‘นักวิชาการ’ หนุนโละเกณฑ์เฟ้นบิ๊กร.ร. จี้ ‘ก.ค.ศ.’ กำหนดคุณสมบัติชัดเจน หวังได้คนเก่ง-ดี-มีประสบการณ์

‘นักวิชาการ’ หนุนโละเกณฑ์เฟ้นบิ๊กร.ร. จี้ ‘ก.ค.ศ.’ กำหนดคุณสมบัติชัดเจน หวังได้คนเก่ง-ดี-มีประสบการณ์

นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เปิดเผยว่า ตามที่ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบในหลักการจัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ.2565-2566 นั้น ตนเห็นด้วย เพราะระบบคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาศึกษาในปัจจุบันจะใช้ระบบสอบคัดเลือก ที่วัดจากความรู้ ความจำเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้อยากให้ ก.ค.ศ.กำหนดเกณฑ์วิธีพัฒนาให้ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร จะคัดคนเข้าพัฒนาอย่างไร อย่างในอดีตต้องให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรับรองว่าครูคนนี้ควรเข้าสู่งการคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นคนคัดกรอง เป็นต้น เมื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ วิธีการและเกณฑ์ที่รับคนเข้ารับการพัฒนาต้องชัดเจน เช่น ต้องพัฒนาครูทั้งหมดหรือไม่ หรือพัฒนาครูที่สมัครใจเท่านั้น หรือจะพัฒนาครูตามที่ผู้บริหารสถานศึกษาแนะนำ ต้องผ่านการเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระมาก่อน มีอายุราชการกี่ปีขึ้นไป มีผลงานอะไรมาก่อน มีความสามารถพิเศษด้านไหน มีการประเมินบุคลิกภาพ มีทัศนคติ วิสัยที่ดี เป็นต้น

“ถ้ากำหนดหลักเกณฑ์การได้มาของคนที่จะเข้ารับการอบรมได้ชัดเจน มีคุณภาพ ก็จะเป็นจุดดี เพราะสามารถตอบสังคมได้ว่าการคัดเลือกต่อไปจะได้รับคนที่ดี มีคุณภาพมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจะแก้ปัญหาในอดีต ที่จะได้แต่หนอนหนังสือ คนท่องจำเก่ง มาเป็นผู้บริหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องในการในปัจจุบันที่ต้องการคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก”นายวิสิทธิ์ กล่าว

นายอดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว แต่มองว่าปัญหาใหญ่ของการคัดคนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ของ สพฐ.คือจะได้แต่คนที่เก่งเรื่องทดสอบ และกระบวนการอบรมก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง เป็นเพียงการอบรมตามพิธีกรรมเพื่อให้ผ่านการคัดเลือกเท่านั้น ซึ่งตนยังไม่เคยเห็นใครสอบตกมาก่อน เชื่อว่าที่ ก.ค.ศ. แก้ไขหลักเกณฑ์นี้ เพราะอยากได้คนที่มีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์มาบริหารจัดการ เพราะการบริหารไม่ได้ใช้ความรู้เพียงอย่างเดียว ต้องใช้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารบุคคล การบริหารวิชาการ และการติดต่อประสานงาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้คนที่มีประสบการณ์สูงพอสมควร และที่ผ่านมาการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารไม่ได้คำนึงส่วนนี้

“ควรจะกำหนดคุณสมบัติที่จะทำให้ได้คนที่มีประสบการณ์เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา หรืออาจจะกำหนดคุณสมบัติให้สูง เช่น ต้องมีอายุงานเท่าไหร่ มีวิทยาฐานะเท่าไหร่ เป็นต้น หรืออาจจะกำหนดว่าคนที่จะมาผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องเป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษามาก่อน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ต้องหาคนที่มีประสบการณ์ มีผลงาน มีความสามารถ มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตน เมื่อคัดเลือกได้แล้วควรให้มาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาก่อนและค่อยคัดเลือกให้ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ไม่ใช่นับประสบการณ์ตามอายุราชการเพียงอย่างเดียว”นายอดิศร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image