ไทยเฮ เป็น 1ใน40 ประเทศได้รับเลือกร่วมสมาชิกมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ

กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ทำงานเชิงรุกเพิ่มบทบาทไทยในเวทีโลก ไทยเป็น 1 ใน 40 ประเทศที่ได้รับเลือกตั้งเข้าร่วมสมาชิกมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการใช้-รักษาผลประโยชน์ทางทะเล ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานด้านการพาณิชยนาวีเป็นที่ยอมรับนานาอารยประเทศ

นายอานนท์ เหลืองสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชา สมัยสามัญ ครั้งที่ 32 ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization – IMO) ได้เลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรี IMO วาระปี ค.ศ. 2022 – 2023 ที่สำนักงานใหญ่ IMO ที่ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO กลุ่ม C (ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษในด้านการขนส่งทางทะเลหรือการเดินเรือ และเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จำนวน 20 ประเทศ) ด้วยคะแนนเสียง 107 เสียง (เป็นอันดับที่ 19 ร่วมกับประเทศเดนมาร์ก) โดยมีประเทศสมาชิกที่ออกเสียง 160 ประเทศ จากจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมด 175 ประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO ต่อเนื่องอีกสมัย นับเป็นสมัยที่ 9 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548

การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรี IMO ได้แสดงถึงความไว้วางใจและการยอมรับของประเทศสมาชิก IMO ที่มีต่อบทบาทของไทยในด้านกิจการทางทะเล ทั้งในด้านความปลอดภัยการเดินเรือ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าทางทะเล รวมถึงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการลดมลพิษจากกิจการทางทะเล

IMO เป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติทำหน้าที่ให้ประเทศสมาชิกมาประชุมร่วมกันเพื่อออกมาตรฐานและกฎระเบียบด้านการเดินเรือสากลที่บังคับใช้ทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายให้การเดินเรือขนส่งสินค้าและคนโดยสารมีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Advertisement

การดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO อย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความมุ่งมั่นของกระทรวงคมนาคม และกรมเจ้าท่า ที่จะพัฒนาความร่วมมือกับ IMO และประเทศสมาชิก รวมถึงให้ประเทศไทยสามารถแสวงหาโอกาสและสร้างความร่วมมือด้านกิจการทางทะเลในเวทีโลกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2562 รัฐบาลไทยได้ส่งผู้ช่วยทูตฝ่ายกิจการทางทะเล จากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ไปประจำการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ในการทำหน้าที่ส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยใน IMO ให้มีความชัดเจนเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศสมาชิก และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีอีกวาระหนึ่ง

ประเทศไทยได้แสดงบทบาทและการมีส่วนร่วมใน IMO อย่างต่อเนื่อง โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมระดับคณะกรรมการและอนุกรรมการด้านต่างๆ ของ IMO เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินงานและการกำหนดมาตรฐานด้านการเดินเรือและโดยเฉพาะรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามทิศทางที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ในการประชุม COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานความรู้ความสามารถของผู้ทำการในเรือ รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคลากรในด้านกิจการทางทะเล ทั้งภาครัฐและเอกชน ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะประเทศไทยจะได้เตรียมพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการใช้และรักษาผลประโยชน์ทางทะเล และส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานด้านการพาณิชยนาวีให้เป็นที่ยอมรับและทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีรากฐานทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image