อดีตเลขาฯสภาทนายชี้ หากลูกค้าถูกหักเงินโดยไม่ได้ใช้บัตร แบงก์ต้องคืนเงิน

“สมบัติ”อดีตเลขาฯสภาทนายชี้ หากลูกค้าถูกหักเงินโดยไม่ได้ใช้บัตรเครดิต-เดบิต เป็นหน้าที่ธนาคารคืนเงินลูกค้าตามเดิมเเละเป็นผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์

กรณีคนร้ายจากต่างประเทศลักลอบขโมยข้อมูลบัตรเดบิตและบัตรเครดิตของประชาชนนำไปซื้อสินค้าและบริการในต่างประเทศแล้วทำให้ธนาคารเรียกเก็บเงินจากบัญชีลูกค้าจนเดือดร้อน มีปัญหาว่าประชาชนจะต้องรับผิดหรือมีทางป้องกันแก้ไขอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าที่พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ เผยว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักการคือ สัญญาบัตรเครดิต คือสัญญาที่ “ผู้ออกบัตร” (ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) ออกบัตรให้แก่ “ผู้ถือบัตร” (ลูกค้า) เพื่อให้ลูกค้าผู้ถือบัตรสามารถใช้แทนเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินในทันที ณ ร้านค้าที่รับบัตร รวมถึงร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต โดยธนาคารหรือเจ้าของบัตรจะมีข้อตกลงว่าธนาคารจะเป็นผู้ชำระเงินให้แก่ร้านค้าโดยจะไปเรียกเก็บจากผู้ถือบัตรเอง และจะมีการสรุปยอดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนเพื่อให้ผู้ถือบัตรชำระเงินให้แก่ธนาคารในภายหลัง

ว่าที่พ.ต.ดร.สมบัติกล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ทั้งที่มีความพยายามยกร่างพระราชบัญญัติบัตรเครดิตหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านการพิจารณาในสภานิติบัญญัติออกเป็นกฎหมายได้ ทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายอยู่เสมอ ๆ ปัจจุบันมีเพียงประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเท่านั้นที่ประกาศในธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้ถือบัตรได้อย่างเต็มที่

ปัญหาการถูกหักเงินจากบัญชีธนาคารเนื่องจากมีการใช้ข้อมูลบัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการในต่างประเทศ ทั้งที่ผู้ถือบัตรไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ และไม่ได้ซื้อสินค้าและบริการโดยใช้บัตรดังกล่าว แต่อย่างใด ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

Advertisement

เบื้องต้นคงต้องดูว่า ผู้ถือบัตร ได้ใช้บัตรเครดิตไปซื้อสินค้าในต่างประเทศหรือไม่ หากข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ผู้ถือบัตรไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรซื้อสินค้านั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินหรือถูกธนาคารหักเงินจากบัญชีของตน และตามข่าวที่ว่า การที่มีผู้ลักลอบนำรายละเอียดของเลขบัตรเครดิตและเลขรหัส 3 ตัว หลังบัตร (CVV Number) ซึ่งเป็นข้อมูลและเป็นบัตรเครดิตของธนาคาร การที่ธนาคารผู้ออกบัตรต้องรับผิดชอบในการชำระเงินให้แก่ร้านค้า เพราะมีข้อตกลงว่าธนาคารจะเป็นผู้ชำระเงินให้แก่ร้านค้าเอง ธนาคารจึงเป็นผู้เสียหายทั้งทางแพ่งและทางอาญา ในคดีนี้

“ผู้ถือบัตรเครดิต มีหน้าที่ต้องแจ้งปฏิเสธการเรียกเก็บเงินและหักบัญชีตามบัตรเครดิต และธนาคารมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ผู้ถือบัตรแจ้ง หากมีการหักเงินจากบัญชีลูกค้าผู้ถือบัตรแล้ว ธนาคารมีหน้าที่ต้องคืนเงินเข้าบัญชีให้แก่ลูกค้าตามเดิม “ว่าที่พ.ต.ดร.สมบัติกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าใครเป็นผู้เสียหายว่าที่พันตรีดร.สมบัติกล่าวว่าธนาคารเป็นผู้เสียหายไม่ใช่ประชาชน เมื่อธนาคารเป็นผู้เสียหาย ธนาคารจึงเป็นผู้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และดำเนินคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนต่อไป

Advertisement

ตัวอย่างของกรณีนี้ หากไม่เป็นข่าว ตำรวจคงไม่รับแจ้งความ และผู้ถือบัตรคงต้องเป็นคนรับเคราะห์ไปตามลำพัง ดังนี้ ผู้ที่ใช้บัตรเครดิตต้องพึงระวังในการที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิต และหมายเลขสามตัวหลังบัตรเครดิต (CVV) ควรจำและขูดลบหมายเลขหลังบัตรทันทีก่อนนำบัตรไปใช้ และให้ระมัดระวังในการซื้อสินค้าออนไลน์ กับผู้ขายที่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่เปิดเผยข้อมูลให้ผู้อื่นทราบ โดยเฉพาะการให้กู้ออนไลน์ หรือเกมส์ออนไลน์ ถึงแม้จะเป็นการสอบถามจากธนาคารก็ไม่ตอบ เพราะทุกธนาคารไม่มีนโยบายที่จะสอบถามข้อมูลหรือขอให้ลูกค้ากรอกข้อมูลโดยเด็ดขาด

ข้อเตือนใจสำหรับผู้ใช้บัตรเครดิต คือ ให้จดจำเบอร์ Call Center ของธนาคาร ให้ตรวจสอบรายการเรียกเก็บเงินโดยละเอียด หากพบความผิดปกติเกี่ยวบัตรเครดิตของเรา ให้แจ้งอายัดบัตรทันที และแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน พร้อมปฏิเสธการเรียกเก็บเงินกับธนาคาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image