แก้ 2 กม.ลูก รบ.นับถอยหลัง พร้อมเลือกตั้ง

แก้ 2 กม.ลูก รบ.นับถอยหลัง พร้อม เลือกตั้ง

คอลัมน์หน้า 3 : แก้ 2 กม.ลูก รบ.นับถอยหลัง พร้อมเลือกตั้ง

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ใบหนึ่ง เลือก ส.ส.เขต

ใบหนึ่ง เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มี ส.ส.ระบบเขต 400 เขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

Advertisement

สำหรับรายละเอียดการเลือก ส.ส.ระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อนั้นจะบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองต่างเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

ฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

Advertisement

ฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ขณะนี้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น

ถือเป็นร่างแก้ไข พ.ร.ป.ที่คืบหน้าที่สุด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คาดการณ์ว่า กระบวนการพิจารณาแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2565

แต่ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่า การพิจารณากฎหมายดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการน่าจะเสร็จไม่เกิน 2 เดือนหลังจากรับร่างไปแล้ว เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะกลับเข้าสู่สภาอีกครั้งในวาระ 2 และ 3

ทั้งหมดน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน

การแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ มีความเห็นพ้องและความเห็นต่างทางการเมือง

ร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคขนาดกลางและเล็ก

จึงไม่แปลกที่เมื่อเริ่มต้นยกร่างการแก้ไข พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. จึงมีข้อเสนอจากพรรคใหญ่ที่เห็นพ้องกับการคำนวณแบบรัฐธรรมนูญปี 2554

ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอจากพรรคเล็กที่อยากจะยืนยันวิธีคำนวณแบบรัฐธรรมนูญปี 2560

และยังมีพรรคก้าวไกลที่มีความเห็นว่าควรจะคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ MMP

ส่วนประเด็นการใช้บัตรเบอร์เดียวเลือกตั้งทั้งประเทศนั้นมีผู้เห็นพ้องมากกว่าค้าน

เช่นเดียวกับประเด็นร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่เสนอให้ปรับปรุงระบบไพรมารีโหวต ก็ได้รับเสียงขานรับมากกว่าเสียงต่อต้าน

ความเห็นพ้องและเห็นต่างดังกล่าวจะต้องนำเข้าสู่รัฐสภา

ต้องผ่านการพิจารณาและลงมติในปี 2565

ไม่ว่าร่างแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะออกมาแบบไหน แต่ในที่สุดก็ต้องบังคับใช้

และหลังจากกฎหมายลูกแก้ไขแล้วเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้งย่อมเกิดขึ้น

ประเด็นการเลือกตั้งจึงเกี่ยวพันกับการแก้ไขกฎหมายลูก

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความหวังว่าจะได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 ก่อนตัดสินใจเรื่องการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ประมาณระยะเวลาแล้วก็ตกปลายปี 2565

แต่ดูเหมือนว่าความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง

โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น เมื่อกาลเวลาก้าวล่วงมาถึงปัจจุบัน ย่อมต้องการให้เลือกตั้งใหม่เร็วที่สุด แต่ปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลหมดสภาพและเลือกตั้งใหม่นั้น

พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล มีความสำคัญ

การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมนี้ แลเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลมีความอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากการประชุมรัฐสภาสมัยที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เปิดศึกปะทะกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านพ้นไป

นับตั้งแต่นั้น ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคก็มีแต่แย่ลง

แม้หลายครั้งปรากฏข่าวการสมานรอยร้าวระหว่าง 3 ป. แต่ในที่สุดก็พบว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้นยากที่สมาน

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า รัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เริ่มมีรอยปริแตก

สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อคนรอบกายมากกว่าพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทวงสาธารณสุขอยู่ ทำให้มองเห็นปัญหาการทำงานเป็นทีม

การเยียวยาชาวนาด้วยเงินประกันรายได้ชาวนาจำนวนมากที่พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นนโยบายหาเสียงของตัวเอง ก็เริ่มกลายเป็นปัญหาทางการคลัง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าว

และเมื่อการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดกระบี่ล่าสุด

พล.อ.ประยุทธ์ ก็แสดงความคิดเห็นไปตามแนวคิดของนายสันติ

แม้ในที่สุด ครม.จะต้องแก้กฎวินัยการคลัง เพิ่มเพดานหนี้ เพื่อกู้เงิน 1.55 แสนล้านบาท มาใช้ในการประกันราคาพืชผลเกษตรกร

แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็พอมองเห็นความเห็นที่แตกต่างระหว่างรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล

เท่ากับว่า รัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย และรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์

เริ่มแย่งชิงคะแนนเสียงกันและกัน

ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองตั้งแต่หลังการปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว ทำให้เห็นว่าพรรคการเมืองมองเกมข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว

พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน

ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่ หรือพรรคขนาดเล็ก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่า หรือพรรคใหม่

แต่ละพรรคล้วนลงพื้นที่ไปดูแลประชาชน เปิดสาขาพรรคเพิ่ม เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ฯลฯ

สัมผัสได้ถึงบรรยากาศหาเสียงก่อนเลือกตั้ง

ล่าสุด พรรคพลังประชารัฐได้ประกัน และมีเอกสารแนวทางนโยบายหาเสียงหลุดลอดออกมาให้เห็น

อาทิ โครงการบัตรเครดิตเกษตรประชารัฐถูกใจ วงเงิน 50,000 บาทต่อครอบครัว

การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น การขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยข้อมูล

การกระจายงบประมาณและทรัพยากร เช่น โครงการประชารัฐระดับตำบล ตำบลละ 20 ล้าน

โครงการประชามีสุข เช่น ต่อยอดสวัสดิการของรัฐ สนับสนุนการเข้าถึงภาครัฐ สร้างโอกาสทางการกีฬา เช่น ส่งเสริมอี-สปอร์ต

เป็นต้น

เมื่อมองความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองกับความหวังของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว เห็นความไม่สอดคล้องกัน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องการอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงปลายปี 2565

ระบุว่า ต้องการจัดการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคให้เสร็จก่อน

แต่สำหรับพรรคการเมืองแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่ได้คิดเช่นนั้น

การเดินหน้าหาเสียง เปิดสาขาพรรค และอื่นๆ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ตอกย้ำให้เห็นว่า พรรคการเมืองต้องการเลือกตั้ง

ยิ่งเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้น การแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับมีกำหนดการชัดแจ้ง

ยิ่งทำให้ความต้องการเลือกตั้งมีมากขึ้น

เพราะกติกาที่แก้ไขเริ่มประกาศใช้ ขณะที่ระยะเวลารัฐบาลเหลือน้อยลงตามวาระ รัฐบาลที่อยู่มายาวนานเริ่มมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ

สังคมเริ่มมองหาของใหม่ที่จะมาแทนของเก่า

สถานการณ์ที่สังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง คือ โอกาสของทุกพรรคการเมือง

ดังนั้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการจะอยู่ถึงปลายปี 2565

แต่ดูเหมือนว่าบรรดาพรรคการเมืองมิได้คิดเช่นนั้น

ทุกพรรคมีความพร้อมในการเลือกตั้ง

แม้แต่พรรคพลังประชารัฐก็แสดงความพร้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image