ศธ. แถลง 4 ภารกิจหลัก พัฒนาการศึกษาพิเศษ ดึงกลุ่มตกหล่น-ผู้ป่วยเข้าระบบการศึกษา

ศธ. แถลง 4 ภารกิจหลัก พัฒนาการศึกษาพิเศษ ดึงกลุ่มตกหล่น-ผู้ป่วยเข้าระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่หอประชุมคุรุสภา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานแถลงภารกิจในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ภายใต้แนวคิด “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” โดยมี นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารระดับสูง ศธ. เข้าร่วม ว่า ที่ผานมา ศธ.ได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาพิเศษภายใต้แนวคิด “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” ใน 4 ภารกิจหลักเร่งด่วน (Quick Win) ดังนี้ 1.การปักหมุดค้นหาเด็กพิการที่ตกหล่นอยู่ในพื้นที่ต่างๆ นำเข้าสู่ระบบคัดกรอง ส่งต่อระบบการศึกษา หรือการให้บริการทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษแต่ละบุคคล โดยได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา พร้อมกับให้ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัด ค้นหาเด็กพิการในวัยเรียนที่อายุไม่เกิน 18 ปี และยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมตามที่ได้ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวนกว่า 7 พันคน 2. การจัดทำคู่มือสื่อบัญชี ก-ข-ค ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ให้สอดล้องกับความต้องการของนักเรียน และในขณะนี้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้แจ้งให้ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกแห่ง ประชาสัมพันธ์คู่มือรายการสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ให้โรงเรียนจัดการเรียนรวมในจังหวัดที่ศูนย์การศึกษาพิเศษรับผิดชอบ นำไปใช้งานเพื่อประโยชน์สำหรับคนพิการ และผู้ปฏิบัติงานต่อไป

“3.การช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพวัยเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจัดเป็นคนพิการทางการศึกษาประเภทบุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ โดยปัจจุบันมีศูนย์ช่วยเหลือ 85 ศูนย์ กระจายใน 77 จังหวัด ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยมีภารกิจหลักคือ การช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยอยู่ในโรงพยาบาล หรือที่บ้านภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถไปเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตามปกติ และ 4. การสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจ คนภายนอกจะมองว่าการดูแลเด็กพิการหรือเด็กด้อยโอกาส เหมือนเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็ก และอาจมีคำถามว่าเมื่อเด็กจบจากการศึกษาไปแล้วเด็กจะไปที่ไหน จะทำอะไร จึงจำเป็นต้องสื่อให้คนภายนอกเห็นว่า เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสมากมายที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ได้ถูกบ่มเพาะ ทำให้เด็กก้าวข้ามคำว่าพิการหรือด้อยโอกาสจนประสบความสำเร็จ” น.ส.ตรีนุช กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.​กล่าวต่อว่า ภารกิจด้านการศึกษานั้นเป็น ภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศชาติการศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ขอขอบคุณ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ที่มีความเป็นห่วงเด็กพิเศษในเรื่องการเรียนและความเป็นอยู่อย่างมาก ติดตามและให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เพื่อให้เด็กพิเศษทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตนตระหนักดีว่า ภารกิจของ ศธ.มีอยู่มากมาย ทั้งที่ยังรอการดำเนินงานและที่ได้เริ่มขับเคลื่อนไปแล้ว ซึ่งจำต้องอาศัยความพยายามที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กพิเศษทุกคนต้องสามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม สามารถช่วยเหลือตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

Advertisement

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เราต้องให้ความรู้กับเด็กกลุ่มพิการทั้ง 9 ประเภท ทั้งทางด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เพราะเด็กที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ เมื่อมีโอกาสได้เรียนรู้แล้ว ก็จะสามารถไปประกอบอาชีพเพื่อตัวเองได้ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน ดังนั้น การดูแลเด็กเหล่านี้จึงมีความจำเป็นจะต้องมีครูพิเศษ ที่เอาใจใส่ดูแลเหมือนเขาเป็นลูกคนหนึ่ง เพราะต้องอยู่กับเด็กตลอด 24 ชั่วโมง และการที่เด็กได้อยู่กับครูที่อยู่โรงเรียนประจำ จะทำให้เขาได้เรียนรู้วิชาชีวิตไปในตัว ทั้งงานบ้าน งานเกษตร งานอาชีพ ซึ่งแล้วแต่ความสนใจ สรุปก็คือการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว

ด้านนางกนกวรรณ กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบหมายให้ตนกำกับดูแลใน 3 หน่วยงาน คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ในด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ตนได้กำหนดทิศทางการทำงาน และได้ดำเนินการตามนโยบายของ ศธ.อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ ในส่วนของ สช. ได้พัฒนาครูในโรงเรียนเฉพาะความพิการในสังกัด สช. ทุกโรงเรียน และจะดำเนินการในโรงเรียนที่จัดการเรียนร่วมต่อไป นอกจากนี้ได้ดำเนินการขอเพิ่มเงินอุดหนุนรายบุคคล ให้แก่นักเรียนพิการ ตามความจำเป็นที่เหมาะสม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ครม.) ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) และอุดหนุนสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ให้กับนักเรียนพิการ คนละ 2,000 บาทต่อปี

“ในส่วนของ กศน. ได้จัดการศึกษา ให้กับผู้พิการทั้ง 9 ประเภท ทั่วประเทศ ขณะนี้มีนักศึกษา 7,544 คน ครูสอนคนพิการ 516 คน ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ได้ประสานความร่วมมือระหว่าง กศน. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อสำรวจคนพิการที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ในเบื้องต้นกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้ส่งรายชื่อผู้ที่จดทะเบียนคนพิการ และยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา จำนวนกว่า 50,000 คน จะได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ทางสำนักงาน กศน.จังหวัด ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษ สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจ ค้นหา คัดกรอง จัดทำฐานข้อมูล และดำเนินการจัดการศึกษาให้ผู้พิการในจังหวัดนำร่อง 18 จังหวัด ตามเขตตรวจราชการของ ศธ.” นางกนกวรรณ กล่าว

Advertisement

นายอัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ. ดูแลเด็กพิเศษ และเด็กพิการกว่า 70,000 คน ยังไม่รวมเด็กพิเศษและเด็กพิการในสังกัดอื่น สพฐ.ต้องการให้เด็กเหล่านี้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยร่วมมือกับ พม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำรวจเด็กพิการทั่วประเทศ จากนั้น สพฐ.จะแบ่งกลุ่ม แบ่งประเภท เพื่อจัดการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของเด็ก ในกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถไปเรียนได้ สพฐ.จะจัดการศึกษาโดยปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ส่วนเป้าหมายในการจัดการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ คือ ต้องสอนให้เด็กช่วยเหลือตนเอกให้ได้ สอนให้เด็กมีทักษะด้านวิชาการ และมีทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กสามารถประกอบอาชีพโดยไม่เป็นภาระของใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image