภาพที่ชายคนหนึ่งชู “นิ้วกลาง” สวนเข้าให้ ในขณะที่ตัวเขาลดกระจกรถยนต์ส่งสัญญาณมือเป็นรูปหัวใจดวงน้อย หรือมินิฮาร์ต ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอารักขาซึ่งทำหน้าตาบอกไม่ถูก

สัญญาณมือ “มินิฮาร์ต” ก็เป็นสิ่งที่ประยุทธ์มักจะทำส่งให้กลุ่มผู้นิยมชมชอบเขาอยู่เสมอ แม้ในเวลาอัน
ไม่เหมาะไม่ควรเมื่อครั้งที่มีเจ้าหน้าที่ทหารนำอาวุธสงครามมากราดยิงประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากที่โคราชเมื่อต้นปีก่อน

ส่วน “นิ้วกลาง” ก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการด่าประณามอย่างหยาบคายสุดในวัฒนธรรมตะวันตก ที่กลายเป็นภาษาสากลโลกไปแล้ว

Advertisement

นอกจากนี้ ก็ปรากฏข่าวและคลิปอีกมากที่เมื่อไรที่ประชาชนตามเส้นทางแซ่ซ้องสรรเสริญเขาด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นมงคลทั้งหลาย เมื่อใดที่สบโอกาส

นี่คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีผู้อยู่ในอำนาจมาเกือบแปดปีอาจจะเพิ่งได้รู้ หลังจากได้บทเรียนว่า ที่แท้แล้วนั้น “อำนาจ” ทั้งหลายทั้งปวงที่คิดว่ามี หรืออย่างน้อยก็เคยมี มิได้เกิดขึ้นจากตัวเขาเลย หากเกิดจากการอุ้มชูของบรรดากลุ่มอำนาจเบื้องหลังทั้งสิ้น

ขอให้นึกภาพเด็กเล็กวัยประมาณสามสี่ขวบที่ถูกเลี้ยงดูจนเหลิงคนหนึ่ง เด็กผู้ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่แหกปากโวยวายอยากจะได้อะไร หรือไม่ต้องการสิ่งใด ก็จะมีของสิ่งนั้นมาประเคนต่อหน้า หรือเก็บของรกใจนั้นออกไปในทันทีโดยผู้ใหญ่ที่คอยดูแล เด็กคนนั้นได้รับการปฏิบัติและเติบโตมาเช่นนี้เสียจนเข้าใจว่าแสดงกิริยาแหกปากร้องของตนนั้นเองที่บันดาลให้สิ่งใดเกิดขึ้น หรือดับลงได้ตามใจตัว

แต่แล้วเมื่อวันหนึ่งที่ผู้ใหญ่ผู้เคยจัดการเช่นนั้นให้ไม่เป็นอันตามใจให้เสียแล้ว จะเหตุใดก็ตามแต่ เมื่อเด็กแหกปากส่งเสียงจะเอาดังใจเช่นเคยก็พบแต่ความว่างเปล่า หรือหากเป็นเรื่องเกลียดชังรังควาน สิ่งนั้นก็มิได้หายไปเหมือนทุกครั้ง ทิ้งให้เด็กผู้เสียนิสัยนั้นงุนงงสงสัยและไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เหมือนเด็กคนนั้น และการ “ลงพื้นที่” ตรวจเยี่ยมราษฎร ทำให้เขาได้พบกับ
บทเรียนนั้นต่อหน้าต่อตา ไม่ว่าจะที่จังหวัดอ่างทอง หรืออุบลราชธานีที่ว่าไป

เขาได้พบความจริงว่าที่ผ่านมานั้น ที่เห็นมีแต่คนไปต้อนรับยิ้มแย้มปรบมือ นั่นก็เพราะมีผู้ไปเตรียมเกณฑ์จัดหามาให้ รวมทั้งเอาผู้ที่ต่อต้านเป็นปฏิปักษ์ไปเก็บให้แล้ว เช่นนี้เขาจะชูนิ้วมินิฮาร์ตแบบไม่รู้กาลเทศะ
หรือกล่าวนะจ๊ะเย้ยหยันชะตากรรมผู้ใดก็ไม่เห็นจะมีใครถือสา … ซึ่งแตกต่างจากวันนี้และต่อแต่นี้ไปโดยสิ้นเชิง

อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เขาได้ปะกับ “ประชาธิปไตย” และเจ้าของอำนาจที่แท้จริงแบบต่อหน้าต่อตา

เมื่อใดก็ตามที่กล่าวถึง “ประชาธิปไตย” หรือถ้อยคำประเภทว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทั้งหลาย ก็จะมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้ว่า “ประชาธิปไตย” เป็นแค่แนวคิดและปรัชญาการเมืองของตะวันตก ไม่ใช่สัจธรรม และไม่ใช่สิ่งที่อาจปรับใช้กันได้ทั้งโลก โดยเฉพาะในบริบทของประเทศสังคมและวัฒนธรรมเรา …ฯลฯ… ข้อโต้แย้งประเภทนี้ท่านคงนึกออกไม่ต้องกล่าวซ้ำ

หากแท้แล้ว “ประชาธิปไตย” ต่างหากที่เป็นการปกครองที่เป็นสัจธรรม เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นภาวะวิสัยที่สุด หาใช่แนวคิดทฤษฎีอันใดเลย

นั่นเพราะด้วยข้อเท็จจริงแล้ว ภายใต้สภาวะทางกายภาพอย่างเดียวกัน คนจำนวนสองคนย่อมมีพลังอำนาจมากกว่าคนหนึ่งคนอยู่แล้ว และคนยิ่งจำนวนมากเท่าใด พลังและอำนาจก็จะมากขึ้นไปตามจำนวนคนขึ้นไปเท่านั้น

เรื่องนี้ก็อาจจะมีตัวแปรที่เปลี่ยนไปบ้าง หากคนจำนวนน้อยมีอาวุธหนักเบาตามสภาพ คนถือมีดหนึ่งคนอาจจะมีพลังอำนาจมากกว่าคนราวสามถึงสี่คน แต่ถ้ามากกว่านั้นก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้าเป็นปืนก็อาจจะมีจำนวนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายไร้อาวุธมีจำนวนมากกว่าจริงๆ ฝ่ายที่มีอาวุธหนัก

อย่างไรสุดท้ายก็เสียเปรียบ ทั้งในเชิงกายภาพและน้ำหนักทางใจ … หากมีปืนที่มีกระสุนไม่จำกัด คุณอาจจะลั่นไกใส่คนได้ต่อเนื่องกันนับสิบคน แต่ถ้าเห็นคนอีกร้อยคนไม่ได้กลัวเกรงและดาหน้าเข้ามา น้ำหนักทางใจก็จะเพิ่มขึ้นจนอาวุธในมือก็อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพดังที่คิด

แต่เพื่อไม่ให้มนุษย์เราต้องวัดกำลังกันด้วยวิธีการอันโกลาหลเช่นนั้น (ซึ่งจริงๆ พวกเราก็เคยทำกันมาแล้วในอดีต) “ระบอบการปกครอง” จึงถูกสร้างขึ้นในสังคมรัฐ ระบอบที่สร้างสถาบันการเมืองขึ้นมาเพื่อใช้อำนาจต่างๆ กำหนดวิธีการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจให้ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการวัดกำลัง ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามแต่ระบบระบอบ สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องมีที่ทางให้สถาบันการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาด้วย

บทสรุปสำคัญเรื่องหนึ่งจากหนังสือ เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ ของ ศ.ยูวัล โนอาห์ แฮรารี คือมนุษย์เราผูกโยง กำหนดความสัมพันธ์ต่อกันไว้ด้วยความเชื่อในเรื่องเล่าเดียวกัน การปกครองก็มิใช่ข้อยกเว้น

อะไรกันที่ทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งขึ้นครองอำนาจสูงสุดในรัฐแทนบิดาที่เพิ่งเสียชีวิตสามารถออกคำสั่งประหารชีวิตนายพล ซึ่งคุมกองกำลังนับหมื่นคนได้ด้วยบัญชาเดียว เด็กหนุ่มมิได้มีกำลังกายภาพใดที่เหนือกว่า หรือพลังพิเศษควบคุมจิตใจ หากแต่เป็นคนรับคำสั่งตลอดจนคนที่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นเชื่อว่าตัวเองต้องทำตามคำสั่งนั้นเท่านั้นเอง ก็ด้วยอำนาจแห่งเรื่องเล่านั้น (ประกอบด้วยสภาพบังคับที่รู้ว่าหากไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้นแก่ตัวเองบ้าง)

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในสังคมเผด็จการเพียงไร ผู้ปกครองทุกคนต่างก็รู้ทั้งรู้ว่าที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ได้ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของคนหมู่มากในรัฐประเทศนั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยจำนวนที่มากพอ การสร้างความยินยอมพร้อมใจนั้นก็สุดแล้วแต่วิถีทางของผู้นำแต่ละคน เช่น การทำให้ผู้คนอยู่ดีกินดีเสียจนไม่ต้องสนใจเรื่องการเมืองการปกครอง หรือเรื่องอำนาจใดที่เหนือกว่าความมั่งคั่งที่ไม่เกี่ยวกับตนเอง หรือการสร้างโฆษณาชวนเชื่อสมบูรณ์แบบจนทำให้แม้ว่าราษฎรในประเทศจะยากลำบากเพียงใดก็ยังเชื่อว่าไม่มีหนทางที่ดีกว่านี้ และหากไม่อยู่ภายใต้การปกครอง หรือดื้อหืออืออาจะแย่กว่านี้เสียอีก ก็ว่ากันไปตามแต่วัฒนธรรมการเมืองของแต่ละรัฐประเทศ

สำหรับเผด็จการไทย ที่ผ่านมาอาจจะไม่ต้องเห็นหัวหรือต้องอาศัยการยอมรับจากประชาชนเสียเท่าไร ในเมื่อตัวเองสามารถนำตัวเองเข้าไปผูกโยงกับคุณค่าหลักของความเป็นชาติที่ผู้คนยอมรับโดยปริยายได้ ว่าสิ่งที่ผู้นำเผด็จการทำจะเป็นประโยชน์ต่อคุณค่าหลักและความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติที่ว่านั้น

หากในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกวันนี้ที่คุณค่าและวาทกรรมใดๆ ก็ถูกตั้งคำถาม ไม่มีสิ่งใดที่อาจยึดถือเป็นคุณค่าหลักได้อีกต่อไป การปกครองโดยกล่าวอ้างปาวๆ เพียงว่าทำเพื่อชาติที่ไม่มีประชาชนอยู่ข้างในนั้นก็ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป

ไม่ได้รับการยอมรับระดับไหน ก็ขนาดว่าตอนที่ประยุทธ์และคณะไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดอุบลฯ ในคราวเดิม ทั้งๆ ที่ทางโรงเรียนและฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องก็น่าจะจัดเกณฑ์เด็กนักเรียนมาและน่าจะซักซ้อมอะไรกันมาบ้างแล้ว แต่เมื่อท่านผู้นำถามว่า ในที่นี้มีใครอยากเป็นข้าราชการ หรือเป็นทหารบ้าง ความเงียบที่เด็กนักเรียนส่งกลับมานั้นคือคำตอบว่าคุณค่าแบบที่พวกท่านยึดถือ มันไม่มีใครสนใจไยดีอีกต่อไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ เขาอาจจะรู้แก่ใจว่า การเข้าสู่อำนาจภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญของเขาในการเมืองระบบรัฐสภานั้นมาจากการฉ้อฉลทางอำนาจที่ผสมรวมกันหลายวิธี แต่นั่นเป็นการ “รู้” ที่ “ไม่ต้องยอมรับ”

การออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ การตั้งพรรคมารองรับ การใช้กลไกองค์กรอิสระในการบันดาลให้ตัวเลขเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปได้ดังใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่ชอบเพียงไร ก็ไม่เป็นการร้ายแรงเท่าการตั้งสมาชิกวุฒิสภาด้วยตัวเองมาค่อนสภาเพื่อมายกมือยกไม้ให้ตัวเอง (แล้วใช้กลฉ้อฉลให้ประชาชนยอมรับรัฐธรรมนูญอันกำกวมที่เปิดทางอำนาจเช่นนั้น)

เพราะจะชั่วจะดี จะปัดเศษมาหรือไม่อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้แทนราษฎร” เสียแล้วก็จะต้องมี “ราษฎร” อย่างน้อยจำนวนหนึ่งที่เลือกเขาเข้ามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้คะแนนน้อยที่สุด ก็ยังมีผู้เลือกเขาเกินกว่าสามหมื่นห้าพันคน เพื่อให้ได้เป็นผู้แทนหนึ่งเสียงในสภา และเป็นหนึ่งเสียงที่เลือกนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ประยุทธ์และพวกสามารถ “เสก” เสียงให้เลือกตัวเองไว้ล่วงหน้าได้ถึง 250 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ถ้าคิดแบบหยาบที่สุด เท่ากับเขาโกง “อำนาจตัดสินใจ” ของประชาชนชาวไทยไปทั้งหมดอย่างต่ำถึงแปดล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นเท่า

เรื่องนี้เจ้าตัวก็คงจะรู้ทั้งรู้แก่ใจ แต่ก็คงจะไม่กล้ายอมรับ หากการต้อนรับของ “เจ้าของอำนาจตัวจริง” ที่อ่างทอง อุบลฯ และจังหวัดอื่นๆ ก็คงจะทำให้เขาต้องค่อยๆ ยอมรับถึงสภาพความเป็นจริงนี้ ว่าเสียงสนับสนุนในสภา หรือความไว้วางใจที่ได้รับตามกระบวนการนั้น ไม่ใช่การสนับสนุนที่แท้จริง และไม่ต้องพูดถึงความไว้วางใจด้วยซ้ำ

หนำซ้ำเรื่องนี้ ฝ่ายอำนาจที่เคยหนุนเนื่องให้ประยุทธ์อาจจะเริ่มรู้แล้วด้วยซ้ำ ปฏิบัติการ “เลื่อยเก้าอี้” จนทำให้เขาไม่พอใจจนกระทบกระเทือนต่อผู้สนับสนุนอุ้มชูให้อยู่ในอำนาจคนสำคัญนี้ ก็อาจจะเกิดจากการที่ฝ่ายนั้น ซึ่งเป็นนักการเมืองและสัมผัสกับประชาชนมากกว่า อาจจะหยั่งทราบได้แล้วถึงความต้องการอันแท้จริงของประชาชน และกำลังจะหาทางเอาตัวรอด ที่ถ้าเป็นหุ้นก็คือการขายทิ้งเพื่อตัดตอนความเสียหายนั่นแหละ

เพราะตราบใดที่ยังจะปกครองกันในระบอบรัฐสภามีรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ในการจัดสูตรคำนวณพิสดารอะไรแค่ไหน ท้ายที่สุดก็จะต้องวัดกันด้วยเสียงของประชาชน ซึ่งถ้ามีจำนวนมากมายจริงๆ พร้อมกันให้คำตอบแก่ผู้ปกครองคณะนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้

ความลนลานรีบรุดลงเข้าหาประชาชนของประยุทธ์อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ และไม่เคยเจอ “ของจริง” จึงอยู่ในสภาพที่ “ทำอะไรก็ผิด” โดยที่เจ้าตัวอาจจะเพิ่งรู้ด้วยซ้ำว่าที่ผ่านมา คือ ทำอะไรไม่เข้าท่ามาตลอด แต่ไม่มีใครคอยบอกเตือนเท่านั้นเอง

จะว่าไปก็คล้ายเรื่องของเด็กน้อยที่ถูกทำให้เหลิงที่เล่าไว้ในตอนต้นอยู่เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image