กรมวิทย์ยัน ยังไม่พบโควิด ‘โอไมครอน’ ในไทย คาดหลบภูมิ ชี้วัคซีนยังกันตาย

กรมวิทย์ยัน ยังไม่พบโควิด ‘โอไมครอน’ ในไทย คาดหลบภูมิ อำนาจแพร่กระจาย ความเข้มข้นเชื้อ ‘สูง’ ชี้วัคซีนยังกันตาย

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 สายกลายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับเป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกัวล (variant of concern) ว่าสำหรับสถานการณ์ต่างๆ ไม่มีอะไรดีกว่าการทำความเข้าใจ เพื่อตั้งสติในการรับมือ ไม่ตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ และต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ว่าจะรับมืออย่างไร ตามที่การประชุมองค์การอนามัยโลก เมื่อวานนี้ (26 พ.ย.) ได้ยกระดับไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (variant of interest: VOI) ที่จากชื่อเดิม B.1.1.529 ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (variant of concern: VOC) โดยกำหนดชื่อให้ตามอักษรกรีก ว่า “โอไมครอน” โดยพบเมื่อกลางเดือน พ.ย.64 เริ่มต้นที่ประเทศบอสวานา และระบาดไปยัง 5-6 ประเทศ รวมถึงมีผู้เดินทางไป ฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล

“ข้อสำคัญคือบางคนที่ตรวจเจอเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วด้วย ระบบเฝ้าระวังของไทยที่ตรวจสายพันธุกรรมทั้งตัว โดยตรวจแล้ว 7 พันกว่าเคส รายงานข้อมูลเข้าจีเสส (GISAID) ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน แต่เราจะไม่ประมาทในการตรวจต่อไป ทั้งนี้ เวฟการเกิดไวรัสในแอฟริกาใต้ ที่มีสายพันธุ์เบต้า อำนาจการแพร่เชื้อไม่เยอะ สัดส่วนจึงไม่เยอะ จากนั้นก็มีเดลต้าเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็พบโอไมครอนที่เกิดเป็นประเด็น” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สาเหตุที่ยกระดับมาเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลเนื่องจากมีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่งจากเดิมที่ไวรัสโควิด-19 มีตำแหน่งยีนส์กว่า 3 หมื่นตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งอยู่ที่สไปก์โปรตีน (Spike protein) เป็นโปรตีนหนามที่มาจับกับเซลล์มนุษย์และเข้าไปทำอันตราย โดยมีบางตำแหน่งที่เคยพบในสายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่น ทั้งเดลต้า อัลฟ่า และเบต้า ซึ่งบางตัวมีอิทธิฤทธิ์ในการหลบภูมิ หรือดื้อต่อวัคซีน ขณะที่บางตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ใหม่ ไม่เคยเจอในตัวเก่าๆ เลย เช่น เบต้า ที่กลายพันธุ์ใน 9 ตำแหน่ง แต่อันนี้กลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง จึงต้องจับตาว่าจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดในการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในไทย ตรวจกันสัปดาห์ละ 400-500 ตัวอย่างตามเกณฑ์ พบว่ายังพบเดลต้าเป็นส่วนใหญ่และมีอัลฟ่า เบต้าเป็นส่วนน้อย ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ขอความร่วมมือให้ทุกประเทศในโลก ช่วยกันตรวจเพื่อหาว่าสายพันธุ์โอไมครอนไปถึงไหนอย่างไร แต่เท่าที่ทราบคือ สหรัฐอเมริกายังไม่พบ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าไวรัสตัวนี้ใช้การตรวจด้วย RT-PCR ตามปกติได้อยู่ และวัคซีนที่ใช้ตอนนี้ก็ยังป้องกันการเสียชีวิตได้ เนื่องจากคนฉีดวัคซีนแล้ว ร่างกายก็จะมีการกระตุ้นภูมิในการต่อสู้กับไวรัสได้

Advertisement

“นี่เป็นสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์เฉยๆ แต่ในโลกความเป็นจริง ส่วนอิทธิฤทธิ์ที่มีผลต่อการระบาด การติดเชื้อ ยังมีข้อมูลไม่มากพอ จึงต้องเฝ้าดูต่อไป พบว่าบางส่วนน่าจะเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น บางส่วนน่าจะหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร รวมถึงข้อมูลที่พบการตรวจเจอเชื้อ อยู่ในรอบ Ct ค่อนข้างต่ำ หมายถึงเชื้อค่อนข้างเข้มข้นในแต่ละรายที่ตรวจพบ ไม่ได้หายาก ดังนั้น ถ้าใครป่วยก็จะพบง่าย เนื่องจากเชื้อเยอะมาก สะท้อนว่ามันอาจจะมีการแพร่หรือติดเชื้อง่าย และเร็วขึ้น ซึ่งยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ต้องติดตามต่อ” นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยฯกล่าวอีกว่า เรามีการเปิดประเทศด้วยระบบไม่กักตัว (Test and go) ใน 63 ประเทศทั่วโลก แต่ไม่มีประเทศต้นทางที่พบสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้ประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งที่เป็นผู้ตรวจหาเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้ส่งตัวอย่างทุกตัวที่ให้ผลบวกมาถอดสายพันธุ์ที่กรมวิทยฯ เพื่อให้รู้ว่า ผู้ที่เดินทางเข้าไทยแล้วพบผลบวกกว่าร้อยนั้น มีสายพันธุ์นี้หรือไม่ และจะเข้มงวดในการตรวจสายพันธุ์ในกลุ่มผู้เดินทางทั้งระบบไม่กักตัว หรือระบบแซนด์บ็อกซ์ต่อไป

“สรุปได้ว่าโอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานของสายพันธุ์ VOC เดิมคือ เดลต้า อัลฟ่า เบต้า และแกมม่า ที่เป็นการกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ ที่มีพ่อแม่มาจากอู่ฮั่น ดังนั้น นี่เป็นการกลายพันธุ์ใหม่ ข้อห่วงกังวล คือมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งโดยเฉพาะสไปก์โปรตีน 32 ตำแหน่ง ซึ่งอาจมีปัญหาได้ แต่ข้อมูลยังไม่มากพอ ดังนั้น เราจะต้องร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในโลก ติดตามว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อมีมาตรการรับมือที่เหมาะสม ซึ่งระบบเฝ้าระวังของเราในทางแล็บมีมาตรฐานระดับโลก มีเพียงพอต่อสถานการณ์ ที่สำคัญคือมาตรการป้องกัน ยังใช้ได้อยู่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างยังใช้ได้อยู่” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image