สัมพันธ์ บิ๊กตู่ -บิ๊กป้อม อนาคต รบ.-พปชร. อนาคต ‘ธรรมนัส’

สัมพันธ์ บิ๊กตู่ -บิ๊กป้อม อนาคต รบ.-พปชร. อนาคต ‘ธรรมนัส’

เป็นอีกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันบทบาทของตัวเอง

ยอมรับว่ากำลังทำหน้าที่นักการเมือง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า เป็นเรื่องอนาคต

Advertisement

เรื่องอนาคตหมายถึงยังไม่มีอะไรแน่นอน

อาจจะลงเลือกตั้งก็ได้ หรือไม่ลงเลือกตั้งก็ได้

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ปฏิเสธว่า สมัยหน้าจะเป็นนายกฯอีกสมัยหรือเปล่า

Advertisement

มีเพียงกระแสข่าวยืนยันว่า เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และดูจากวาระการดำรงตำแหน่งของวุฒิสมาชิก มองดูจากอำนาจการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นนายกฯต่ออีกสมัย

ความเชื่อมั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หากแต่มีการวางหมากเอาไว้เป็นขั้นตอนอย่างรอบคอบ

กฎกติกาที่วางไว้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความเข้มแข็ง

เข้มแข็งไม่น้อยกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

แม้ว่า ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่จะโหวตสวน พล.อ.ประยุทธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังดำรงอยู่ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส หลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย

พ้นจากตำแหน่งไปพร้อมๆ กับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์

และกลายเป็นความบาดหมางระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ไป

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้เกิดสัญญาณทางการเมืองที่พุ่งเป้าไปยังความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พรรคพลังประชารัฐ

ในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดตรวจราชการ กลับปรากฏว่า มี ส.ส.พลังประชารัฐไปต้อนรับน้อย

เมื่อเปรียบเทียบกับ พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่หาเสียง กลับมีส.ส.พลังประชารัฐร่วมคณะไปจำนวนมาก

ก่อนเปิดสมัยประชุมรัฐสภา มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการล้างไพ่พรรคพลังประชารัฐ แต่สุดท้าย พล.อ.ประวิตร ไม่โอเค

ทุกอย่างจึงคาราคาซัง ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม

ก่อเกิดกระแสตั้งพรรคใหม่เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีความคืบหน้า

เพราะหนทางการเมืองที่ดีที่สุดของ 3 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ ความกลมเกลียวของ 3 ป.

ความแนบแน่นของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ

ปัญหาคาราคาซังดังกล่าวไม่รอท่าใคร เพราะอายุรัฐบาลเคลื่อนเข้าสู่วาระที่จะต้องหมดลงในปี 2566

ทุกพรรคเคลื่อนไหวหาเสียง

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่่ยนบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ ปรับตัวเลขสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็น 400 ส.ส.จากระบบเขต และอีก 100 ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อ

และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข พ.ร.ป. 2 ฉบับ ทั้ง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งหากการแก้ไขเสร็จสิ้น

ทุกอย่างจะขับเคลื่อนเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป

ดังนั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขประกาศใช้ บรรดาพรรคการเมืองต่างหลีกทางให้การแก้ไข ร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับผ่านรัฐสภาเร็วที่สุด

แม้แต่พรรคฝ่ายค้าน ยังเลื่อนการซักฟอกออกไป

เปิดทางให้การแก้ไข 2 กฎหมายลูกเสร็จสิ้นโดยเร็ว

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทุกพรรคการเมืองต่างโหมโรงการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเต็มที่

พรรคเพื่อไทยประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ประกาศหาเสียงโดยชูนโยบายไม่เอาเผด็จการ

มั่นใจได้รับความนิยมจากประชาชนถึงขั้นแลนด์สไลด์

หวังได้ ส.ส. 253 เก้าอี้

ไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ประชุมพรรคและตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวน ส.ส.ขึ้นมา

พรรคชาติไทยพัฒนา ลุยยึดเก้าอี้ ส.ส. 30 เก้าอี้ หรือแม้แต่ พรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส ก็ไปประกาศที่ภาคอีสานว่า จะกวาดเก้าอี้ ส.ส.อีสานในสมัยหน้า

รวมถึงพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และอื่นๆ ที่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน

หลายพรรคเปิดตัวผู้สมัครของพรรคตัวเอง

สําหรับพรรคพลังประชารัฐมีข้อน่าสังเกตในการลงพื้นที่

จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดหนึ่ง พล.อ. ประวิตร ไปลงพื้นที่อีกจังหวัดหนึ่ง โดยจังหวัดที่ พล.อ.ประวิตรลงพื้นที่ จะมี ร.อ.ธรรมนัส และ นางนฤมล ร่วมคณะด้วยทุกครั้ง

แต่การลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีล่าสุด กลับมีความแตกต่าง

เพราะเป็นจังหวัดที่ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่ด้วยกัน

น่าสังเกตว่า พล.อ.ประวิตรไปครั้งนี้ ไม่มี ร.อ.ธรรมนัส และ นางนฤมล

ข่าวในแวดวงการเมืองสะพัดว่า การตรวจราชการที่จังหวัดอุดรธานีอาจเป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร

เปลี่ยนจากขัดเคือง กลับกลายเป็นสมานมิตร

ทั้งนี้ เพราะหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ไม่ลงรอยกัน กิจการงานเมือง ทั้งการทำงานของรัฐบาล ทั้งการทำงานของสภา รวมถึงการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีอะไรดีขึ้น

หากเป็นเช่นนี้ เป้าหมายการสืบทอดอำนาจที่ตั้งไว้แต่เดิมย่อมมีปัญหา

แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. 250 เสียงโหวตเลือกนายกฯได้อีก แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้จำนวน ส.ส.มาน้อย

การบริหารประเทศ โดยนายกฯที่ได้มาจากเสียง ส.ว.ย่อมไม่สง่างาม

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐหากไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์ ในการหาเสียง แต่ใช้ พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส เป็นพระเอกแทน

พรรคพลังประชารัฐย่อมขาดกองเชียร์เดิมที่มีใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปไม่มากก็น้อย

รวมถึงความศรัทธาของ ส.ส. ที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐโดยเฉพาะกลุ่มสามมิตรที่ถือเป็นกำลังสำคัญของพรรคในขณะนี้ด้วย

เมื่อหนทางที่ดีที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ คือ ความสามัคคี

เมื่อปัญหาของความสามัคคีคือ ร.อ.ธรรมนัส ยังนั่งคุมอำนาจพลังประชารัฐอยู่ จึงมีข้อเสนอที่จะให้มีการปรับเปลี่ยน

ลดบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส ลง

ในห้วงเวลานี้ กระแสข่าวทางการเมืองสะพัดไปสะพัดมาอยู่หลายเรื่อง

แต่เรื่องหนึ่งที่ฟังแล้วต้องเอียงหูโน้มไปรับฟัง

นั่นคือกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร ตัดใจ

ยอมสละ ร.อ.ธรรมนัส เพื่อรักษาเรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image