‘ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย’ เปิด 4 พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติอาเซียน

‘ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย’ เปิด 4 พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติอาเซียน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Academy) สำนักพิมพ์มติชนจัดงาน Matichon Bookmark 2021 #คั่นไว้ในใจเธอ โดยวันนี้เป็นวันที่ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลา 17.00 น. ในกิจกรรม Thanee’s talk ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานหนังสือ ‘ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติในอาเซียน’

ผศ.ดร.ธานีกล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมไทย แต่จะเห็นว่างานวิจัยการค้าบริการทางเพศในยุคหลังๆ ดูเหมือนจะมีสัดส่วนน้อยลง เวลาพูดว่าจะคุยกันเรื่องทางเพศ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เป็นสิ่งต้องห้าม เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดไม่ควรพูด คำถามคือเวลาที่คนไทยคิดแบบนี้มันเป็นเรื่องแปลกในสังคมนี้หรือไม่

“ในโลกแบ่งประเทศที่คิดเรื่องทางเพศออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีประเทศที่มอง sex is a sin คือเรื่องทางเพศเป็นเรื่องที่เป็นบาป ซึ่งประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ เป็นประเทศที่ระบบกฎหมาย ค่านิยมและวัฒนธรรมถูกชี้นำโดยศาสนาและความเชื่อ อีกกลุ่มประเทศหนึ่งคือกลุ่มที่มอง sex is not a sin คือการพูดเรื่องเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องบาป ถ้านึกภาพเร็วๆ คือประเทศญี่ปุ่น ถ้าเราเห็นภาพแบบนี้เราจะเริ่มเข้าใจว่าสังคมไทยเวลาเราคิดเรื่องทางเพศไม่ใช่เป็นเฉพาะประเทศเราที่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดถึง

Advertisement

เพศคือความต้องการประเภทหนึ่ง ที่จริงๆ แล้วทุกคนสามารถต้องการทางเพศได้ มนุษย์คนหนึ่งในหนึ่งปีหรือในหนึ่งช่วงอายุเขามีความต้องการทางเพศกี่ครั้ง ซึ่งเยอะมากมาย ถ้าไม่ถูกกดด้วยโครงสร้างทางสังคม นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ามีทั้งจำนวน มีทั้งความต้องการ เพราะฉะนั้นมีมูลค่า เมื่อเราเห็นภาพแบบนี้ เราจะรู้ว่า   อุปสงค์ทางเพศที่เรากำลังพูดถึงมันมีอยู่ในสังคมเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เมื่อมีอุปสงค์ที่เราเห็นอยู่คำถามคือ อุปทานทางเพศที่จะไปตอบสนองต่อตลาด ในแต่ละประเทศทำอะไรบ้าง เวลาพูดถึงอุปทานทางเพศเราจะนึกถึงแค่เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ การซื้อบริการทางเพศ แต่จริงอุปทานอาจจะเป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้มีฟรีเซ็กซ์กับคนอื่นได้ที่ไม่ใช่การซื้อ การค้าเซ็กซ์ทอย การบำบัดความต้องการของตนเอง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อตลาดของการค้าบริการทางเพศ เพราะถ้าเราสามารถบำบัดความต้องการของตนเองได้ เรามีอุปกรณ์ และเราไม่ได้มีค่านิยมของความรู้สึกผิดอุปสงค์และอุปทานจะสมดุลในตลาดนั้นๆ” ผศ.ดร.ธานีกล่าว

ผศ.ดร.ธานีกล่าวต่อไปว่า 4 ประเด็นที่เป็นหลักของข้อสรุปเบื้องต้นในงานวิจัยชิ้นนี้ คือ พลวัตที่หนึ่ง เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของการข้าม และที่สำคัญคือข้ามพรมแดนดินแดน เมื่อผู้ค้าต้องการมีรายได้แต่ไม่อยากถูกตีตรา ไม่อยากมีตราบาป รูปแบบการค้าผู้ค้าจะไปค้าที่อื่นไม่ใช่ชุมชนที่ตนเองอยู่ สมัยยุคแรกจะเดินทางไปไกลหน่อยเท่าที่จะไปได้ ยุคต่อมาเริ่มมีความเป็นเมืองเกิดขึ้น ผู้ค้าก็ข้ามจากชนบทไปยังเมือง หลังจากการพัฒนาต่างๆเริ่มเติบโตขึ้นเริ่มมีการเคลื่อนย้ายไปไกลขึ้นในต่างประเทศโลกาภิวัตน์ส่งผลให้พลวัตต่อไปคือการเคลื่อน

“เวลาเราพูดถึงการเคลื่อนคือการเคลื่อนของรูปแบบงาน พัฒนาการที่เปลี่ยนไปมีมูลค่าสูงขึ้น หรือเปลี่ยนไปให้มีรูปแบบการขายที่มากขึ้น หมายถึงผู้ขายมีรายได้มากขึ้น ผู้ซื้อก็ต้องได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย เพราะจ่ายมากขึ้น หรือการที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อเลือกได้มากขึ้นตรงความต้องการ ผู้ขายก็ได้ประโยชน์ เพราะขายเฉพาะสิ่งที่ตนเองถนัด เมื่อก่อนถ้าเรานึกถึงการค้าบริการทางเพศเรานึกถึงการจ่ายเงินไปและมีอะไรกัน จบกลับบ้าน สิ่งที่เปลี่ยนไปคือบางคนสามารถเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือไปเที่ยวเป็นเพื่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของงาน

Advertisement

พลวัตที่ 3 คือการเลื่อนคือเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนบทบาทในการทำงาน เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าผู้ค้าบริการทางเพศก็คือค้าแล้วจ่ายเงินมาแล้วจบ และจะเป็นลูกจ้างไปตลอด สิ่งหนึ่งที่ประเทศที่เปิดโอกาสให้การค้าบริการทางเพศมีความเสรีได้ความเป็นห่วงของเขามีอย่างเดียวซึ่งไม่เกิดในประเทศไทยคือเขามีความกังวลว่าผู้หญิงที่อายุช่วง 20-33 ปีที่มีใบอนุญาตค้าบริการทางเพศเสรี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จะลงทุนพัฒนาศักยภาพและทุนมนุษย์ในตัวเขาที่เขาจะมีรายได้ไปสูงขึ้นตอนอายุ 34 ปีจนถึง 50-60 ปี แปลว่าถ้าคุณค้าบริการทางเพศจนถึงอายุ 33 ปี แล้วเลิกจบมาคุณจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นประเทศที่มีการค้าบริการทางเพศเสรีจะมีการบังคับให้ผู้ค้าบริการสอบอาชีพ สอบการศึกษา จนจบออกมาเหมือนคุณจบปริญญาโทสองใบ เพื่อให้ผู้ค้าที่เลิกทำอาชีพนี้ไปมีทักษะในการพัฒนาต่อไปได้” ผศ.ดร.ธานีกล่าว ก่อนระบุถึง
พลวัตสุดท้ายว่า คือการย้าย ซึ่งในที่นี้คือย้ายแพลตฟอร์มการค้า หลายคนอาจจะคิดว่าไม่ว่าจะค้าอย่างไร  สุดท้ายจะจบที่ออฟไลน์ ซึ่งเป็นความได้เปรียบของสถานประกอบการในสมัยก่อนตกลงซื้อขายและมีกิจกรรมเลยในที่เดียวกัน ต่อมาเริ่มมีการค้าทางโทรศัพท์ การค้าทางเว็บบอร์ด แต่ก็จะเกิดการกลัวอันตรายตามมา เพราะไม่เห็นหน้า ต่อมาจะเห็นว่าแอพพลิเคชั่นสื่อสารเติบโตขึ้น มีความเรียลไทม์ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความอันตราย ความเสี่ยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้

อ่านเพิ่มเติม เกาะบูธหลาก สนพ.ดัง เล่มไหนเด็ด ปกไหนโดน? ‘แผนที่อนาคต’ วางขายที่แรก อย่าลืม #คั่นไว้ในใจเธอ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image