ว่าด้วย‘ฐานข้อมูลการจัดการขยะ’

ว่าด้วย‘ฐานข้อมูลการจัดการขยะ’

คงคุ้นเคยกันดีกับตัวเลขอัตราการผลิตขยะของคนไทยซึ่งมีที่มาจากข้อมูลปริมาณขยะที่รวบรวมได้ทั่วประเทศในแต่ละวันหารด้วยจำนวนประชากรในช่วงเวลานั้นๆ จะได้ค่าเฉลี่ยประมาณ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เมื่อนำเอาอัตรานี้ไปคูณกับจำนวนประชากรในท้องถิ่น เราก็จะเห็นตัวเลขปริมาณขยะ ยกเว้นบางท้องถิ่นที่มีเครื่องชั่งก็จะมีข้อมูลปริมาณขยะที่ถูกต้องแม่นยำโดยไม่ต้องคำนวณ ข้อมูลปริมาณขยะเป็นพื้นฐานในการจัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การกำหนดจำนวนถังขยะ ตำแหน่งการวางถัง จำนวนรถเก็บขนขยะ ไปจนถึงระบบกำจัดขยะ คำถามก็คือค่าเฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวันที่ใช้กันมาหลายสิบปียังเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้อยู่อีกหรือไม่

ปี 2543 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมหรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน รายงานสถานการณ์มลพิษในรอบ 10 ปี (2533-2542) ว่า “นับจากปี 2533 ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ต่อปี โดยมีอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองปริมลฑลประมาณ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวันและอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยในเขตเมืองของภูมิภาคต่างๆ ประมาณ 0.7 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน” ในเวลาต่อมา ประเทศเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2535-2539)
เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายในการจัดการด้านการจัดการขยะของประเทศ “ให้ลดอัตราการผลิตขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ และเมืองหลักต่างๆ ให้น้อยกว่า 0.8 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน” และแล้วแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550-2554) ก็ปรับเป้าหมายโดยกำหนดให้ควบคุมอัตราการผลิตขยะในเขตเมืองไม่ให้เกิน 1 กิโลกรัม/คน/วัน

ปี 2555 กรมควบคุมมลพิษแสดงอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยต่อประชากรตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผลจาก “โครงการทบทวนอัตราการเกิดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ” อัตราการผลิตขยะเฉลี่ยในเขตเทศบาลนคร 1.89 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในเขตเทศบาลเมือง 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในเขตเทศบาลตำบล 1.02 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน อัตราการผลิตขยะในเขตเมืองพัทยา 3.90 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 0.91 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน โดยมีอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยทั้งประเทศเท่ากับ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน จากนั้นอัตราการผลิตขยะเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการประมาณปริมาณขยะของแต่ละท้องถิ่นที่ไม่มีเครื่องชั่ง หรือไม่ได้นำขยะที่จัดเก็บในพื้นที่ของตนเองไปกำจัดร่วมกับท้องถิ่นอื่นที่มีระบบกำจัดและมีเครื่องชั่งน้ำหนัก

Advertisement

จากการเปลี่ยนแปลงอัตราการผลิตขยะต่อประชากรเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีการบริโภคของสังคม และการเพิ่มขึ้นของบรรจุภัณฑ์ ทำให้การกำหนดเป้าหมายในการจัดการขยะของประเทศด้วยการควบคุมอัตราการผลิตขยะต่อประชากรไม่เป็นผล ดังนั้น ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 เป้าหมายการจัดการขยะจึงเปลี่ยนจากการควบคุมอัตราการผลิตขยะต่อประชากรไปให้ความสำคัญกับอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่หรือ Recycling Rate และประสิทธิภาพในการจัดการขยะของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอัตราการผลิตขยะ หรืออัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ต้องอาศัยข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นจำนวน 7,850 แห่ง แต่จากจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด มีท้องถิ่นที่สามารถรายงานปริมาณขยะจากการชั่งน้ำหนักจริงไม่เกินร้อยละ 10 นอกนั้นเป็นการรายงานตามแบบฟอร์มไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วยการประมาณการจากความจุของรถเก็บขนหรือไม่ก็เป็นการคำนวณด้วยอัตราการผลิตขยะต่อประชากรที่กรมควบคุมมลพิษให้ไว้ตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเหตุนี้จึงอาจเกิดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลปริมาณขยะโดยเฉพาะท้องถิ่นที่ไม่มีการชั่งน้ำหนักจริง และมักพบว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้น หรือที่จัดเก็บรวบรวมได้จริงน้อยกว่าปริมาณขยะที่รายงานไป ความคลาดเคลื่อนนี้ส่งผลให้ปริมาณขยะรวมของกลุ่มองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อการจัดการขยะ หรือ Cluster ในแต่ละจังหวัด ผิดไปจากความเป็นจริงจนเป็นปัญหาต่อการพัฒนาระบบกำจัดขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างระบบกำจัดขยะเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ความเป็นไปได้ของโครงการขึ้นกับปริมาณขยะที่จะเข้าสู่โครงการ

การสำรวจปริมาณและการจัดการขยะของแต่ละท้องถิ่นจึงเป็นงานพื้นฐานที่คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของแต่ละจังหวัดควรจัดให้มีอย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบันเพื่อใช้ในการพิจารณาจัดกลุ่มองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อการจัดการขยะ หรือ Cluster อย่างเหมาะสม กลุ่มใดมีปริมาณขยะเพียงพอและเหมาะสมจึงให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ก่อสร้างและบริหารดำเนินการ

กรมควบคุมมลพิษรายงานอัตราการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในปี 2563 ประมาณร้อยละ 43 ดูเหมือนว่าเป็นอัตราการนำกลับมาใช้ประโยชน์ที่ค่อนข้างสูง การนำกลับมาใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้รวมทั้งการนำวัสดุกลับไปแปรรูปหรือ Recycle และการนำขยะอินทรีย์ไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในรูปแบบต่างๆ ข้อมูลวัสดุที่ถูกรวบรวมเพื่อนำกลับไปแปรรูปส่วนใหญ่จะเป็นกระดาษ ขวดแก้ว พลาสติก และโลหะประเภทต่างๆ ผ่านการรับซื้อ หรือรวบรวมโดยร้านรับซื้อของเก่าที่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ และพบว่ามีวัสดุประเภทพลาสติกและโลหะจำนวนไม่น้อยจากโรงงานอุตสาหกรรมปะปนเข้ามา ทำให้อัตราการนำกลับมาใช้ประโยชน์ของขยะที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นสูงเกิดจริง ทั้งนี้ เนื่องจากขยะ หรือวัสดุเหลือใช้ที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เรียกว่า “กากของเสียอุตสาหกรรม” ทั้งประเภทอันตรายและไม่เป็นอันตรายมีระบบการจัดการและการรายงานแยกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกำหนดให้การเคลื่อนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมทั้งหมดต้องมีการขออนุญาตและแจ้งการขนส่ง กากของเสียอุตสาหกรรมจึงไม่ควรเข้ามาปะปนในระบบการจัดการขยะของท้องถิ่น

Advertisement

กรณีที่บางท้องถิ่นพัฒนาศักยภาพในการจัดการขยะจนสามารถรองรับขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายได้ ท้องถิ่นก็ยังคงต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และต้องจัดระบบรายงานการรับกากของเสียอุตสาหกรรมแยกออกจากข้อมูลขยะของท้องถิ่น เพื่อให้การรายงานผลการจัดการขยะประเภทต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง

ขณะเดียวกัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องเข้มงวดกับการขออนุญาตเคลื่อนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นประเภทอันตรายหรือไม่เป็นอันตราย เพื่อป้องกันไม่ให้กากของเสียอุตสาหกรรมเล็ดลอดปะปนไปกับขยะของท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาสับสนในการรายงานและเกินขีดความสามารถของระบบการจัดการของท้องถิ่นจนเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชน และนำไปสู่การไม่ยอมรับ ต่อต้านคัดค้านการพัฒนาโครงการการจัดการขยะและกากของเสียของประเทศทั้งระบบ

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image