สสส. หนุน ‘วัดปลอดบุหรี่’ – ‘โรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่’ ลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่

สสส. หนุน ‘วัดปลอดบุหรี่’ – ‘โรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่’ ลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่

 

 

ปัจจุบันพระสงฆ์ถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญของสังคมที่มีอิทธิพลทางความคิดของคนในชุมชน หากมีโครงการที่ช่วยสร้างสุขภาวะในชุมชนให้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ก็จะเป็นภาพสะท้อนของการเชื่อมต่อชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งเสริมซึ่งกันและกัน นำมาสู่ภาวะทางสุขภาพที่ดีขึ้นในชุมชนและในวัด โดยเฉพาะเรื่องของบุหรี่ ที่ถือเป็นหนึ่งในอบายมุขที่ทำลายสุขภาพ หากมีการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะเป็นอีกแรงที่ช่วยเสริมให้ไปสู่สังคมปลอดบุหรี่ได้ในอนาคต

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ,ผศ.ดร. คณะอนุกรรมการวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก และอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินโครงการเครือข่ายวัดปลอดบุหรี่ทั่วประเทศว่า หลังจากที่มีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาเถรสมาคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกับภาคีเครือข่ายของพระสงฆ์ ทำให้เกิดกลไกในการขับเคลื่อนงานวัดส่งเสริมสุขภาพหรือวัดปลอดบุหรี่ ซึ่งมีบทบาทในการหนุนเสริมให้ความรู้ สร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน

Advertisement

กลไกนี้มีความเข้มแข็งมาก มีทั้งในระดับเขต จังหวัด และอำเภอ โดยในแต่ละระดับจะมีภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี โดยในจังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้กลไกของพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อคอยดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ด้วยกันให้เป็นไปตามหลักการพระธรรมวินัย และพร้อมเป็นผู้นำด้านสุขภาวะให้กับประชาชนไปด้วย ทำให้งานด้านส่งเสริมสุขภาพของพระสงฆ์สามารถได้ขยับขับเคลื่อนได้มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเครือข่ายวัดปลอดบุหรี่ได้ดำเนินการพร้อมกันกับวัดส่งเสริมสุขภาพ ขณะนี้มีจำนวนกว่า 10,000 แห่ง มีจำนวนพระคิลานุปัฏฐากประมาณ 9,000 รูป ซึ่งในอนาคตก็จะมีจำนวนวัดและพระสงฆ์เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้มากขึ้นอีกด้วย

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ กล่าวด้วยว่า วัดเป็นสถานที่หนึ่งถือเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน พลังของธรรมะภายในวัดช่วยประโลมจิตใจของผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้ แต่หากมีการสูบบุหรี่ภายในวัด จะทำให้คุณค่าของสิ่งเหล่านี้ลดลงไป หลายคนก็ไม่อยากเข้ามาวัด ดังนั้น อยากจะให้ทุกคนช่วยกันรักษาพร้อมดูแลให้วัดซึ่งเป็นสถานที่อันเป็นมงคล มีคุณค่าและเป็นพลังช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้คน แม้ว่าในพื้นที่ภาคเหนือจะยังมีถวายบุหรี่เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับอยู่บ้างเพราะเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมา แต่ก็ถือว่ามีน้อยลง เพราะฆราวาสหลายคนเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า อาจจะเป็นการทำให้พระสงฆ์เสียสุขภาพจากการสูบบุหรี่ได้

“การสูบบุหรี่อาจจะนำไปสู่การผิดศีลได้ เพราะเริ่มตั้งแต่การผิดศีลข้อแรกที่มาจากการทำร้ายตนเองและผู้อื่น หากลด ละ เลิกได้ก็จะนำมาสู่การครองศีลที่ทำให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี ฉะนั้นการทำงานเรื่องบุหรี่ไม่ได้เป็นเรื่องของการเป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับ แต่ควรจะเป็นการเสริมพลังใจ ให้กำลังใจต่อกัน เพื่อนำมาสู่การเลิกบุหรี่ได้ด้วยตนเอง” พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ ฝากทิ้งท้าย

แม้วัดจะเป็นสถานที่ต้นแบบเพื่อสุขภาวะแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ “โรงเรียนปริยัติธรรม” ที่ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการศึกษาสำหรับพระสงฆ์และสามเณรในประเทศไทย ที่ต้องได้รับความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะเช่นกัน

พระมหาอินสอน คุณวุฒิโธ ครูใหญ่โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสตร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนปริยัตติธรรมที่นำร่องขับเคลื่อนโรงเรียนปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้โรงเรียนปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กในท้องถิ่นเข้ามาบวชเรียนกันมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากสภาพสังคมที่ผู้ปกครองบางคนไม่สามารถดูแลได้จึงฝากให้โรงเรียนช่วยเป็นผู้ดูแลประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ซึ่งก็มีหลายคนที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ แต่สิ่งที่มองเห็นคือ กลุ่มเหล่านี้สามารถสร้างเครือข่ายหรือกลุ่มเพื่อนได้อย่างรวดเร็ว จาก 1-2 รูป และเพิ่มขึ้น ซึ่งในอดีตจะใช้กระบวนการจัดการกับปัญหาบุหรี่ในโรงเรียนด้วยการสอบสวนและมีบทลงโทษ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้ จนทำให้มีผู้สูบบุหรี่มากขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อมาจึงได้ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เริ่มต้นจากการปรับทัศนคติของครู ให้ครูมองว่าการลงโทษไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เสมอไป และเปลี่ยนจากการลงโทษมาเป็นการสร้างความเข้าใจ รับรู้ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เช่น จากการเก็บข้อมูลก็พบว่าบางคนเริ่มติดบุหรี่มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เริ่มสูบมาตั้งแต่ระบบการศึกษาเดิม หากลงโทษด้วยการไล่ออกจากโรงเรียนก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร ดังนั้น จึงต้องหาสาเหตุว่า ทำไมนักเรียนถึงต้องมาเกี่ยวข้องกับอบายมุข บางคนมีปมในใจ หรือรู้สึกว่าเท่ ครูและผู้ดูแลสถานศึกษาต้องเข้าถึงจิตใจ เพื่อนำมาสู่การปรับพฤติกรรมทีละน้อยจนนำมาสู่การเลิกสูบได้ในที่สุด

การปรับกระบวนทัศน์เช่นนี้ ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โดยในปีแรกที่เริ่มปรับการดำเนินงานพบว่ามีสามเณรสูบบุหรี่และติดบุหรี่เป็นเวลาหลายปีประมาณ 10 รูป สถานศึกษาจึงได้เริ่มมีกิจกรรมให้สามเณรตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น ด้วยการนำวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ มาเล่าถึงพิษภัยของบุหรี่ สร้างความตระหนักให้อยากเลิก จากนั้นสร้างแรงพลังเชิงบวก ตั้งแต่การตั้งข้อตกลงในการลดจำนวนการสูบลง เหลือวันละประมาณ 3-5 มวน จนทำให้สามเณรบางรูปเลิกสูบบุหรี่ไปอย่างถาวร แม้ว่าอาจจะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เห็นได้คือ กลุ่มผู้สูบบุหรี่ไม่ได้ขยายตัวมากขึ้นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ผลออกมาน่าพอใจ พร้อมกับการให้ครูและสามเณรที่เป็นนักเรียนแกนนำได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งต่อความรู้และชักชวนให้เลิกบุหรี่กันมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ความท้าทายของโรงเรียนปริยัติธรรม คือ ปัจจุบันมีเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามา ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาที่หลากหลาย บางครั้งครูผู้ดูแลเองก็ดูไม่ออก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าแก่ครูผู้ดูแลด้วย เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลการลักลอบสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

พระมหาอินสอน คุณวุฒิโธ ครูใหญ่โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสตร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเดินหน้าสู่โรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. นี้ ได้มีการสร้างแกนนำนักเรียนสามเณรในโรงเรียนพระประยัติธรรม ประมาณ 3-4 แห่ง โดยมาอบรมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่สำหรับการเดินหน้าโครงการนี้ มองเห็นทิศทางการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น หากเริ่มการป้องกันลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรได้ ก็จะส่งผลไปการอยู่ในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ไม่เป็นพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ต่อไปในอนาคต

พร้อมระบุว่า จะเดินหน้าไปสู่โรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบเพื่อขยายผล แม้ว่าจะมีโครงการที่เห็นผลแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องต่อยอดและขยายผลโครงการออกไปเรื่อย ๆ ให้กลไกนี้เป็นส่วนหนึ่งในสถานศึกษา เพราะเมื่อเวลาผ่านไปก็จะต้องมีสามเณรหรือนักเรียนใหม่เข้ามา ดังนั้นจะต้องวางนโยบายให้เป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงระดับภารโรง ปลูกแนวคิดให้กับผู้บริหารมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน มีกิจกรรมที่สามารถเข้าถึงจิตใจของผู้สูบได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน และจำเป็นจะต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสถานศึกษาอื่นที่ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันด้วย เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละแห่ง ซึ่งในขณะนี้โครงการโรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันตนเองมีความคาดหวังว่า สถานศึกษาจะปลอดบุหรี่ได้ทั้งหมด 100% มีกระบวนการนำมาสู่การลด ละ เลิกด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมขยายผล เพื่อชักชวนให้โรงเรียนอื่น ๆ ปรับกระบวนทัศน์ในการดูแลนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ และมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่สถานศึกษาปลอดบุหรี่ เชื่อว่าคนที่เป็นแกนนำในการสูบบุหรี่ก็จะลดลง เมื่อจำนวนลดลงแล้ว สุดท้ายก็จะหายไปเอง

“สุดท้ายการจะนำไปสู่สถานศึกษาไม่ว่าจะรูปแบบใด ให้ไปสู่การปลอดบุหรี่ได้นั้น ผู้บริหารต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ไม่นำระเบียบเป็นเครื่องมือในการจัดการ พร้อมกับมีกิจกรรมต่างๆ ลดเวลาเรียนลง เพื่อสร้างแนวคิดเปิดมุมมองให้กับเด็กได้กล้าคิดและแสดงออก ตระหนักถึงปัญหาชีวิตของตนเอง นำมาสู่การปรึกษากับครูอาจารย์ แล้วสุดท้ายก็จะเข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด โดยทั้งสามส่วนถือว่ามีความสำคัญเริ่มตั้งแต่ผู้บริหาร ครู จนมาถึงนักเรียนเอง” พระมหาอินสอน คุณวุฒิโธ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image