อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ถอดบทเรียน ‘กลุ่มเปราะบาง’ จากต้นน้ำถึงปลายทาง ‘หลังโควิด’

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ถอดบทเรียน ‘กลุ่มเปราะบาง’ จากต้นน้ำถึงปลายทาง ‘หลังโควิด’

หลังล็อกดาวน์ประเทศมาอย่างยาวนานด้วยสถานการณ์โควิดที่ดิ่งลงเหวจากกราฟผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่พุ่งสูงนับหมื่น

1 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว

ยกเลิกเคอร์ฟิวใน 17 จังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานครตั้งแต่ค่ำคืนวันที่ 31 ตุลาคม ในวันที่บรรยากาศโดยรวมเริ่มคลี่คลาย

ก่อนจะถึงวันนั้น อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสาธารณศึกษา ผู้ลงพื้นที่เป็นอาสาสมัครตัวจริงในช่วงเวลาที่โควิดระบาดหนัก พร้อมเล่าประสบการณ์ ถอดบทเรียน เปิดมุมมองของปัญหาที่ ‘กลุ่มเปราะบาง’ ในเมืองต้องพบเจอ

Advertisement

●สัปดาห์หน้าจะมีการเปิดประเทศ ในฐานะคนทำงานจริงในพื้นที่แพร่ระบาด มองสถานการณ์โควิดขณะนี้อย่างไร?

ยังไม่เชื่อว่าสถานการณ์โควิดมันดีขึ้น จริงๆ แล้วต้องพูดว่าเราตรวจโควิดด้วยเครื่องมือที่มีความหลากหลาย เช่น RT-PCR ที่เป็นระบบแล็บเป็นสิ่งที่รัฐรับรองเข้าระบบโรงพยาบาลได้ ขณะเดียวกันเราก็ตรวจด้วย ATK ที่เป็น Rapid test ซึ่งไม่ได้นำเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล แต่เป็นกระบวนการ Home isolation, Community isolation หรือแม้กระทั่งการนอนโรงพยาบาลสนาม ตรงนี้เราก็ยังเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือการตรวจหรือเข้าถึงเครื่องมือการตรวจแล้วแต่เข้าไม่ถึงการรักษา เท่ากับว่าภาวะแบบนี้ก็ยังมีคนที่เสี่ยงต่อการติดอยู่ หรือบางคนติดแล้วแต่อาจจะเป็นเคสเหลือง เคสเขียว หรือเคสขาว ที่ไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก ดังนั้นในภาวะแบบนี้รู้สึกว่าการจัดการที่มันยังไม่มีความเคลียร์ชัดแน่นอนว่าจริงๆ แล้วสามารถควบคุมสถานการณ์ได้จริงๆ ตั้งแต่รากฐาน คิดว่าโรคมันยังคงดำรงอยู่

แน่นอนว่า ATK ที่เขาบอกว่าจะสามารถซื้อได้ในราคาถูก หรือขอได้จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จริงๆ แล้วมันไม่ได้ขอได้อย่างแท้จริง แนวทางของรัฐจะพูดว่าทำได้เป็นขั้นตอน หนึ่ง สอง สาม แต่พอนำไปสู่การปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำตามขั้นตอนได้ มันมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย ความพร้อมในการเปิดประเทศ หากมองจากหอคอย เขาจะเห็นมุมสูงว่ามันจัดการได้หมด ทำได้ตามขั้นตอน แต่ถ้าคุณมองในแนวระนาบจะเห็นว่าแต่ละชั้นมีปัญหาซ่อนอยู่ คนในท้องถิ่นที่เป็นชุมชนแออัดก็ยังเข้าไม่ถึงเครื่องตรวจเลย ดังนั้นจึงไม่มีทางการันตีได้เลยว่าทุกคนจะปลอดภัยจากความเสี่ยง

●ปัญหาหลักของคนจนเมือง แรงงานและกลุ่มเปราะบางขณะนี้คืออะไร?

ประเทศขับเคลื่อนด้วยแรงงานที่เป็นกลุ่มคนบริการหรือกลุ่มภาคแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางของเมือง และคนกลุ่มนี้แหละที่เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ดังนั้นภาวะของการเปิดประเทศที่ตัวพื้นที่หรือว่าการเข้าถึงสาธารณสุขพื้นฐานยังไม่เคลียร์ชัดหรือยังไม่ครอบคลุมคิดว่ามันก็มีแต่ความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงนี้มีราคาที่ต้องจ่าย และราคาที่ต้องจ่ายต้องพูดว่าเรามีบทเรียน การระบาดระลอกแรกเราเผชิญมันได้ จัดการกับมันได้ และเราก็เชื่อว่ามีศักยภาพ มีอาสาสมัครที่มีความเข้มแข็ง ระลอกสองเราก็พบว่ามันระบาดมากขึ้นจนคุมไม่อยู่ แต่พอมาระลอกสามถึงสี่เห็นได้ชัดเลยว่าสาธารณสุขที่พูดว่าเข้มแข็งแท้จริงแล้วมันเข้มแข็งแค่ในระดับท้องถิ่นที่เป็นชุมชนต่างจังหวัด แต่พอเป็นกรุงเทพฯ โครงข่ายความสัมพันธ์และระบบสาธารณสุขไม่เอื้อต่อภาวะแบบนี้

ณ เวลานี้เขามองว่ากรุงเทพฯ หรือพื้นที่หลายจังหวัดพร้อมรับ ส่วนตัวคิดว่าเป็นความเชื่อที่ไร้เดียงสาเกินไป ไม่ได้มองตัวบทเรียนและไม่ได้มองความซับซ้อนของสถานการณ์ เชื่อว่าจริงๆ แล้วถ้ารัฐอยากจะเปิดประเทศ ควรเปิดให้แต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสส่งเสียงและทำให้เห็นข้อมูลจริงๆ ที่อยู่ในพื้นที่ แล้วค่อยมาออกแบบเป็นขั้นตอนการเปิดประเทศ

ทุกวันนี้เราจะเจอผู้คนที่เดินสวนตามท้องถนนเราไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นคนไร้บ้าน คนตกงาน หรือคนที่สูญเสียครอบครัว โควิดมันทำร้ายเรา มันทำให้เกิดภาวะคนตกงาน คนไร้บ้าน เกิดขึ้นเยอะมากแต่คนเหล่านี้ไม่ถูกระบบนำไปสู่การช่วยเหลือเยียวยา จะเห็นได้ว่าทุกๆ การจัดการของรัฐที่เป็นเงินเยียวยามันผ่านระบบ ซึ่งระบบแอพพลิเคชั่นบางอย่างแรงงานเข้าถึงได้ไหม คนสูงอายุ คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน แค่วิธีคิดของการช่วยเหลือมันก็เป็นวิธีคิดที่ไม่ได้นับรวมผู้คนแล้ว การนับรวมผู้คนจริงๆ มันคือการทำให้ทุกคนเข้าถึง ประชาชนมีจำนวนเท่าไหร่ก็ให้เข้าถึงเท่านั้น ทุกคนต้องเข้าถึงได้โดยไม่มีเงื่อนไขหรือแย่งกันขอ เท่ากับว่าวิธีการคิดนี้ว่าจะเป็นการเข้าถึงการตรวจ เข้าถึงการรักษาพยาบาล การเข้าถึงเงินเยียวยา หรือแม้กระทั่งการมองหาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐไม่ได้มองเป็นก้อนบูรณาการแล้วเห็นทุกมิติ มันทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้มองเราอย่างครอบคลุมจึงเกิดการตกหล่น

●ความกังวลต่อโควิดระลอกใหม่ มีข้อเสนอต่อรัฐอย่างไร?

เราจะเห็นได้ว่าเราเคยมีการระบาดหนักที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่มันแดงเข้ม แม้แต่โรงพยาบาลก็ไม่มี เตียงก็ไม่มีจนทำให้เกิดภาวะเสียชีวิตระหว่างทางหรือกลางถนน แต่ในตอนนี้คิดว่าสถานการณ์ไม่ได้เข้าระดับนั้นแล้วเริ่มมีการผ่อนคลายขึ้นเรื่อยๆ ตัวอาการของโรคที่นำไปสู่เคสแดงมันลดน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีอยู่ ประเด็นคือว่าท่ามกลางความยังไม่แน่นอนของตัวเชื้อเองที่มันก็มีการวิวัฒน์ตัวเองอยู่เสมอเราก็ไม่รู้ว่าจะมีเชื้อใหม่อีกไหม ดังนั้นคิดว่ารัฐไม่ควรมองมันอย่างชะล่าใจ กระบวนการเหล่านี้มันสอนว่าคุณอาจจะต้องตั้งรับอย่างเชิงบูรณาการและเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งการสร้างระบบที่ดีคือการสร้างให้แข็งแรงตั้งแต่รากฐาน แต่ในภาวะนี้มันก็ยังไม่เกิดขึ้น เท่ากับว่าเราอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา

●กรณีศึกษาความสูญเสียจากโควิดที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ?

กรณีของ ‘ป้าสมควร’ พนักงานทำความสะอาด ป้าทำงานทุกๆ วัน มีลูกชายหนึ่งคนซึ่งประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องพิการ เป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน เมื่อมีการระบาดใหญ่ลูกชายป้าก็ติดเชื้อ และเมื่อลูกชายป้าติดเชื้อก็ไม่แสดงอาการอะไรเลย ไม่มีไข้ แต่มีอาการหายใจไม่ออกจนต้องมีการนำส่งโรงพยาบาล ช่วงนั้นหาเตียงได้ยากมาก แต่เมื่อได้เตียงแล้วเข้าไปสู่โรงพยาบาลป้าอุ่นใจ ลูกจะได้มีการรักษาและได้กลับมาบ้านอย่างปลอดภัย แต่ข่าวร้ายก็มาถึงป้าเมื่อวันหนึ่งมีโทรศัพท์แจ้งเข้ามาว่าลูกชายป้าเสียชีวิต ป้าไม่สามารถออกจากบ้านไปเผาศพลูกได้ ได้แต่นั่งมองรูปลูก ซึ่งตัวเองก็เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็มีโอกาสติดเชื้อรอผลอยู่ ป้าใจจะขาด ในความแย่นี้ทำให้เห็นความเปราะบางว่าป้าไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าตัวเองจะสามารถเข้าถึงระบบบริการต่างๆ ที่จะรักษาได้ และความคิดนี้เองที่ทำให้ป้าพยายามผูกคอตาย แต่ว่าโชคดีที่คนในชุมชนโทรไปหา พูดให้ป้ารู้ว่าตัวเองสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างไรบ้าง ทำให้ป้าตัดสินใจที่จะรอการรักษาและเราก็เข้าไปทำการส่งต่อเข้าสู่ระบบ

ยังมีคนอีกมากมายที่มีความเปราะบางจากสถานการณ์โควิดและมีความสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย รวมถึงคนที่เราเห็นว่าสามารถฆ่าตัวตายได้แล้วด้วย เราจึงเจอข่าวของคนที่ฆ่าตัวตายจากการติดโควิดรายวันและคนที่พยายามฆ่าตัวตายรายวันด้วยเช่นกัน

อีกกรณีหนึ่ง คือ พนักงานบริษัท อายุ 28 ปี ชื่อ ‘คุณสุรีรัตน์’ อาศัยอยู่ที่คลองเตยเป็นครอบครัวใหญ่ 29 คน อยู่ในแฟลตสามห้องติดกันโดยเจาะประตูเชื่อมหากันโดยมีไม้กั้นเอาไว้ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นอย่างมาก วันหนึ่งสุรีรัตน์ไม่สบาย ตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลพื้นฐานของตนเองตามสิทธิและพบว่าตนเองติดเชื้อแต่หมอไม่สามารถรับเข้าสู่การรักษาได้ หมอจ่ายยาให้ ขณะเดียวกันสุรีรัตน์มีอาการไอหนักจึงร้องขอให้หมอช่วยเอกซเรย์ปอดให้จนพบว่าเชื้อลงปอดไปแล้ว สถานการณ์ตอนนั้นคือไม่มีแม้แต่เตียงเดียว หมอให้กลับบ้าน กลายเป็นเรื่องราวที่นำมาสู่ความโศกเศร้าของ 28 คนที่เหลือในครอบครัว

สุรีรัตน์เสียชีวิตที่บ้านเวลาบ่ายสองโมงครึ่งแต่จนถึงประมาณทุ่มกว่าๆ มันกินเวลาครึ่งวันเต็มๆ ที่สุรีรัตน์เป็นร่างไร้วิญญาณอยู่กลางบ้าน และเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวไม่รู้จะจัดการอย่างไร เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิดภายในบ้าน การจัดการจะต่างจากผู้เสียชีวิตปกติ ซึ่งการจัดการนี้มีระบบอยู่ว่า ทางเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาเป็นคนดำเนินการ เป็นครึ่งวันที่เต็มไปด้วยความเสียใจ ความโกรธ ความเจ็บปวดต่างๆ แต่ไม่มีเวลาแม้กระทั่งร้องไห้

ขณะที่มีศพในบ้านแน่นอนว่าผู้เสียชีวิตจากโควิดจะต้องมีสารคัดหลั่งซึ่งจะมีการแพร่เชื้อภายในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อนบ้านก็อาจจะมองว่าทำไมไม่จัดการสักทีเป็นความกดดันทำให้ครอบครัวต้องพยายามหาทางจัดการศพ แต่เมื่อไม่สามารถจัดการได้และไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรทำให้เวลาครึ่งวันนั้นครอบครัวของสุรีรัตน์ต้องแบกรับความกดดันเอาไว้ และท้ายที่สุดเมื่อจัดการทุกอย่างเสร็จแล้ว ครอบครัวของเขาพบว่าระบบกำลังขโมยเวลาของเขาอยู่ ขโมยเวลาที่จะเสียใจ ร้องไห้ หรือขโมยเวลาที่จะได้มีโอกาสบอกลาผู้เสียชีวิตตรงหน้า

●ปัญหาของระบบหรือการจัดการที่พบเจอด้วยตัวเองในขณะนั้นมีอะไรบ้าง?

เราเจอปัญหาตั้งแต่ต้นทางก็คือตั้งแต่กระบวนการตรวจ พบว่ามีการตรวจเชิงรุกในระลอกที่สาม ซึ่งการตรวจเชิงรุกคือตรวจผ่านวิธีการที่เรียกว่า RT-PCR ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานเดียวเท่านั้นที่ระบบหลักประกันสุขภาพรับเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล ดังนั้นทุกๆ การส่งต่อ ระบบจึงร้องขอให้มีใบผลตรวจ RT-PCR เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ ถ้าคุณไม่มีใบผลตรวจคุณก็จะไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้เลย นอกจากปัญหาตรงนั้นเมื่อเวลาผ่านเลยไปถึงระลอกที่สี่เราเปลี่ยนวิธีการตรวจเป็นการตรวจผ่าน ATK แต่สามารถเข้าลู่ได้แค่ลู่เดียวเท่านั้น ก็คือลู่ของ Home isolation ไม่สามารถเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลได้ ยกเว้นคนที่ติดเชื้อพบโดย ATK จะไปตรวจซ้ำอีกที ซึ่งแน่นอนว่าการตรวจซ้ำต้องมีราคาที่ต้องจ่าย

กระบวนการระหว่างทางคือการเข้าสู่การรักษาต้องบอกว่าประชาชนรู้น้อยมากว่าช่องทางการรักษาคืออะไร แม้ว่าเราจะอยู่ในพื้นที่ที่มีโซเชียลมีเดียแต่ไม่ใช่คนทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ บางคนโทรศัพท์ยังไม่ใช่สมาร์ทโฟน หรือแม้กระทั่งแรงงานที่ไม่สามารถอ่านภาษาไทยออก เราจึงเจอผู้ป่วยหลายคนที่เสียชีวิตที่บ้าน เพราะว่าทุกๆ การรอคือความเสี่ยง ดังนั้นภาวะนี้จะเห็นได้ว่าระหว่างทางของการรักษาระบบเองก็ไม่มีการจัดการที่มันเป็นระบบทำให้คนเข้าใจวิธีการรักษา เข้าใจวิธีการเข้าถึงช่องทางการรักษา รวมถึงมันไม่มีการส่งต่อผู้คนในฐานข้อมูลตรงกลางที่เป็นระบบเลยแม้แต่น้อย

และปลายทางของการรักษาเมื่อผู้ป่วยหลายคนดีขึ้นกลับมาอยู่ที่บ้านเราก็เจอว่าความเข้าใจของผู้คนต่อโรคโควิดที่มันมีอคติหรือว่ามีมายาคติบางอย่างเกิดขึ้นอยู่ น้อยคนมากที่จะกลับมาบ้านโดยที่ปรับตัวต่อพื้นที่ชุมชนได้ หลายชุมชนจะเจอการเฝ้ามองหรือการพูดจากเพื่อนบ้านที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะอยู่ต่อในพื้นที่นั้นได้ ภาวะแบบนี้เราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง หรือปลายทาง มันเป็นภาวะเปราะบางของผู้คนหมดเลย

โควิดไม่ได้ส่งผลกับเราแค่ทางกายเท่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงอาการทางกาย แต่เป็นอาการทางใจด้วย และอาการทางใจก็ส่งผลต่อคนทุกๆ คน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image