ทวงคืนหอศิลป์ ทวงคืนเสรีภาพ หยุดเป็น ‘เด็กดี’ ของรัฐเผด็จการ

ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี พร้อมนักวิชาการและนักศึกษา มช. กว่า 20 คน ยื่นหนังสือขออำนาจศาลปกครอง เชียงใหม่ ขอคุ้มครองคำสั่งชั่วคราว กรณีไม่อนุมัติใช้หอศิลป์ เพื่อจัดแสดงผลงานของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ภาคเรียนที่ 1/2564 เมื่อจันทร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทวงคืนหอศิลป์ ทวงคืนเสรีภาพ หยุดเป็น ‘เด็กดี’ ของรัฐเผด็จการ

จะบ้าตายรายครึ่งปี

กลับมาอยู่ในกระแสข่าวอีกแล้วสำหรับวงการศิลปะร่วมสมัยในล้านนาประเทศ

หลังเกิดวิวาทะครั้งใหญ่ไปหมาดๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ทว่า ไม่ทันข้ามปี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ตกอยู่ในสปอตไลต์อีกรอบด้วยประเด็นเดิมๆ และคำถามเก่าๆ อย่าง ‘เสรีภาพ’ ของศิลปิน เมื่อนักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (มีเดียอาร์ต) คณะวิจิตรศิลป์ 40 คน ชุมนุมร้องเรียนต่อ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี เมื่อ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ต่อกรณีการพยายามตรวจสอบและเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะของนักศึกษา โดยอ้างว่ามีเนื้อหา ‘ทางการเมือง’

หนก่อน ขนผลงานนักศึกษายัด ‘ถุงดำ’ หนนี้ตัดไฟตัดน้ำ ซ้ำล็อกประตูรั้วหอศิลปวัฒนธรรม ขังนักศึกษาราวครึ่งร้อย จน ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี เจ้าเก่า พร้อมด้วยนักศึกษาชายอีกหลายคน ช่วยกันนำคีมตัดโซ่ที่ไม่เพียงพันธนาการไว้ซึ่งเสรีภาพของนักเรียนศิลปะ หากแต่ยังเป็นภาพสะท้อนของความพยายามปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความคิดในฐานะมนุษย์

Advertisement

เป็นปัญหาเดิมๆ ที่ถอดบทเรียนแล้ว ถอดบทเรียนเล่า แต่ภาพเก่าๆ ก็ยังเกิดซ้ำซาก อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ ‘เด็กดี’ ที่ถอดแบบจากตำรายุคเก่า ล่าสุด นอกจากเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ภูพิงค์ เพื่อดำเนินคดีหากมีความผิดต่อผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังประกาศยื่นขออำนาจศาลปกครองให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีการไม่อนุมัติใช้หอศิลป์เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม

เสวนา ‘ทวงคืนหอศิลป์ ทวงคืนเสรีภาพ!’ เย็นวันที่ 17 ตุลาคม
  • เมื่อไหร่จะเลิกพูด‘อย่าเอาการเมืองมายุ่งมหา’ลัย’

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นักวิชาการทั้งในและนอกแวดวงศิลปะมีคอมเมนต์สะกิดเน้นๆ ในประเด็นสำคัญ ดังเช่นความเห็นของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านเพจ ‘ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง’ ความว่า นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา การคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามจัดการอภิปราย สัมมนา การเชิญวิทยากรในวิชาสอน ล่าสุด คือการจัดแสดงงานศิลปะที่ต้องมีการ ‘เซ็นเซอร์’ ก่อน เหตุผลหลักที่ได้ยินกันบ่อยครั้งก็คือ ‘มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดจากการเมือง’

รศ.สมชาย ดักคอว่า ถ้าความจำไม่สั้นจนเกินไป ก็ย่อมชัดเจนว่าคำอธิบายดังกล่าวเป็นการโป้ปดอย่างชัดเจน เพราะเห็นกันอยู่ว่าก่อนการรัฐประหาร มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งต่างโห่ร้องต้อนรับกับการเป่านกหวีดมากมายขนาดไหน

Advertisement

‘ภาพถ่ายก็มีให้เห็นกันอย่างทนโท่ บรรดาผู้พูดก็ล้วนแต่มีภาพเป่านกหวีดคาปากกันแทบทั้งสิ้น จะต้องให้ขุดภาพมาทบทวนความจำกันอีกกี่รอบจึงจะหายอาการสมองเสื่อมกัน ไม่ต้องพูดถึงว่าภายหลังการรัฐประหาร ผู้บริหารระดับสูงในหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ดิบได้ดีในการเข้าร่วมกับรัฐประหารในนานาตำแหน่ง

ขณะที่ยินดีปรีดากับการเข้าร่วมกับฝ่ายอำนาจนิยม ตรงกันข้าม เมื่อมีการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นของผู้คนในมหาวิทยาลัย ก็กลับต้องเผชิญกับการคุกคาม การปิดกั้น การกดดัน ในแทบทุกรูปแบบ ทั้งด้วยวิธีการใต้ดินและวิธีการแบบบนดิน…’

อาจารย์นิติศาสตร์ท่านนี้ยังยกตัวอย่างการจัดอภิปรายโดยมีนักวิชาการอาวุโสที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางร่วมเป็นวิทยากร ในฐานะผู้จัด ตนก็ต้องพบกับความยุ่งยากเป็นอย่างมาก ทั้งที่สำหรับนักวิชาการเหล่านั้นมีผลงานประจักษ์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เมื่อยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการจัดงานก็ได้รับการกำชับกำชามาอย่างหนักแน่นว่า ‘ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ ซึ่งแน่นอนว่าคำถามสำคัญก็คือว่าการเมืองนั้นมีความหมายกว้างขวางแค่ไหน ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการดำรงอยู่ของอำนาจใดๆ กระทำมิได้ การอวยยศอวยเกียรติกับสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ควรกระทำได้เช่นกันมิใช่หรือ

‘จะมีสิ่งใดน่าละอายใจสำหรับสถาบันทางวิชาการรวมถึงผู้คนในมหาวิทยาลัยมากไปกว่าการอนุญาตให้เอ่ยชมแต่ห้ามแสดงความเห็นต่างอีกหรือ เอาเข้าจริงแล้วมหาวิทยาลัยก็ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและยุ่งเกี่ยวแบบนัวเนียเสียด้วย ที่ไปนั่งอยู่ สนช.ภายหลังรัฐประหาร ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรี ไปอยู่ในองค์กรโน่นนี่นั่น ได้ดิบได้ดีจากการรับใช้ผู้มีอำนาจ กระทั่งงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา และอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับการเมืองทั้งนั้นแหละ

หากต้องการเห็นความงอกงามทางปัญญา มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงความเห็น การถกเถียง การแลกเปลี่ยน ยิ่งในประเด็นที่มีความอ่อนไหว มหาวิทยาลัยก็ยิ่งควรเป็นแบบอย่างของการเปิดให้มีการใช้เหตุผลและปัญญาในการนำเสนอ หรือโต้แย้งกันอย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรมีเสรีภาพดังกล่าวอย่างเต็มที่

สำหรับผมแล้ว หากจะมีใครจัดงานแสดงศิลปะเพื่ออวยอุดมการณ์แบบจารีตในมหาวิทยาลัยก็ควรเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพียงแต่เขาก็ต้องพร้อมจะรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากคนเห็นต่างเช่นกัน

เลิกให้เหตุผลเรื่องอย่าเอาการเมืองมายุ่งกับมหาวิทยาลัยกันเสียทีนะครับ ถ้าใครยังพูดแบบนี้อีกก็จะหารูปตอนคล้องนกหวีดมาให้ดูกันให้ตาแฉะอีกคราว’

รศ.สมชายทิ้งท้ายอย่างมั่นใจในหลักฐานเชิงประจักษ์

เหตุการณ์ ‘ตัดโซ่’ หอศิลป์ มช. 16 ตุลาคม (ภาพจาก ‘ประชาไท’)
  • เซ็นเซอร์ย้อนยุคกว่ากรีกโบราณ เพราะอยากเป็น‘เด็กดี’ของรัฐเผด็จการ?

ไม่เพียงเท่านั้น ในเสวนา ‘ทวงคืนหอศิลป์ ทวงคืนเสรีภาพ!’ เมื่อช่วงเย็นย่ำของวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา หน้าหอศิลป์จุดเกิดเหตุ รศ.สมชายยังมีข้อเสนอต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื้อหาสำคัญโดยสรุปว่า ถ้ามองว่าผลงานศิลปะของนักศึกษามีปัญหาควรมาถกเถียงพูดคุย ไม่ใช่ปิดหอศิลป์ เลิกใช้อำนาจ ไม่ใช่
ลุแก่อำนาจ

ในขณะที่ผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ก็ให้ความเห็นอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มช.อยากผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่สากล แต่ในการกระทำต่อนักศึกษาที่เกิดขึ้นกลับย้อนแย้ง

“สิ่งที่นักศึกษาทำในวันนี้มันจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการยืนยันสิทธิของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมากับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ มช. มันชวนให้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยเป็นของใคร รับใช้ใคร และนักศึกษาอยู่ตรงไหนของมหาวิทยาลัย คือพวกคุณจ่ายเงินเข้ามาเรียน ไม่ได้มาขอทานความรู้ แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติกับนักศึกษามีเดียอาร์ตมันสะท้อนคำถามใหญ่เลยว่า ตกลงนักศึกษาอยู่ตรงไหนในสถาบันอุดมศึกษานี้ ชนชั้นนำที่กุมทิศทางของ มช.ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีความกระหายอยากที่จะทำสองเรื่อง เรื่องแรกคือ อยากจะพาสถาบันไปอยู่แนวหน้า ไปแข่งขันกับสถาบันอื่นๆ

สองคือ อีกด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยก็อยากจะเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ อยากที่จะเป็นแขนขาของอำนาจนิยม เปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ของการถูกตรวจตราควบคุม อย่างกรณีของนักศึกษาที่ถูกเซ็นเซอร์ผลงานตอนนี้ ดิฉันไม่คิดว่าประยุทธ์สั่งมา แต่เป็นสิ่งซึ่งอยากทำเอง เพื่อที่จะชี้หรือแสดงจุดยืนให้เห็นว่าเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ สิ่งที่สังคมข้างนอกรัฐเผด็จการทำอย่างไรก๊อบปี้และเลียนแบบเอามาทำ เพื่อที่จะจำกัดและกำจัดเสรีภาพการแสดงออกของคณาจารย์และนักศึกษา ปัญหามันคือทิศทางของสองข้อนี้มันไปด้วยกันไม่ได้ คุณอยากที่จะ Globalize แสดงให้เห็นว่าคุณเจริญ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็อยากจะเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ สองทิศทางนี้มันขัดแย้งและย้อนแย้งกันเอง” รศ.ดร.ปิ่นแก้วกล่าว

ด้าน พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ กล่าวว่า การแสดงออกทางการเมืองมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ การละเมิดสิทธิอย่างนี้ถือเป็นการย้อนยุคมหาวิทยาลัยควรจะเป็นบ่อน้ำที่ดับกระหายสำหรับประชาชน เป็นพื้นที่ที่ควรจะมีเสรีภาพมากที่สุด เพราะการปฏิวัติต่างๆ ในโลกเกิดจากคนหนุ่มสาว เกิดจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนั้นคือตกยุค

“แค่นักศึกษาจะแสดงผลงานแล้วปิดกั้นไม่ให้เขาแสดงเป็นเรื่องที่ละเมิดเสรีภาพด้านการแสดงออก เป็นสิทธิที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มันมีมาตั้งแต่ยุคของกรีกโบราณ สมัยนั้นเขามีสภา มีกฎ มีกติกาให้ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ทุกเรื่องไม่ต้องเกรงใจกัน แล้วในยุคปัจจุบันเราก็จะเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศทุกฉบับรับรองเสรีภาพในการแสดงออก การปิดกั้นว่าแสดงออกเรื่องนั้นได้ เรื่องนี้ไม่ได้ ผมว่ามันย้อนยุคนะ ย้อนกลับไปไกลกว่ายุคกรีก”

  • ผลิตซ้ำอุดมการณ์ผู้กุมอำนาจ? สวนทางอดีตอันรุ่งโรจน์

นักวิชาการอีก 1 รายที่ร่ายจดหมายเปิดผนึกแนบหมามุ่ยผ่านเนื้อหาแสบๆ คันๆ คือ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งคำถามถึงมาตรฐานที่เคยสูงของคณะวิจิตรศิลป์ ว่าวันนี้กลับตกต่ำ ความว่า นับตั้งแต่กรณีการปรับเปลี่ยนการบริหารงบประมาณของภาควิชาที่ตามระเบียบเดิมเป็นการบริหารที่ภาควิชามีเดียฯเองมีอิสระในการบริหาร ไปเป็นการบริหารภายใต้อำนาจของคณะ กรณีการไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลป์จัดงานแสดงประจำปีของนักศึกษาเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา กรณีการยึดผลงานนักศึกษา กรณีการข่มขู่หรือถึงกับดำเนินคดีทางการเมืองกับนักศึกษา แล้วล่าสุดคือกรณีการตรวจสอบผลงานนักศึกษาก่อนจัดแสดง ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำเยี่ยงนี้มาก่อน ทำให้มีคำถามแก่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ จนถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ.ดร.ยุกติ ป้อน 3 คำถามสำคัญ ได้แก่ ข้อแรก ศิลปะคืออะไร ในมุมมองของคณะวิจิตรศิลป์ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารชุดปัจจุบัน ศิลปะคือผลงานสวยงามที่จรรโลงความสุขความบันเทิง หรือแม้แต่โน้มนำไปสู่พุทธิภาวะแก่ผู้ชม ผู้เสพเท่านั้นหรือ หรือที่คับแคบยิ่งกว่านั้นคือ งานศิลปะจะต้องรับใช้หรือสอดคล้องกับค่านิยม ความเชื่อ ความดีงามตามบรรทัดฐานของรัฐบาล ตามบรรทัดฐานของสังคมเท่านั้นหรือ

‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่านก็คงต้องเลิกสอนศิลปะตะวันตก เลิกสอนแม้กระทั่งศิลปะไทย แล้วหันไปสอนศิลปะมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เขียนงานบนฝาผนังถ้ำ หรือปัจจุบันนี้หากพวกท่านได้ดำเนินการเช่นนั้นไปแล้วหรือกำลังจะปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปดังนั้น ผมก็ขออภัยที่มิได้ล่วงรู้หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะฯ ในรายละเอียด

ข้อต่อมา ผมสงสัยว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ศิลปะตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการ รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่ผลิตคนป้อนนโยบายรัฐ ป้อนกระแสสังคม เพียงเท่านั้นหรือ บทบาทของศิลปินหรือนักวิชาการ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ในทรรศนะของผู้บริหารคณะฯชุดนี้ คือการผลิตซ้ำวัฒนธรรม อุดมการณ์ ค่านิยม ระบบคุณค่าของสังคมหรือของผู้มีอำนาจบางกลุ่ม โดยไม่มีข้อสงสัย ไม่มีข้อทัดทาน เลยอย่างนั้นหรือ

แต่หากผู้บริหารคณะฯยืนยันว่า แนวทางการบริหารของตนเองไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น ก็โปรดอธิบายให้สาธารณชน อย่างน้อยให้ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนได้รับรู้ว่าสิ่งที่พวกท่านกำลังกระทำอยู่ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการแสดงออกที่แตกต่างไปจากกรอบบรรทัดฐานของรัฐและสังคมไทยอย่างไร’

ข้อสาม หากผู้บริหารคณะฯเห็นดังนั้น ทำไมคณะผู้บริหารจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมการแสดงออกของนักศึกษา ในแนวทางที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อบรรทัดฐานของรัฐไทยและสังคมไทยทั่วไป คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ส่งเสริมให้เกิดความคิดนอกกรอบ’ รศ.ดร.ยุกติระบุในจดหมาย

  • มหาวิทยาลัยไม่ใช่ ร.ร.ดัดสันดาน คาใจ‘ไม่ทัดทาน’ปิดกั้นการแสดงออก?

แม้ถามครบ 3 ข้อแล้ว นักมานุษยวิทยาชื่อดังท่านเดียวกันนี้ยังมีอีก 1 ข้อสุดท้าย โดยจ่อไมค์ไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า การบริหารการศึกษาศิลปะตามแนวทางของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ชุดปัจจุบันนี้ ได้รับการยอมรับ เห็นดีเห็นงามจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ว่าเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยหรือไม่

หากเป็นไปตามแนวทางปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะยืนยันหรือไม่ว่าแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ แล้วถ้าเช่นนั้น จะอธิบายอย่างไรว่าการกระทำต่างๆ ของคณะวิจิตรศิลป์ที่ผ่านมาไม่กี่ปีนี้ เป็นการส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกทางศิลปะและวิชาการหรือว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองเห็นด้วยว่าจะต้องปิดกั้นการแสดงออกทางศิลปะ ตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการในสาขาวิชาอื่นๆ นั่นหมายความว่า หากผู้บริหารประสงค์จะปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาก็สามารถกระทำได้ มหาวิทยาลัยจะไม่ทัดทานการปิดกั้นใช่หรือไม่

‘หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันกับคณะวิจิตรศิลป์ ไม่ทัดทาน ไม่สอบสวนการกระทำอันเข้าข่ายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของคณะวิจิตรศิลป์แล้ว ผมก็สงสัยอย่างยิ่งว่า การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตามทรรศนะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คือการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสูงในแง่ของผลผลิต โดยไม่ได้ใส่ใจกับคุณค่าของเสรีภาพการแสดงออก ไม่ได้ใส่ใจกับการให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะแหวกขนบ นอกกรอบ แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมเลยอย่างนั้นหรือ

ถึงที่สุดแล้ว หากงานศิลปะ งานวิชาการ และมหาวิทยาลัยไม่ต้องแสดงบทบาทในการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าแก่สังคม ไม่สอนให้คิดนอกกรอบ ไม่สอนให้เกิดความคิดวิพากษ์วิจารณ์ ผมสงสัยว่าเราจะมีมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไรกัน หรือไม่เช่นนั้น มหาวิทยาลัยก็ดำเนินกิจการต่อไปนั่นแหละ แต่ควรสำนึกในใจให้ดังๆ ว่า พวกคุณกำลังดำเนินกิจการโรงเรียนดัดสันดาน หรือกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ มากกว่าจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา’

หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image