ชิงปิดประชุม! ขอลงมติเลิกคำสั่งคสช.ครั้งหน้า ‘สุชาติ’ รีบออกตัว อย่าเรียก ‘ชิงปิดประชุม’

ชิงปิดประชุม ขอให้ลงมติยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ครั้งหน้า ด้าน “สุชาติ” ขออย่าพูดว่ารีบชิงปิดประชุมหนีประชุมล่ม

เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 8 ธันวาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. ที่เสนอโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,609 คน เป็นผู้เสนอ และ ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ในฐานะผู้เสนอร่างอภิปรายว่า เป็นเวลากว่า 5 ปี ตั้งแต่ คสช.ทำรัฐประหาร เราอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่มีประกาศและคำสั่งของ คสช. เป็นใหญ่ และมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง รวมแล้วว่า 500 ฉบับ ที่ออกโดยอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหารที่สั่งการโดยคนๆเดียว ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล และเมื่อประกาศออกมาแล้วก็ให้มีผลบังคับใช้ทันที ขณะที่เรามี พ.ร.บ.ที่ใช้บังคับกันอยูาในประเทศประมาณ 800 กว่าฉบับ เรากลับมีปประกาศ และคำสั่งของคสช. บังคับใช้ควบคู่กันอีกกว่า 500 ฉบับ นี่จึงเป็นระบบกฎหมายที่ไม่เป็นปกติอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เรายังอยู่ภายใต้คำสั่งที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามจัดเสวนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ฯลฯ และมีคนถูกจับกุมในข้อหานี้ไปอย่างน้อย 421 คน และเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ คสช. มีอำนาจเรียกใครก็ได้ไปรายงานตัวในค่ายทหาร หากไม่ไปตามคำสั่งก็จะมีความผิด แต่หากไปแล้วก็จะต้องมีการเซ็นต์เอ็มโอยู หากกลับมาแล้วไม่ทำตามคำสั่งคสช. ก็จะต้องถูกดำเนินคดีที่ฝ่าฝืนเอ็มโอยู และมีคนถูกดำเนินคดีนี้ไปอย่างน้อย 15 คน นอกจากนี้ เป็นเวลากว่า 5 ปีที่สื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพในการเลือกนำเสนอเนื้อหาด้วยตัวเอง แต่อยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่จำกัดเนื้อหา และห้ามวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ทั้งยังมีคำสั่งที่ให้อำนาจ กสทช. ลงโทษสื่อที่นำเสนอเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายมีความผิด และยังให้อำนาจ คสช. สั่งให้สื่อทุกช่องถ่าทอดเนื้อหาตามที่ คสช. สั่ง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

นายยิ่งชีพ กล่าวอีกว่า เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่ให้อำนาจทหารในการจับกุมประชาชน เกษตรกรรายย่อย และรื้อถอนผลผลิตทางการเกษตร โดยอ้างว่าจะทวงคืนผืนป่า อาจกล่าวได้ว่า ระยะเวลามากกว่า 5 ปีที่เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุม เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพที่คนจะทำกิจกรรม่ทางการเมืองได้ในยุค คสช. ไม่มีอยู่เลย จะมีบ้างก็เพียงเท่าที่ คสช. อนุญาตให้มีเท่านั้น และยังมีประกาศคำสั่งอีกหลายฉบับที่กระทบต่อประเทศ และประชาชนในประเด็นอื่นๆ

Advertisement

จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า สนับสนุนการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.และหัวหน้าคสช.ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน มีประกาศและคำสั่งคสช.ที่จะถูกยกเลิก 17 ฉบับอาทิ การห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5คน การเรียกบุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคสช. การควบคุมสื่อออนไลน์ การสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 17 ฉบับยังมีผลบังคับใช้อยู่ สิ่งแรกที่สภาฯควรทำคือ ขจัดมรดกรัฐประหาร ผลจากการรัฐประหารนำไปสู่การจับกุมแค่นัดกันมากินแซนด์วิช การจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และส่งผลให้คนบางส่วนต้องลี้ภัย แม้กระทั่งตนมีคดีติดตัวจากคสช.หลายคดี ไม่รู้จะถูกเล่นงานออกจากตำแหน่งเมื่อใด ทราบว่า จะตีตกร่างกฎหมายฉบับนี้ จะใจดำไม่ผ่านกันจริงๆใช่ไหม หวังว่า ส.ส.ทุกคนช่วยกันยกเลิกคำสั่งประกาศเหล่านี้ออกจากทางตัน ไม่กลับไปสู่วัฏจักรการรัฐประหารเหมือนที่ผ่านมา

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. อภิปรายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องยกเลิกมรดกบาบของคสช. และยกเลิกคำสั่งคสช. โดยเฉพาะคำสั่งคสช.ที่ 26/2557 เนื้อหาเลวร้ายมากและขัดกับหลักนิติธรรมอย่างมาก ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวข้องกลับการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของประชาชน ให้อำนาจปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งคณะทำงานเป็นเกสตาโป ตรวจสอบข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ทำตัวเป็นศาล หากพบว่าข้อมูลใดเป็นเชิงปลุกระดม ใช้วิจารณญาณของตัวเองได้เลย ไม่ต้องขอหมายศาลใดๆ อะไรที่ยั่งยุและอะไรที่เป็นการต่อต้าน คสช. สามารถสั่งระงับการเผยแพร่ได้เลย นี่คือความน่ากลัวของคำสั่งนี้ คณะทำงานชุดนี้เป็นศาลหรือถึงกล้ามาแทรกแซงอำนาจตุลาการ มีอำนาจมาพิพากษาว่าอะไรยั่งยุ อะไรปลุกระดม อะไรเป็นพิษภัย อะไรบิดเบือนอะไรจริง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า นี่คือสิ่งที่ขัดกับหลักนิติรัฐทั้งหมด ตนจึงไม่แปลกใจว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงไม่เชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ไปร่วมประชุมด้วย และตนยืนยันว่าถ้าสภาแห่งนี้ ที่มาจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่ยอมที่จะยกเลิกคำสั่ง คสช. จะเรียกว่าตัวเองเป็นผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร และนี่จะเป็นเหตุผลที่เวทีสากลของโลกไม่เชิญประเทศไทยเข้าไปวงเวทีสากลขอประเทศในระบอบประชาธิปไตยอีก และจะเป็นความอับอายของประเทศไทยไม่จบ ไม่สิ้น ถ้าสภาฯแห่งนี้ยังมี ส.ส.แบบนี้อยู่ และคำสั่ง คสช.นี้เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายเศรษฐกิจดิจิตัลอย่างชัดเจน ทั้งที่เศรษฐกิจดิจิตัลต้องการความคิดสร้างสรรค์ ต้องการให้สังคมกล้าที่จะพูด กล้าวิจารณ์ปัญหาในสังคมต่างๆ เพื่อจะได้มีความคิดสร้างสรรค์ร่วมกันในการคิดหาทางออกและเกิดนวัตกรรมที่เป็นธุรกิจและประกอบการใหม่ๆ จึงอยากถามว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดได้อย่างไรถ้าสังคมนี้ไม่มีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้ามีคำสั่งแบบนี้เกิดขึ้น ประเทศไปไหนไม่ได้ ไม่สามารถทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้าวสรรค์ เศรษฐกิจดิจิตัลให้กับประเทศนี้ได้เลยและยิ่งจะทำให้ประเทศล้าหลังไปเรื่อยๆในสังคมโลก

Advertisement

“คำสั่งคสช.แบบนี้สุดท้ายแปรรูปเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีแต่สร้างความกลัว มีแต่ความระแวง และเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ที่สำคัญที่สุดพอประชาชนอยู่ภายใต้ความหวาดระแวงไม่กล้าที่จะพูด ไม่กล้าวิจารณ์ และ จะเกิดปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ในวันนี้แม้แต่นายกฯถึงกลับต้องบอกกับประชาชนให้กล้าหาญที่จะยื่นในโรงภาพยนต์ ผมเชื่อว่าถ้าประชาชนรู้ว่านี่คือคำสั่งหรือความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ เขายิ่งไม่ยืนเพราะเขาต้องการต่อต้าน ไม่ให้ความร่ววมมือกับคนอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นเผด็จการ”นายวิโรจน์ กล่าว

ขณะที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ประเทศเรามีการรัฐประหารอย่างรุนแรงมา 13 ครั้ง ช่วงที่ตนมีชีวิตอยู่นี้เจอมา 6 ครั้ง ประเทศเจอวิบากกรรมที่ทำให้เราถดถอน เพราะหากไม่มีการรัฐประหารเราคงพัฒนาไปไกลแล้ว ในเดือนสิงหาคมปี 65 หัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะมีวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตนอยากดูว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศจะยังคงมีอยู่หรือไม่ หรือจะไปกันแบบข้างๆคูๆ วันนี้คำสั่งของคณะรัฐประหารยังคงอยู่ทุกฉบับ มาตรา 44 ใครก็รู้จักเพราะสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศ เช่น กรณีเหมืองทองอัครา ประกาศ และคำสั่งที่แทรกซึมไปในเนื้อกฎหมายของประเทศไทย วันนี้เพื่อนส.ส.ทั้งหลาย และเพื่อนนักการเมือง วันที่เราโดนรัฐประหาร เราหนีหัวซุกหัวซุน เราโดนคุมตัว เราโดนทำร้าย เราถูกกดขี่ เราภาวนาขอให้พรรคเราได้เข้ามาเป็นส.ส. ขอให้เราชนะการเลือกตั้ง เพื่อที่เราจะได้ไม่ร่วมรัฐบาลกับเผด็จการเด็ดขาด วันนี้อย่างที่เราเห็น เพื่อให้ประเทศเดินไป ท่านไปร่วมรัฐบาล ตนไม่ว่า แต่อยากให้ท่านได้สำนึกว่า คำสั่งของ คสช. ทุกฉบับนั้น เป็นตราบาปให้กับลูกหลานเรา อยากให้พี่น้องส.ส. จากพรรคการเมืองทุกพรรคได้ช่วยกันล้างมนทินเหล่านี้ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ศิวิไลย์ เพื่อที่ทั่วโลกจะได้ยอมรับได้ วันนี้อยากให้นักการเมืองในสภาทั้ง 500 ท่าน สำนึกว่าเผด็จการทำลายล้างประเทศ และทำให้ประเทศถดถอย ฝากให้ท่านช่วยกันเอาประกาศ และคำสั่งเหล่านี้ออกไปจากประเทศไทย

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ หลังจากส.ส.อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางนานร่วม 4 ชั่วโมงแล้ว เวลา 20.10 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ขอหารือว่าจะลงมติในวันเดียวกันนี้หรือเลื่อนไปครั้งหน้า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอขอลงมติในการประชุมครั้งถัดไป แต่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บะญชีรายชื่อ พรรคก.ก. ขอให้ลงมติทันที ขณะที่นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคพท. หารือว่า ดูเหมือน ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายสุชาติกล่าวทีเล่นทีจริงว่า “ขออย่าพูดว่า รีบชิงปิดประชุมหนีประชุมล่ม” ก่อนจะสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 20.10 น. โดยให้ไปลงมติในสัปดาห์หน้า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image