ที่เห็นและเป็นไป : ผู้ว่าฯกทม.กับความไม่สงบ

ที่เห็นและเป็นไป : ผู้ว่าฯกทม.กับความไม่สงบ

ภาวะผู้นำควรแสดงออกด้วยความพร้อมรับผิดชอบ และนั่นหมายถึงการไม่เอาแค่โทษนั่นโทษนี่เพื่อรักษาระบบไว้

การบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่าระบบการปกครอง กทม.นั้น เป็นระบบพิเศษกว่าจังหวัดอื่น คือ
“ผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้ง”

ที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ทุกคนได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำงานตามวาระ คือ 4 ปีเลือกกันใหม่ครั้งหนึ่ง

Advertisement

การมีทีมผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งทำให้ประชาชนได้รับการเอาใจใส่ ทำงานไม่ถูกใจประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่

และที่สำคัญคือความสนใจรับฟังปัญหาประชาชน

ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้มีปัญหาอะไร พร้อมอยู่พร้อมไปตามระบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษ

แต่หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในฐานะ “ผู้บัญชาการทหารบก” นำคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ได้จัดการให้ “ผู้ว่าราชการ กทม.” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพ้นตำแหน่งไป ทั้งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับความสงบเรียบร้อยที่คณะนายทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารยึดอำนาจ

สั่งปลดเสร็จก็ใช้อำนาจแต่งตั้งผู้บริหาร กทม.ขื้นมา ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนว่าเพื่ออะไร

เป็นแค่ทำไปเหมือนกับการปลดบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แล้วแต่งตั้งนายทหารและคนในเครือข่ายเข้าไปดูแลผลประโยชน์ ทั้งที่การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจไม่เกี่ยวกับความสงบหรือไม่สงบของประเทศอะไรที่เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารเลย

พอถึงช่วงนี้หลังจากเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล อบต.ไปแล้ว มีคำถามถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครที่ว่างเว้นมาเนิ่นนาน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” บอก “ต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม” และอธิบายว่า “ความเหมาะสม คือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความขัดแย้งต่างๆ ต้องลดลง”

พร้อมกับยืนยันว่า “เป็นห่วงในเรื่องความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของบ้านเมืองต้องมาก่อน”

ได้ยินคำตอบแล้วได้แต่เกิดคำถามว่า “อะไรกัน”

หนึ่ง การเลือกตั้งผู้บริหาร กทม. ไม่มีตรงไหนที่จะทำให้เกิดความไม่สงบ ความไม่เรียบร้อย

สอง บ้านเมืองที่จะสงบเรียบร้อยได้ ผู้บริหารประเทศมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการ หาทางให้เกิดขึ้น ในประเด็นมีคำถามว่าในช่วงเวลา 7 ปีที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำประเทศมา มีเรื่องไหนบ้างที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามเคลียร์สาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

เป็นการนำพาประเทศที่เคยฟังเสียงของทุกฝ่ายอย่างจริงจังและจริงใจหรือไม่

มีการเสนอความคิดมาตลอดว่า “ความยุติธรรม” ที่ไม่ใช่แค่กฎหมายที่เขียนขึ้นเองและชะตากรรมของผู้คนที่มีข้อกังขาต่อผลของคดี เป็นเรื่องที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น

ที่การหยิบยกปรัชญาทำนองว่า “สังคมที่ไม่มีความยุติธรรมไม่มีวันสงบ” มาให้ทบทวนถึงวิธีคิดในการบริหารจัดการตามข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

เสียงเหล่านี้ได้รับความใส่ใจจากผู้นำประเทศหรือไม่

ผู้นำที่ควรจะแสดงให้เห็นความพร้อมรับผิดชอบต่อปัญหาของประเทศ ทั้งที่ครองอำนาจมา 7 ปีแล้ว แต่วันนี้เมื่อถูกถามว่า “ช่วงไหนเหมาะสมที่สุดที่จะจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.” คำตอบของผู้นำยังเป็น “ต้องไปถามคนที่เกี่ยวข้อง ว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ พร้อมจะเลือกตั้งเมื่อไรก็ว่ามา”

อย่างที่บอก “การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไม่เกี่ยวกับความสงบ” และถึงแม้จะพยายามให้เกี่ยว แต่คนที่จะต้องรับผิดชอบในการสร้างความสงบให้ประเทศชาติเป็นคนแรกคือ “นายกรัฐมนตรี”

นายกรัฐมนตรีไม่รู้ ไม่รับภาระที่จะสร้างความสงบขึ้นมาให้ประเทศ ใครจะรู้ ใครจะสร้าง

ผู้อาศัยความไม่สงบเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้องนั้นมีเยอะ

ภาวะผู้นำคือจะต้องจัดการกับผู้ที่แสวงประโยชน์แบบนี้ และถือธงนำสร้างความสงบขึ้นมา

หาใช่เอาความไม่สงบมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำให้ระบบการเมืองการปกครองกลับคืนสู่ความปกติ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image