สุวรรณา พุทธประสาท ปรับโมเดลธุรกิจเครือ LH สู้โควิด เบรกลงทุนห้าง ปักหมุดโรงแรมหรูหมื่นล้าน

สุวรรณา พุทธประสาท ปรับโมเดลธุรกิจเครือ LH สู้โควิด เบรกลงทุนห้าง ปักหมุดโรงแรมหรูหมื่นล้าน

ทํางานเป็นลูกหม้อ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH พี่ใหญ่ของวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มายาวนานหลายทศวรรษ สำหรับ สุวรรณา พุทธประสาท

นับตั้งแต่เรียนจบ พกดีกรีปริญญาตรี พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัครเข้าทำงานที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็ทำงานที่นี่และบริษัทในเครือมาโดยตลอด

เส้นทางชีวิตการทำงานของ “สุวรรณา” เริ่มต้นจากทำบัญชีที่กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จน “ควอลิตี้เฮ้าส์” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้รับความวางใจจาก อนันต์ อัศวโภคิน บอสใหญ่ ให้นั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการและซีเอฟโอ พา “ควอลิตี้เฮ้าส์” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทอสังหามหาชนได้สำเร็จเมื่อปี 2534 และทำงานอยู่ที่นี้ จนเกษียณอายุเมื่อปี 2559

ถึงจะเกษียนอายุ แต่ “สุวรรณา” ยังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก “อนันต์” ต่ออายุให้ทำงานที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ต่อ โดยแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล เอชมอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) บริหารพอร์ตโครงการศูนย์การค้า “เทอร์มินอล 21” และโรงแรมหรูแบรนด์ไทย ระดับ 5-6 ดาว “แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์” จนมาถึงปัจจุบัน

Advertisement

แม้จะเลยวัยเกษียนมาหลายปี แต่ “สุวรรณา” ในวัย 67 กะรัต ยังคงใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการเงินอสังหาริมทรัพย์ ที่สั่งสมมานานหลาย 10 ปี ทุ่มเทให้กับการทำงาน เหมือนกับวันแรกที่เข้าทำงานที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ยิ่งภายใต้สถานกาณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคบริการ ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ผู้ประกอบการน้อยใหญ่กระอักเลือดกันถ้วนหน้า จากการปิดประเทศ ทั่วโลกหยุดการเดินทางนักท่องเที่ยวที่เคยมาเยือนประเทศไทยคึกคักปีละ 40 ล้านคน หายไปจากสารบบ ต้องพลิกตำราสู้กับวิกฤต

จากวิกฤตโควิด-19 “สุวรรณา” ซีอีโอแอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล เปิดใจโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ทุกแห่งไม่ได้ปิด แต่ปรับเป็น Alternative Quarantine (AQ) รองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่รายได้ก็ไม่เหมือนเดิม การที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่ว่ายังไงเศรษฐกิจก็ต้องเดินหน้า คาดว่าปีหน้าน่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น

Advertisement

● ประเมินผลตอบรับหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว 63 ประเทศไว้อย่างไรบ้าง?
ต้องรอประเมินอีก 1 เดือน ตอนนี้ยอดการจองโรงแรมยังน้อย และประเมินได้ยากมาก เพราะรัฐบาลเพิ่งประกาศ และมีบางประเทศยังไม่ค่อยชัดเจน แต่เริ่มมีเข้ามาบ้าง โดยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาสั้นๆ ในการตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องจองยาว เพราะโรงแรมยังมีห้องพักว่างอยู่มาก คาดว่าจากนี้ไปน่าจะมียอดจองทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะเริ่มเห็นว่ามีลูกค้าเข้ามาเท่าไหร่ ลูกค้ามาจองกับเรา ส่วนใหญ่มาจากประเทศยุโรป อเมริกา มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ขณะที่ประเทศจีนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ และผู้มารักษาตัว ส่วนรัสเซียยังไม่มีเข้ามา เพราะประเทศเขายังมีหลักเกณฑ์ในการเดินทางออกนอกประเทศอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเปิดประเทศแล้ว สามารถคุมโรคระบาดได้ ไม่มีการระบาดอีก คิดว่าต่างชาติจะมีความมั่นใจจะให้คนในประเทศของเขาเดินทางมาเที่ยวประเทศเรา เพราะตอนนี้ทุกคนต่างกลัว เราก็กลัว เขาก็กลัว แต่เปิดก็ดีกว่าปิด เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปได้อยู่กับโควิดให้ได้ ไม่งั้นเศรษฐกิจทั้งระบบจะแย่ ในขณะเดียวกันคนไทยเองก็ต้องมีระเบียบวินัยในการดูแลรักษาตัวเอง ไม่ให้ติดเชื้อ การ์ดอย่าตก ไม่หละหลวม สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้บ่อยๆ เราจะได้เปิดประเทศได้จริงจังสักที

● การเตรียมพร้อมของแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ เพื่อรับเปิดประเทศ?
เราเตรียมพร้อมตลอดอยู่แล้ว ตอนที่เกิดการระบาดโควิด โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ทุกแห่งไม่เคยปิดบริการ เพราะมีลูกค้าต่างชาติที่พักระยะยาวอยู่ เราเป็นโรงแรมแบรนด์ไทย บริหารและบริการด้วยสโลแกน Grande Your Stay ที่ต่างชาติชอบมาก เพราะบริการเราไม่แพ้เชนจ์ต่างประเทศ มีสิ่งอำนวยสะดวกบริการลูกค้าสูง ทำให้ลูกค้าชอบมาพัก ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี

ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ยกระดับด้านสุขอนามัยเป็นขั้นสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาใช้บริการ ซึ่งได้รับมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยหรือ SHA และ SHA Plus จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข ฉีดวัคซีนให้พนักงานครบโดสเกิน 70% ปรับเป็น AQ เพื่อให้มีรายได้ทดแทนนักท่องเที่ยวที่หายไป

● ช่วงโควิดระบาดมีพนักงานลาออกไปมากแค่ไหน หลังเปิดประเทศแล้วต้องเปิดรับเพิ่มอีกหรือไม่?
ที่ผ่านมามีพนักงานลาออกบ้าง มีบางคนกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ไปทำไร่ ทำนา รอสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นก่อนถึงค่อยกลับมา เราไม่ได้ลดเงินเดือน สวัสดิการอะไร แต่พนักงานขอลาออกเอง ส่วนการรับใหม่เพื่อรองรับกับการเปิดประเทศ ตอนนี้ยังไม่ได้รับสมัครพนักงานเพิ่ม เนื่องจากว่าพนักงานมีเพียงพอในการให้บริการ เพราะเราไม่รู้ว่าหลังเปิดประเทศแล้ว ลูกค้าจะเข้ามาพักมากแค่ไหน ถ้าในอนาคตเราเห็นว่ามียอดการจองมากขึ้น คงจะต้องกับมาพิจารณารับพนักงานเพิ่ม ในหน้าที่ที่ต้องรับ ขณะที่ราคาห้องพักตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด มีปรับลดลงไปบ้าง แต่ไม่มากไม่ถึง 10% จากราคาปกติอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อคืน ขึ้นอยู่กับทำเล เพราะเรามีโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่โคราช
พัทยา

● ผลกระทบจากโควิดทำให้รายได้ธุรกิจโรงแรมลดลงไปมากหรือไม่?
ลดลงมากเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย แต่ว่าที่ผ่านมาเราก็ผันตัวเองเปลี่ยนไปรับ AQ แต่ก็มีรายได้ไม่มาก เพราะ AQ ลูกค้าก็ไม่ได้มากเท่ากับภาวะปกติ รายได้โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ทั้ง 5 แห่ง โดยส่วนใหญ่ลดลงมากกว่า 50% อย่างเช่น แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา ในช่วงมีการล็อกดาวน์ รายได้ก็ลดลงไปถึง 50-60% ซึ่งในช่วงนี้วันหยุดสุดสัปดาห์เริ่มกลับมาคึกคักแล้วที่พัทยา หลังรัฐบาลคลายล็อกไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยเข้ามาท่องเที่ยวที่พัทยากันมาก ในช่วงที่ต่างชาติยังไม่เข้ามา

● ประเมินสถานการณ์แล้วคาดว่าอีกกี่ปีจะฟื้นกลับมาเป็นปกติ?
จากที่คาดการณ์น่าจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในปี 2566 จากนั้นในปี 2567 เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ว่าบางหน่วยราชการมีการประเมินว่าในปี 2568 ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมถึงจะกลับมา แต่เป็นการกลับมาที่ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าโรงแรมจะเปลี่ยนไป จะเข้าพักโรงแรมที่มีความมั่นใจว่าพักแล้วมีความสุข มีสุขอนามัย ความปลอดภัยที่ดี พฤติกรรมเรื่องของ
เอ็กซ์พีเดียพวกนี้จะต้องเปลี่ยนไป อยากที่จะพักโรงแรมที่บรรยากาศแปลกๆ ที่คนอื่นไม่เคยไป ก่อนหน้าโควิดระบาด พฤติกรรมของลูกค้าก็เริ่มเปลี่ยนอยู่แล้ว พอเกิดโควิดพฤติกรรมจะต้องเปลี่ยนเพิ่มขึ้นอีก นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแปลกๆ ใหม่ๆ แล้ว

● มองว่าธุรกิจโรงแรมปีหน้าจะดีขึ้นกว่าปีนี้หรือไม่?
น่าจะดีกว่าปีนี้เล็กน้อย (หัวเราะ) ในส่วนของเราเองรายได้น่าจะกลับมา 50-55% จากที่หายไป 50-60% แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว เนื่องจากยังเป็นสถานการณ์ที่ประเมินได้ยากมาก จากการระบาดของโควิด สิ่งสำคัญคือข้อมูลการระบาดในประเทศปลายทาง เราจะดูว่าต่างประเทศเขามีนโยบายยังไง ทางต่างประเทศเองเขาก็ดูเราว่าเป็นยังไงเหมือนกัน

● ก่อนหน้านี้มีลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ส่วนใหญ่มาจากประเทศไหน?
ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบเอเชียประมาณ 70% เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ที่เหลือเป็นประเทศออสเตรเลีย รัสเซีย อเมริกา ประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ซึ่งประเทศที่รัฐบาลประกาศเปิดรับเข้ามานั้น จะเป็นลูกค้ามาพักโรงแรมของเราทั้งนั้น

● แผนการลงทุนโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ แห่งใหม่?
ปัจจุบันเรามีโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ทั้งหมด 5 แห่ง ที่สุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) เพลินจิต พัทยา เทอร์มินอล 21 และราชดำริ มีห้องพัก จำนวน 2,074 ห้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 แห่ง มูลค่าการลงทุน 15,130 ล้านบาท จำนวนหัองพักกว่า 2,000 ห้อง ในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด จะทยอยสร้างเสร็จเปิดใช้บริการตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

ประกอบด้วย โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา มูลค่า 3,400 ล้านบาท เนื้อที่ 13 ไร่ จะมีพื้นที่ใหญ่กว่าแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา ที่เราใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1,600 ล้านบาท สำหรับที่ใหม่จะอยู่เลยจากที่เก่าไปเล็กน้อย เป็นอาคารสูง 27 ชั้น มีห้องพัก 490 ห้อง อาคารสันทนาการชั้นเดียว 10 อาคาร อาคารเครื่องเล่น 1 เครื่อง และสระว่ายน้ำ 4 สระ รองรับทุกกลุ่มลูกค้า จะเปิดบริการในเดือนสิงหาคม 2565

จากนั้นปลายปี 2566 จะเปิดโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์ มูลค่า 2,300 ล้านบาท เนื้อที่ 3 ไร่เศษ เป็นพื้นที่เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สร้างเป็นอาคารสูง 22 ชั้น 1 อาคาร ห้องพัก 399 ห้อง อาคารจอดรถสูง 8 ชั้น 1 อาคาร

ในปี 2567 เปิดโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี มูลค่า 4,830 ล้านบาท มีเนื้อที่ 6 ไร่เศษ เป็นที่เช่า 30 ปี อยู่ตรงข้ามโครงการวัน แบงค็อก พัฒนาเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรม จำนวน 512 ห้อง และอาคารสำนักงานให้เช่า 13,000 ตารางเมตร

และต้นปี 2569 เปิดโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2 มูลค่า 4,600 ล้านบาท เนื้อที่ 3 ไร่เศษ เป็นพื้นที่เช่า 30 ปี จากสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สิน วชิราวุธวิทยาลัย เป็นอาคารสูง 40 ชั้น จำนวน 509 ห้อง ประกอบด้วย ห้องพัก ห้องจัดเลี้ยง ห้องอาหาร และห้องสัมมนา ตามแผนจะได้รับพื้นที่ในปี 2565 เริ่มก่อสร้างปี 2566 แล้วเสร็จปลายปี 2569 เปิดบริการต้นปี 2570 รองรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก ทั้ง
นักท่องเที่ยวแบบแบ๊กแพค และนักธุรกิจที่มาประชุมสัมมนา

เมื่อเปิดบริการครบแล้ว จะทำให้เรามีโรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง จำนวนห้องพักกว่า 4,000 ห้อง

● ทำไมถึงขยายการลงทุนสร้างโรงแรมที่พัทยาและราชดำริเพิ่ม?
การที่เราขยายการลงทุนที่พัทยาเพิ่ม เพราะดีมานด์ดีมาก อยู่ใกล้กรุงเทพฯ การเดินทางสะดวก ใช้เวลาไม่นาน นักท่องเที่ยวมีทั้งคนไทยและต่างชาติ เลยมีศักยภาพสูง ประกอบกับพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมายาวนาน อีกเรื่องหนึ่งคือรัฐบาลจะบูสต์การลงทุนทางด้านพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เราก็เลยคิดว่าลงทุนอีกโปรเจ็กต์ก็น่าจะยังไหวอยู่ เพื่อรองรับดีมานด์จากอีอีซีด้วย

ส่วนที่ราชดำริจะสร้างบนพื้นที่เป็นศูนย์การค้าเพนนินซูล่าเดิม เรามองว่าพื้นที่มีขนาดเล็ก ต้องสร้างตึกแนวสูง แต่การจะพัฒนาเป็นศูนย์การค้าเหมือนเดิมจะไม่ซักเซส เพราะศูนย์การค้าไม่ต้องสร้างเป็นตึกสูงมาก เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าจะไม่ชอบเดินไปชั้นบนๆ จะเดินเฉพาะชั้นล่างๆ ชอบบรรยากาศแบบโปร่งโล่งมากกว่า

เรามองว่าทำเลนี้การพัฒนาเป็นโรงแรมน่าจะตอบโจทย์ดีที่สุด เพราะช้อปปิ้งมอลล์ในย่านนี้มีมากแล้ว เราจะเข้าไปลงทุนอีกทำไม สู้สร้างโรงแรมให้ลูกค้ามาพักเพื่อไปช้อปปิ้งดีกว่า ซึ่งแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2 จะเป็นโรงแรมระดับไฮเอนด์กว่า แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 1 ที่อยู่ในซอยมหาดเล็กหลวง 1 เพราะอยู่ในโลเกชั่นที่ดีติดถนนราชดำริ ดังนั้นทุกอย่างต้องทำไฮเอนด์กว่า การดีไซน์จะโดดเด่นเสริมตึกแรก เหมือนกับทวิน ทาวเวอร์ที่ประเทศมาเลเซีย จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ในย่านนี้

สำหรับที่สุรวงศ์เรามองว่ามีออฟฟิศมาก น่าจะมีลูกค้าธุรกิจและนักท่องเที่ยว ด้วยทำเลลูกค้าสามารถดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียทีค ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

● แผนลงทุนศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จะมีแผนลงทุนโครงการแห่งใหม่เพิ่มอีกหรือไม่?
ช่วง 2 ปีนี้ ยังไม่มีแผนขยายเพิ่ม จากปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่งที่ลงทุนสร้างเอง คือ อโศก พัทยา ส่วนโคราช เราเป็นผู้บริหารให้กลุ่มสยามรีเทลเท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างแห่งที่ 3 ติดถนนพระราม 3 ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื้อที่กว่า 15 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเป็นอาคารสูง 7 ชั้น พร้อมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พื้นที่ 140,000 ตารางเมตร จอดรถได้ 1,658 คัน จะเปิดบริการไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

หลังเปิดที่พระราม 3 แล้วจะชะลอการลงทุนไว้ก่อน รอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หลังจากเกิดการระบาดของโควิด พฤติกรรมลูกค้ามาใช้บริการศูนย์การค้าเปลี่ยนไป มีการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์มากขึ้น แม้ว่าหลังรัฐคลายล็อกวันที่ 1 ตุลาคม และประกาศเปิดประเทศ ทำให้ทราฟฟิกคนเดินห้างเริ่มดีขึ้น เพิ่มเท่าตัวจากปีที่แล้วที่เป็นช่วงที่แย่ๆ แต่ยังไม่เท่าปี 2562 ก่อนมีโควิด

เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนบิซิเนสโมเดลสินค้า ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ต้องมาศึกษาว่าลูกค้าบริโภคสินค้าแบบไหนมากขึ้น อาหารไม่ต้องพูดถึงขายดีอยู่แล้ว แต่สินค้าอื่นๆ อย่างเช่น แฟชั่น พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นแบบไหน เราเองก็ต้องมาดูและปรับเปลี่ยน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนกันตลอด จนกกระทั่งอยู่ในจุดที่สมดุลกับความต้องการของลูกค้า

● เทอร์มินอล 21 อโศก เปิดบริการมานานแล้ว จะรีโนเวตใหม่หรือไม่?
เรามีการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ให้ดูดีตลอด ไม่ได้มีบิ๊กเชนจ์ อะไรมากมาย ซึ่งเทอร์มินอล 21 อโศก มีทราฟฟิกดีกว่าทุกห้าง ตอนนี้อาจจะดร็อปไป เนื่องจากไม่มีต่างชาติ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา พอเริ่มเปิดประเทศ พนักงานออฟฟิศเริ่มกลับมาทำงาน ลูกค้าก็จะเริ่มมาเดิน ทานอาหาร ที่ผ่านมาเนื่องจากเวิร์กฟรอมโฮมกันมาก

 

● อนาคตจะมีพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสมีครบทั้งคอนโด ศูนย์การค้าและโรงแรมหรือไม่ แล้วการเลือกทำเลในการพัฒนาโครงการเราเลือกยังไง?
โครงการคอนโดมิเนียมเราคงไม่ทำ เพราะแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นบริษัทแม่เราทำอยู่แล้ว การพัฒนาโครงการของเราส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เช่า ถ้าเราทำอย่างเก่ง คือ โรงแรม ศูนย์การค้า เป็นแบบสแตนอะโลนหรือไม่ก็ศูนย์การค้าคู่กับโรงแรม ถ้าเราได้พื้นที่มีโลเกชั่นที่เหมาะสมต้องทำ 2 โปรดักส์ เช่น ที่อโศก พัทยา จะมีทั้งศูนย์การค้าและโรงแรม ล่าสุดที่ลุมพินีเป็นโครงการมิกซ์ยูสระหว่างโรงแรมกับสำนักงาน

การเลือกทำเลที่ตั้ง หนึ่งต้องเป็นโลเกชั่นที่นักท่องเที่ยวเขาชอบมา มีการบริการสาธารณะที่รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย ทำให้เหมาะจะสร้างศูนย์การค้าและโรงแรม เพราะสองอย่างนี้ หนีไม่พ้นกัน นักท่องเที่ยวมาพักโรงแรม ก็ต้องการช้อปปิ้ง ทานอาหาร และท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นต้องเป็นโลเกชั่นที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคย มีช้อปปิ้งมอลล์มากๆ มีร้านอาหาร การเดินทางสะดวก ระบบขนส่งมวลชนดี พวกโลเกชั่นแบบนี้ถึงจะเหมาะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเหมาะที่จะสร้างศูนย์การค้าและโรงแรมเหมือนกัน

ถ้าไปย่านชานเมือง เมื่อต่างชาติมา จะเดินทางค่อนข้างยาก เขาก็ไม่เอา ถ้าไม่มีระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า อำนวยสะดวกในการเดินทาง ถ้าเป็นทำเลชานเมือง น่าจะเหมาะสำหรับพัฒนาโลคอลมอลล์ สำหรับคนอยู่อาศัยนอกเมืองมากกว่า จากการเลือกทำเลที่ตั้งทำให้โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ของเราทั้งหมด มีจุดเด่นตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ศูนย์การค้า แหล่งช้อปปิ้ง สะดวกในการเดินทางไปยังย่านเศรษฐกิจ

ประเสริฐ จารึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image