‘ณพลเดช’ แนะ รบ.-กทม. นำโมเดล G-Cans ของญี่ปุ่น แก้น้ำท่วมซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ดร.ณพลเดช มณีลังกา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ พรรคเพื่อไทย(พท.) และที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบราชการเพื่อปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการได้ลงเยี่ยมเยือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ว่าวิกฤติน้ำท่วมยังสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะปลายเดือนนี้อาจจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากขึ้น ตนอยากให้รัฐบาลและกทม. นำโมเดล G-Cans การบริหารจัดการน้ำจากเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่เขาไม่ปล่อยให้ประสบการณ์อันเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจากภัยพิบัติน้ำท่วมอันเลวร้ายและรุนแรงที่สุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2534 ของโตเกียว บ้านเรือนจมน้ำกว่า 30,000 หลัง มีผู้เสียชีวิตถึง 52 คน ทำให้ โตเกียวได้พัฒนาระบบระบายน้ำที่ชื่อเรียกสั้นๆ ว่า G-Cans ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 13 ปี ด้วยงบประมาณสูงถึง 60,000 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2536 แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2549 โดยหลักการสร้างแก้มลิงเป็นหลุมท่อขนาดใหญ่จำนวน 5 หลุม มีความลึก 70 เมตร (ความสูงของอนุสาวรีชัยสมรภูมิต่อกัน 3 ชั้น) เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เมตร และทำการเชื่อมด้วยท่อใต้ดินที่ลึกลงไปใต้พื้นดิน 50 เมตรโดยตัวท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร รวมระยะทางตั้งแต่แม่น้ำสายแรก Oootoshifurutone ถึงจุดปลายอีกข้างคือแม่น้ำ Edo รวมระยะทาง 6.3 กิโลเมตร มีเครื่องระบายน้ำในจุดสุดท้ายกว่า 78 ตัวเผื่อผันน้ำออก ความสามารถในขณะเกิดภัยพิบัติสามารถระบายน้ำ 200 ตันต่อวินาที อีกทั้งมีการออกแบบระบบ Vortex Drop Shaft หรือการปรับการไหลโค้งของน้ำเพื่อป้องกันแรงดันภายในอุโมงค์ สำหรับอุโมงค์ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของญี่ปุ่นนี้ (Water Discharge Tunnel) ยังเปิดให้เข้าไปชมความยิ่งใหญ่ ทำให้สถานที่นี้มีลักษณะเหมือนปราสาทจนได้รับการขนานนามว่า มหาวิหารพาร์เธนอนใต้ดิน (Underground Parthenon) เป็นการนำรายได้ในการท่องเที่ยวเข้าประเทศได้อีกทาง สำหรับประเทศไทยอุทกภัยปี 2554 ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 4,039,459 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 657 ราย (44 จังหวัด) ซึ่งมากกว่าญี่ปุ่นมากแต่เราปล่อยให้ประสบการณ์อันเลวร้ายไม่ได้เป็นสิ่งที่จะนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งปีนี้ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าเราก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนเดิม จากที่มีความพยายามที่จะมีโครงการอุโมงค์ระบายน้ำจากภาครัฐตนเห็นว่ายังไม่ตอบโจทย์ เพราะท่อยังมีขนาดเล็กและยังไม่มีแก้มลิงที่เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำไว้ใต้ดินแบบญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการจัดการระบายน้ำตามคลองซึ่งมีชุมชนและตึกขวางกั้นเป็นอุปสรรคต่อการจัดการน้ำ รวมถึงไม่ให้รณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกรักษามีวินัยรักความสะอาดการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ช่วยเหลือกัน ไม่มีการวางแผนเผื่อปรากฏการเอลนีโญและลานีญา ที่จะเป็นปัญหากับประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเลซึ่งประเทศไทยต้องได้รับผลกระทบในอนาคตอย่างแน่นอน

ดร.ณพลเดช กล่าวต่อว่า สำหรับผลของเอลนีโญและลานีญา เราได้ประสบการณ์น้ำท่วมปี 2562 ทำให้เกิดฝนแล้งในปี2563 จนนายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้ชาวนา ปลูกหมามุ่ย แทนข้าวมาแล้ว และขณะนี้ประสบการณ์น้ำมากตนเห็นว่าเราไม่ควรให้ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่าน้ำท่วมปี 2564 จะมีฝนแล้งปี 2565 ต่อไปอีก ตนเห็นว่ารัฐบาลควรวางมาตรการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมมากกว่านี้ เพื่อให้น้ำไม่ถึงกับท่วมให้ประชาชนเดือดร้อนแต่ก็ไม่เร่งผันน้ำสู่ทะเลจนทิ้งประโยชน์ของทรัพยากรน้ำที่มีค่าทิ้งไปเสียเปล่า จนเมื่อให้เกิดวิกฤติฝนแล้งและรัฐบาลก็จะต้องนำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไปแก้ไขน้ำทะเลหนุน แก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรเสียหาย และต้องนำเงินกู้ที่เกินเพดานเพื่อนำไปเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำแล้งซึ่งอาจมากกว่าการเยียวยาประชาชนในขณะน้ำท่วมเสียอีก หากเราไม่มีการนำเอาประสบการณ์ที่ย่ำแย่นำมาแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นและไม่มีวิสัยทัศน์ที่มองเห็น Scenario ที่อาจมีสัญญาณเล็กๆ ของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น (Small signal) เราก็อาจเหมือนกับสุภาษิต ที่ขงจื๊อเคยกล่าวไว้เมื่อ 2,000 ปีก่อนว่า คนฉลาดและขยัน ควรส่งเสริมให้เป็นแม่ทัพ, คนฉลาดและขี้เกียจ ควรเลี้ยงไว้เป็นทหารฝ่ายเสนาธิการวางแผนอยู่เบื้องหลัง, คนโง่และขี้เกียจเก็บไว้ใช้สอยทำงานตามคำสั่งก็พอไหว, แต่ถ้าเจอคนโง่และขยัน ต้องเอาไปตัดหัวทิ้งทันที และการทำงานของรัฐบาลและกทม. ที่ทำอยู่ขณะนี้จะเข้าข่ายโง่และขยันหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image