‘อัลไตมาจากไหน?’ 93 ปีแห่งอำนาจ จาก‘หลักไทย’ถึงการเมืองร่วมสมัย

เทือกเขาอัลไต ภูเขาน้ำแข็ง ไม่ใช่แหล่งที่อยู่ของบรรพบุรุษคนไทย (ภาพจาก Wikimedia Commons)

กลายเป็นคำยั่วล้อเสียดสีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับแนวคิด ‘คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต’ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกนับเป็นหนึ่งใน ‘ทฤษฎี’ ที่มาของบรรพบุรุษไท (ย) ทั้งที่ไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับอย่างมีน้ำหนัก

นิตยสาร ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ซึ่งในวันนี้อยู่ใต้ชายคา ‘มติชน’ หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ คือสื่อที่ตีแผ่ความไม่น่าจะเป็นของ ‘ความเชื่อ’ ดังกล่าวมานานนับสิบปี ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช 2522 โดยเผยแพร่บทสัมภาษณ์ ขุนวิจิตรมาตราในวัย 83 ปี เจ้าของผลงานหนังสือ ‘หลักไทย’ ที่ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายนับแต่ พ.ศ.2471 เป็นต้นมา

ราษฎรมณฑลกรุงเก่ารอเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคราวทรงประกอบพิธีรัชมังคลาภิเษกที่พระราชวังกรุงเก่าเมื่อ พ.ศ. 2450 ภาพถ่ายโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ฯ (พร เดชะคุปต์) จาก หนังสือ กรุงเก่า เล่าเรื่อง ของวรรณศิริ เดชะคุปต์ และ ปรีดี พิศภูมิวิถี สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2554

“ผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมไม่รู้หรอกว่าจริง ไม่จริง? ผมเขียนตามแนวคิดของหมอดอดด์ เขาว่างั้นนะ ไม่ใช่ผมมาเมกขึ้นเองเมื่อไหร่”

คือปากคำในฉบับมีนาคม 2523

Advertisement

ผู้ก่อตั้งไม่ใช่ใครอื่น สุจิตต์ วงษ์เทศ หนึ่งใน 2 วิทยากรอาวุโสแห่งรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ผู้ต่อสู้ฟาดฟันยึดมั่นอุดมการณ์ ‘กูจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทย’ ตั้งแต่วัยหนุ่มจนเข้าสู่ฐานะคอลัมนิสต์อาวุโสที่ไม่พึงใจในการติดกระดุมเสื้อ

28 ตุลาคมนี้ คือพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน วันนัดหมายพบปะ ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่จะควง สุจิตต์ เพื่อนซี้ตั้งแต่เป็นนักเรียนนุ่งขาสั้น มาย้อนที่มาประวัติศาสตร์ปลอมอันฝังรากลึก ผ่านเพจเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์ ข่าวสด ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวีเช่นเคย เวลา 2 ทุ่มตรง ในตอน ‘อัลไต-น่านเจ้า ประวัติศาสตร์คลั่งเชื้อชาติไทย ปิดล้อมจีน’ ถ่ายทำกลางสายลมแสงแดดสดใสใน ‘พระราชวังโบราณ’ แห่งกรุงเก่า

โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ทั้ง 2 ได้ออกทริปทอดน่องแบบไม่ทิพย์ เมื่อสถานการณ์โควิดแห่งชาติเริ่มทุเลา

(ขวาสุด) ‘หมอดอดด์’ เจ้าของแนวคิดเชื้อชาติไทย พี่ใหญ่ของจีน หมดสอนศาสนาคริสต์ที่เชียงใหม่และเชียงรายกว่า 30 ปี ต่อมาไปพำนักที่เชียงรุ่งในมณฑลยูนนาน (ภาพจากศูนย์มรดกเมืองเชียงใหม่)

คนไทยมาจาก ‘เสฉวน ยูนนาน น่านเจ้า’ แนวคิดเก่ามรดกยุคล่าอาณานิคม

อดีต 2 กุมารสยาม เตรียมเปิดที่มาของความคิดที่ว่า คนไทยอพยพโยกย้ายมาจากอัลไต-น่านเจ้า ถูกจีนรุกรานลงมาทางใต้ ซึ่งเคยถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชาสังคมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ แม้ต่อมาถูกยกเลิกไป แต่ข้อมูลที่ถูกฝังชิปในใจผู้คน ก็ยังเกาะแน่นในความทรงจำ ทั้งยังส่งอิทธิพลสืบมาไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ขนาดนายกรัฐมนตรีไทย นาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเคยเอ่ยปากประเด็นบรรพบุรุษไทยมาจากเขาอัลไตจนกลายเป็นเรื่องขบขันในโลกออนไลน์มาแล้ว

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ จ่อจัดหนักย้อนปมปริศนาการค้นหาที่มาของคนไทยตั้งแต่ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ก่อนแนวคิดเทือกเขาอัลไตจะแพร่หลาย โดยใน พ.ศ.2428 ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอนท่านหนึ่งเสนองานวิจัยว่า ‘คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณมณฑลเสฉวน’ ทางตอนใต้ของจีน ชนชั้นนำไทยยุคนั้นเชื่อตาม ปรากฏหลักฐานในผลงานของ พระยาประชากิจกรจักร (ช่วง บุนนาค) ที่ระบุว่าคนไทยอยู่เสฉวน เช่นเดียวกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงบรรยายพงศาวดารสยามว่า ดินแดนไทยแต่เดิมเป็นถิ่นของพวกละว้า มอญ เขมร ส่วนคนไทยอยู่แถบทิเบตต่อกับจีน บริเวณมณฑลเสฉวน ราว พ.ศ.500 ถูกจีนรุกราน จึงอพยพไปอยู่ทางมณฑลยูนนาน และแยกย้ายกันอยู่ตามทิศทางต่างๆ

ต่อมา ใน พ.ศ.2437 อดีตกงสุลอังกฤษประจำเกาะไหหลำ เผยแพร่บทความเรื่อง ‘น่านเจ้าเป็นอาณาจักรของคนไทย’ เป็นครั้งแรก

ขุนวิจิตรมาตรา ผู้แต่งหนังสือหลักไทยโดยอ้างแนวคิดหมอดอดด์
หลักไทย เผยแพร่แนวคิดคนไทย
มาจากเทือกเขาอัลไต
พิมพ์ต่อเนื่องหลายครั้งตั้งแต่ พ.ศ.2471

พระราชกระแสเปิด ‘โบราณคดีสโมสร’เน้นหลักฐาน ‘โบราณคดี’

ในรัชสมัยเดียวกัน ยังมีเหตุการณ์สำคัญอันเป็นเหตุผลให้ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เปิดจีพีเอสไปทอดน่องยังพระราชวังโบราณ ปักหมุด พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เนื่องด้วยเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิด ‘โบราณคดีสโมสร’ ในพระราชพิธีรัชมงคล 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2450 โดยประเด็นสำคัญที่ 2 บัณฑิตคณะโบราณคดี รั้วศิลปากรรุ่นแรกๆ หยิบมาเน้นย้ำคือพระราชกระแสในวันดังกล่าวซึ่งให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ดินแดนสยาม คนในดินแดนสยามนับเป็นชาวสยาม ทั้งยังทรงให้ความสำคัญกับหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งโบราณสถาน เมืองโบราณ อย่างอโยธยาและนครชัยศรี รวมถึงเอกสารโบราณอย่างพงศาวดารเหนือซึ่งเป็นเรื่องราวก่อนสมัยอยุธยา โดย ไม่มีการพาดพิงงานค้นคว้าของชาวตะวันตกเรื่องคนไทยอพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน ไม่ว่าจะเป็นมณฑลเสฉวนหรือน่านเจ้าแต่อย่างใด

ส่วนหมอดอดด์ หรือ บาทหลวงวิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ ซึ่งขุนวิจิตรมาตราอ้างถึงนั้น เป็นเจ้าของผลงาน The Thai Race : The Elder Brother of the Chinese เผยแพร่ใน พ.ศ.2452 ช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 มีเนื้อหาสำคัญว่า ไทยเป็นเชื้อสายมองโกล เก่าแก่กว่าจีน และเป็นเจ้าของดินแดนจีนมาก่อน ต่อมาใน พ.ศ.2467 แนวคิดนี้ถูกนำไปขยายว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่มองโกเลีย

รายละเอียดเป็นอย่างไร ต้องติดตามในค่ำคืนวันพฤหัสบดีนี้

การเมืองชาตินิยมใน ‘เพลงปลุกใจ’ (เชื้อ) ชาติไทยยิ่งใหญ่ ถูกจีนไล่เหมือนไฟลามเลีย

ตัดฉากมาในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เตรียมเล่าถึงเมื่อคราวคณะราษฎรสถาปนากรมศิลปากร แล้วมอบหมายภาระหน้าที่อย่างหนึ่ง คือ การเผยแพร่ ‘การเมืองชาตินิยม’ ผ่านความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2482 เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เกิดเพลงดนตรีประวัติศาสตร์ แต่งเป็นกลอนโดย หลวงวิจิตรวาทการ มีเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า

ชาติเรามีสมัญญาว่าชาติไทย เป็นชาติใหญ่แต่โบราณนานนักหนา
ภูมิลำเนาของเราแต่ก่อนมา อยู่ท่ามกลางพสุธาของเอเชีย
เมื่อชาติจีนรุกร้นร่นลงใต้ เข้าแย่งไทยทำกินถิ่นก็เสีย
จีนไล่ไทยเหมือนไฟไหม้ลามเลีย ไทยต้องเสียดินแดนแคว้นโบราณ
ถูกแย่งที่หนีร่นลงทางใต้ ไทยมาตั้งเมืองไทยอย่างไพศาล
ชื่อน่านเจ้าอยู่ไปไม่ได้นาน จีนก็ตามรุกรานถึงทางนี้
เมื่อถูกรุกสุดสู้อยู่ไม่ได้ ไทยก็แตกแยกกันไปหลายวิถี
ไทยอีสานเลื่อนลงโขงนที ไทยใหญ่หนีร่นมาอยู่สาละวิน
พวกไทยน้อยพลอยเลื่อนเคลื่อนลงมา อยู่แม่น้ำทั้งห้าทางทักษิณ
คือ ยม น่าน ปิง วัง ตั้งทำกิน พวกไทยกลางยึดถิ่นเจ้าพระยา

ซากพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสเปิด ‘โบราณคดีสโมสร’

ถอดจากตำรา แต่ฝังแน่นในความทรงจำ ‘อัลไต’ ยังมีอำนาจ

ประวัติศาสตร์ไทยฉบับ ‘อัลไต-น่านเจ้า’ นี้ ปลุกกระแสคลั่ง (เชื้อ) ชาติไทยให้เติบโตด้วยการเมืองสมัยชาตินิยม ซึ่งรายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว พร้อมเปิดปมที่มารวมถึงอิทธิพลแนวคิดที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน จากการเมืองยุคล่าอาณานิคม บ่มเพาะและส่งต่อมาถึงสยาม กระทั่งชนชั้นนำไทยสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนำมาขยายความผ่านเพลงปลุกใจดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

ประวัติศาสตร์ไทยในประเด็น คนไทยมาจากไหน ? เกิดข้อถกเถียงมานานอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2507 โดยผู้จุดประเด็นคัดค้านอย่างต่อเนื่องคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม เจ้าของ “รางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ” ประจำปี พ.ศ.2550

ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการ ถอดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ออกจากหลักสูตร เมื่อ พ.ศ.2521 แต่ไม่ยกเลิกประเด็นน่านเจ้า ในขณะที่ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ยังฝังแน่นความทรงจำเรื่องอัลไตอย่างสลัดไม่หลุด

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยืนยันว่า แม้ถอดจากตำรา แต่แนวคิดยังมีอำนาจสืบมา

ดังที่เรื่อง ‘เชื้อชาติ’ ถูกใช้ปลุกระดมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยป้ายสีว่าไม่ใช่คนไทย

แม้กระทั่งในปัจจุบัน นอกเหนือจากวาทะนายกฯลุงตู่ กลางความขัดแย้งทางความคิดของผู้คน เพลงปลุกใจเก่าเก็บยังถูกขุดค้นขึ้นมาฮัมกันใหม่โดยเหล่านักร้องดัง เฉกเช่น ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ที่เคยขับกล่อมคนไทยในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2488 โดยเป็นเพลงที่ชนะการประกวด ‘เพลงปลุกใจ’

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าใน พ.ศ.2564 ที่แผ่นเสียงกลายเป็นสิ่งล้ำค่าในฐานะ ‘ของเก่า’ เพลงดังกล่าวกลับถูกนำมา ‘คัฟเวอร์’ ใหม่ด้วยเหตุผลที่คงไม่ใช่แค่ความสุนทรีย์ ทว่า มีการเมืองร่วมสมัยเป็นฉากหลัง

ประวัติศาสตร์การมาถึงของแนวคิด คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต จึงกอปรขึ้นด้วยรายละเอียดมากมาย ลึกซึ้ง ซับซ้อน และส่งผลสะท้อนในสังคมไทยมากกว่าที่คาดถึง จึงเป็นอีกตอนหนึ่งที่พลาดไม่ได้ ในห้วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ (ชาติ) ไทยถูกคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามด้วยสุ้มเสียงอันกึกก้อง

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image