‘เมอร์ค’ คาด ประเทศร่ำรวย-ยากจน จะได้รับ ‘โมลนูพิราเวียร์’ พร้อมกัน

Merck & Co Inc/Handout via REUTERS/File Photo

“เมอร์ค”คาด ประเทศร่ำรวย-ยากจน จะได้รับ “โมลนูพิราเวียร์” พร้อมกัน

เอเอฟพีรายงานว่า นายพอล ชาเปอร์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะทั่วโลกของบริษัท เมอร์ค ยักษ์ใหญ่ในวงการเภสัชกรรมของโลกจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ว่า บริษัทกำลังดำเนินการจัดเตรียมในแง่ของยุทธศาสตร์การเข้าถึงยา โมลนูพิราเวียร์ ยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ทั้งประเทศร่ำรวย ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และประเทศยากจน จะสามารถได้รับยาของบริษัทได้ในเวลาพร้อมๆ กันหรือใกล้เคียงกัน

นายชาเปอร์ระบุว่า เมอร์ค เริ่มต้นพัฒนาระบบห่วงโซอุปทานสำหรับการผลิตยาตัวนี้มาตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะสามารถผลิตโมลนูพิราเวียร์ได้ 10 ล้านคอร์ส (คอร์สละ 40 เม็ด) ภายในสิ้นปีนี้ และตัวเลขการผลิตในปี 2022 จะเพิ่มขึ้นจากที่ผลิตได้ในปีนี้เป็น 2 เท่าตัว

การจัดจำหน่ายยาเม็ดรักษาโควิดดังกล่าวจะมีความแตกต่างด้านราคา โดยทางบริษัทจะกำหนดราคาขายแตกต่างออกไปตามความมั่งคั่งของแต่ละประเทศ โดยยึดเอาการจัดกลุ่มประเทศร่ำรวย ประเทศมีรายได้ปานกลางและประเทศที่มีรายได้ต่ำของธนาคารโลกเป็นหลัก

นอกเหนือจากการจำหน่ายโดยตรงดังกล่าวแล้ว ทางเมอร์ค ยังได้ให้สิทธิบัตรในการผลิตโมลนูพิราเวียร์ เป็นการทั่วไป ให้กับ 8 บริษัทในอินเดีย และยังได้ลงนามในการความตกลงด้านสิทธิบัตร กับองค์กร เมดิซินส์ แพเทนท์ พูล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เพื่อกระจายสิทธิบัตรให้กับอีก 105 ประเทศไปผลิตจำหน่ายในประเทศตนในราคาย่อมเยาอีกด้วย

Advertisement

นายชาเปอร์กล่าวว่า ผลจากการดำเนินความพยายามดังกล่าวเชื่อว่าจะช่วยให้การกระจายยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นไปอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน โดยไม่ว่าจะเป็นชาติยากจน, ชาติรายได้ปานกลาง หรือชาติร่ำรวยจะได้รับยาพร้อมๆ กันในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 1 ถึง ไตรมาสที่ 2 ของปีหน้านี้

ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้ สหราชอาณาจักร เป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ให้ความเห็นชอบให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมีผลการทดลองในมนุษย์ แสดงให้เห็นว่า เป็นยาที่สามารถลดอัตราการป่วยหนักในหมู่ผู้ติดเชื้อลงได้ 50 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันผู้ติดเชื้อไม่ให้เสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์

นอกเหนือจากโมลนูพิราเวียร์ แล้ว ไฟเซอร์ยังเผยแพร่ผลทดลองยาเม็ด แพกซ์โลวิด ที่น่าสนใจออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย โดยไฟเซอร์คาดว่าจะ ผลิตยานี้ได้ 180,000 คอร์ส (คอร์สละ 30 เม็ด) และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อระงับสิทธิบัตรชั่วคราวอยู่กับ เมดิซีนส์ แพเทนท์ พูล เช่นกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image