สิ้นสุดฤดูฝน กำชับโครงการชลประทานเหนือ-อีสาน-กลาง เก็บกักน้ำให้มากที่สุด สำรองใช้หน้าแล้ง

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทาน เครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ โดยมี ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,327 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 35,397 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,860 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 8,164 ล้าน ลบ.ม.

อนึ่ง เนื่องจากขณะนี้ได้สิ้นสุดฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางแล้ว จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่พิจารณาเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งนี้ ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม ให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือน้ำหลากที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมกับติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) (สสน.) และกรมอุทกศาสตร์ เพื่อนำมาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยใช้ระบบชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมกับเน้นย้ำให้แจ้งเตือนพื้นที่ด้านท้ายก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน จะใช้ระบบโทรมาตรในการติดตามปริมาณน้ำ นำมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อทำการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและรับมือได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที รวมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จึงขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image