ประชุม COP26 ชี้ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรุนแรง ขอทุกประเทศช่วยคุมก๊าซเรือนกระจก

ประชุม COP26 ชี้ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรุนแรง ขอทุกประเทศช่วยควบคุมก๊าซเรือนกระจก ป้องกันอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศา

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการประชุม COP26 ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ว่า ในพิธีเปิดการประชุม COP26/CMP16/CMA3 อย่างเป็นทางการมีขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีการรับรองวาระการประชุมและกำหนดแนวทางในการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมสำหรับการประชุมครั้งนี้ โดยประเทศที่เข้าร่วมการประชุมชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ที่ต้องเร่งหารือในประเด็นสำคัญที่จะนำมาสู่การยกระดับการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และการสนับสนุนกลไกการดำเนินงาน ที่จะทำให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายของความตกลงปารีส เนื่องจากรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ออกมาในปีนี้ โดยเฉพาะรายงาน Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) Working Group I (WG I) contribution to the Sixth Assessment Report ต่างชี้ให้เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมายิ่งขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกและโอกาสที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของความตกลงปารีสเหลือน้อยลงทุกขณะ ดังนั้น การประชุม COP26/CMP16/CMA3 เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศต่างๆ จะร่วมกันกำหนดแนวทางที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้

ขณะที่ การประชุม World Leaders Summit ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 โดย นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักร เป็นเจ้าภาพการประชุม ซึ่งมีผู้นำจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 117 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมฯ โดยผู้นำได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งการประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) และความมุ่งมั่นใจการลดก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการประกาศเป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ

Advertisement

เช่น อินเดีย ประกาศเป้าหมายที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2070 และมีการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 50 ภายในปี 2030, ออสเตรเลียประกาศเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 35 ภายในปี 2030 เยอรมนีประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 65 ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2045 พร้อมเพิ่มเป้าการสนับสนุนทางการเงิน 600 ล้านยูโร, ญี่ปุ่นประกาศเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 46 ภายในปี 2030 และจะสนับสนุนทางการเงิน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026, เกาหลีใต้ประกาศจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ภายในปี 2030,

อินโดนีเซียประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในปี 2030, เวียดนามประกาศจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050, สเปนประกาศจะสมทบทุนให้แก่กองทุนการปรับตัวฯ (Adaptation Fund) จำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2022 และ นอร์เวย์ประกาศจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินสองเท่า เป็นจำนวน 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2026 เป็นต้น

นอกจากนั้น ประเทศต่าง ๆ ได้ประกาศเข้าร่วมปฏิญญาสำคัญที่มีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ อาทิ The Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use, Global Coal to Clean Power Transition Statement, World Leader Summit Statement on the Breakthrough Agenda และ COP26 declaration on accelerating the transition to 100% zero emission cars and vans

นอกจากนี้ ภายหลังพิธีเปิดการประชุม COP26/CMP16/CMA3 ประเทศต่าง ๆ ได้การเจรจาในประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งหาข้อสรุปให้ได้ในการประชุมครั้งนี้ อาทิ กฎการดำเนินงานของกลไกตลาดและไม่ใช่ตลาดภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส แผนการปรับตัวแห่งชาติ (National Adaptation Plan) กรอบเวลาสำหรับการดำเนินงานของ NDC ผลกระทบจากการใช้มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้วที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา (Impact on the implementation of response measure) แนวทางและการเงินที่จะรองรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบูรณาการของกลไกด้านเทคโนโลยี แนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรและรูปแบบการรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามเป้าหมาย NDC รายงานการให้/ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ

รวมถึงแนวทางในการระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากประเทศพัฒนาแล้วต่อประเทศกำลังพัฒนาตามเป้าหมายที่กำหนดให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายนี้ได้ โดยพบว่ายังอยู่ในระดับประมาณ 48,700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image