ยุติเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ ขอโลกเปิดรับความหลากหลาย

ทวิตเตอร์เปิดตัวอิโมจิรูปริบบิ้นสีแดงซึ่งจะปรากฏอัตโนมัติเมื่อพิมพ์ #WorldAIDSDay and #วันเอดส์โลก

นอกเหนือจากไวรัสร้ายโควิด-19 อีกหนึ่งไวรัสที่โลกลืมไม่ได้ คือ เอชไอวี นำมาซึ่งโรค เป็นที่รู้จักในนาม ‘เอดส์’ คร่าชีวิตผู้คนมากมาย

1 ธันวาคมของทุกปี คือ วันเอดส์โลก โดยในภาคส่วนต่างๆ ยังคงเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจ และต่อสู้กับภัยเอดส์อย่างไม่หยุดยั้ง

รายงานจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ พบว่าในปี 2563 มีผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกสะสม 37.7 ล้านคน เป็นรายใหม่ 1.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 680,000 คน

สำหรับประเด็นรณรงค์ในปีนี้คือ ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ (End inequalities. End AIDS. End pandemics.) เพื่อมุ่งส่งเสริมให้คนในสังคมลดความเหลื่อมล้ำและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ติดเชื้อ
2-3 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการประชุมวิชาการวันเอดส์โลก World AIDS DAY virtual conference ภายใต้แนวคิด End inequalities. End AIDS. End pandemics ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมประชุมกว่า 800 คน

Advertisement

‘ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา’

เปิดงบไทยสู้เอดส์ปี’64 เพิ่มกว่า 3.6 พันล้าน

สำหรับประเทศไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ประเทศไทยในปี 2564 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ 490,000 คน เป็นรายใหม่ 5,800 คน และมีผู้เสียชีวิต 11,200 คน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ ‘ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา’ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจทัศนคติที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2562 พบว่าคนไทยยังมีทัศนคติเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 26.7 ทั้งจากในครอบครัว ที่ทำงาน สถานศึกษา และสถานบริการสุขภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและความเข้าใจของทุกฝ่ายทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสังคม นำไปสู่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเป็นมิตรและเท่าเทียม สอดคล้องกับคำขวัญวันเอดส์โลกปีนี้ คือ ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ : End inequality. End AIDS. End pandemics

อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข หารือกับนายทิม มาร์ติโน รอง ผอ.โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ และทีมงาน ณ นครเจนีวา เดินหน้าหยุดเอชไอวีให้ได้ภายในปี 2573

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเอดส์ในไทย ซึ่งมีการดำเนินการตาม ‘ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573’ โดยในปี 2548 ได้บรรจุสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ภายใต้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง มาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจัดสรรงบประมาณรองรับ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา ที่นำไปสู่การลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงได้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สำหรับงบประมาณในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ปีงบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,676.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 332 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2563 ที่ได้รับจำนวน 3,343.53 ล้านบาท จากข้อมูลการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี และลงทะเบียนในระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ (NAP) จำนวน 305,493 คน ในจำนวนนี้ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสจำนวน 289,116 คน คิดเป็นร้อยละ 94.63

Advertisement

“จากรายงานมีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยพบว่าในผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 204,504 คน หรือร้อยละ 81 และในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบไวรัสในเลือด 194,611 คน หรือร้อยละ 77 ถือเป็นแนวโน้มที่ดีนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้” นพ.จเด็จกล่าว

‘ฮีโร่ อวอร์ด’ ยกย่องผู้ยืนหยัดทำงานด้าน ‘เอชไอวี’

หนุนสิทธิเท่าเทียม

ย้อนไปในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการประกาศรางวัล ฮีโร่ อวอร์ด (HERO Awards) ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นครั้งที่ต้องจัดงานในรูปแบบออนไลน์ภายใต้สถานการณ์โควิด โดยมี มูลนิธิแอ็พคอม เป็นเจ้าภาพ

รางวัลดังกล่าว มอบให้ผู้ยืนหยัดในการทำงานด้านเอชไอวี สิทธิความเท่าเทียม ตลอดจนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ เควียร์ และอินเตอร์เซ็กซ์ (LGBTQI) ทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

เปีย อลอนโซ วูร์ทซบาค นางงามจักรวาลชาวฟิลิปปินส์ปี 2558 และทูตสันถวไมตรีแห่งโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า เยาวชนในภูมิภาคควรได้รับการส่งเสริมศักยภาพเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 โดยบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สำหรับปีนี้ผู้ได้รับรางวัลจากทั้ง 11 สาขามาจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไต้หวัน รวมถึงไทย

“เอชไอวีนับว่าเป็นประเด็นหลักในรุ่นของผมในฐานะแพทย์ชายรักชายที่อายุน้อย และการเป็นอาสาสมัครในฐานะนักศึกษาแพทย์ทำให้ผมได้มีโอกาสลงมือทำอะไรบางอย่างมากกว่าที่จะอยู่นิ่งเฉย ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาเอชไอวี ผมโชคดีมากที่ได้ร่วมงานกับบุคคลแบบอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผมคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค และ ศาสตราจารย์ Joep Lange ทั้งคู่เป็นทั้งนักกิจกรรมและแพทย์ผู้มีวิสัยทัศน์ ผมได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เมื่อศาสตราจารย์ Joep Lange ประจำการที่กรุงเทพฯ เพื่อช่วยตั้งค่า HIV-NAT ในผลการทดลองในระยะแรกๆ ของ HIV-NAT ได้ทำให้มีส่วนช่วยในการดำเนินการเข้าถึงยาต้านไวรัสในประเทศไทยเป็นวงกว้าง”

ดร.ยูจีน ครูน ศึกษาวัคซีนเอชไอวีโดยเริ่มต้นที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย

เป็นคำกล่าวของ ดร.ยูจีน ครูน ผู้ได้รับรางวัลในสาขา Health & Wellbeing โดยเป็นแพทย์ที่ศึกษาวิจัยทางคลินิกและวัคซีนเอชไอวีโดยเฉพาะ เริ่มต้นที่ ‘ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย’

ดร.ยูจีน ย้อนเล่าว่า ในปี 2543 ได้เดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเฉพาะทางที่ฮาวาย แต่ด้วยความตั้งใจที่จะกลับประเทศไทยหากเป็นไปได้ หลังจากการฝึกอบรมนี้ ยังได้มีส่วนสนับสนุนทีม Clinton HIV/AIDS Initiative ในแอฟริกาใต้และแทนซาเนียโดยมีเป้าหมายที่จะขยายการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส หลังจากได้รับประสบการณ์ถึง 3 ปี ในฐานะผู้ให้บริการปฐมภูมิในสหรัฐอเมริกา

“ผมเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2550 และในปี 2555 ได้กลับมาศึกษาวิจัยทางคลินิกและวัคซีนเอชไอวีโดยเฉพาะ โดยเริ่มแรกที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย และปัจจุบันคือที่ IHRI ด้วยการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีแบบเฉียบพลันและการศึกษาด้านรักษาเอชไอวี”

ภาคธุรกิจไทย คว้ารางวัลด้วย

ย้ำผลักดันเสียงผู้หลากหลายทางเพศ

นอกจากบุคคลแล้ว ปีนี้ภาคธุรกิจไทยอย่าง ‘บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย’ ก็คว้ารางวัล Business Ally โดยตัวแทนระบุว่า วิสัยทัศน์ในด้านความหลากหลายทางเพศของบริษัทคือการเป็นผู้นำด้านการสร้างความหลอมรวมในชุมชนดังกล่าวและพันธมิตร ตลอดจนผลักดันเสียงของพวกเขาในสังคม และที่ยูนิลีเวอร์ มีการสนับสนุนให้แสดงอัตลักษณ์อย่างเต็มที่

“เราอยากเห็นทุกคนในสังคมได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เราทำงานเพื่อสร้างสังคมให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น องค์กรธุรกิจสามารถร่วมกันสร้างความเท่าเทียมบนความหลากหลายในสังคม เราอยากให้ทุกคนที่ทำงานร่วมกับยูนิลีเวอร์ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเข้าถึงโอกาสอย่างยุติธรรม

การขับเคลื่อนงานเพื่อความเท่าเทียมนับว่าเป็นรากฐานสำคัญสำหรับธุรกิจ ซึ่งคือความรับผิดชอบต่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในทุกๆ ที่เราดำเนินงาน ตลอดจนการปรับนำมุมมองด้านเพศลงไปในงานทุกอย่างที่เราทำ

ขณะนี้เรากำลังพัฒนาแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจต่างๆ หันมาสนับสนุนในประเด็นนี้ และเราก็ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม เคารพ และเฉลิมฉลองความโดดเด่นเฉพาะตัวในแต่ละคน” ตัวแทนยูนิลิเวอร์กล่าว

สำหรับผู้คว้ารางวัลในสาขาต่างๆ ในปีนี้ ก็น่าสนใจเช่นเคย อาทิ รางวัลความยุติธรรมสังคมดีเด่น ปีนี้มี 2 บุคคลที่คู่ควรยิ่ง ได้แก่ ดร. Pyae Phyo Kyaw และ ดร. Aung Soe Tun คุณหมอทั้งสองท่านอุทิศการทำงานให้ค่ายผู้พลัดถิ่นในการดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงแดง รวมทั้งการระดมเงินทุน และยารักษาโรคตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีมอบรางวัลให้วัยรุ่นผู้ประสบความสำเร็จดีเด่น ได้แก่ Ikka Noviyanti ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีชาวอินโดนีเซียซึ่งทำงานให้กับ Youth LEAD องค์กรภูมิภาคซึ่งมีสำนักงานหลักตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

สำหรับสาขาอื่นๆ คือ รางวัล Shivananda Khan Award for Extraordinary Achievement ได้แก่ Dennis Altman (ออสเตรเลีย), รางวัล Community Ally ได้แก่ Isikeli Vulavou (ฟิจิ), รางวัล Community Hero – Gopi Shankar Madurai (อินเดีย), รางวัล Community Organisation ได้แก่ Taiwan Tongzhi (LGBTQ+) Hotline Association (ไต้หวัน), รางวัล Covid-19 Hero ได้แก่ Outrage Magazine – Northern Mindanao Correspondent (ฟิลิปปินส์), รางวัล HIV Hero ได้แก่ Ali Raza Khan (ปากีสถาน), รางวัล Social Justice ได้แก่ Dr. Pyae Phyo Kyaw and Dr. Aung Soe Tun (เมียนมา) และรางวัล Transgender Hero ได้แก่ Bhoomi Harendran (ศรีลังกา)

เป็นอีกประเด็นที่คำว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ คือหนึ่งปัจจัยสำคัญต้องทำลายให้สิ้นเพื่อยุติความทุกข์ยากจากโรคร้ายนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image